25 มิ.ย. 2020 เวลา 03:49 • การศึกษา
端午节快乐!
Duānwǔ jié kuàilè!
(ตวน อู่ เจี๋ย ไคว่ เล่อ)
สุขสันต์เทศกาลบ๊ะจ่าง!
วนมาถึงกันอีกครั้งแล้วกับเทศกาล 端午节 (Duānwǔ jié) เทศกาลบ๊ะจ่าง หรือ Dragon Boat Festival นั่นเอง ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของชาวจีนที่ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ
เทศกาลนี้ยังเป็น 1 ใน 4 เทศกาลสำคัญของชาวจีน (ชาวฮั่น)อีกด้วย
เทศกาลทั้ง 4 ได้แก่
春节 chūnjié - ชุนเจี๋ย = เทศกาลตรุษจีน
清明节 qīngmíng jié - ชิง หมิง เจี๋ย = เทศกาลเช็งเม้ง
端午节 duānwǔ jié - ตวน อู่ เจี๋ย = เทศกาลบ๊ะจ่าง
中秋节 zhōngqiū jié - จง ชิว เจี๋ย = เทศกาลไหว้พระจันทร์
ที่มาของเทศกาลนี้มีอยู่หลายตำนานด้วยกัน
ตำนานที่ 1 - ชวีหยวน
มีที่มาจากเรื่องเล่าขุนนางสมัยชุนชิวผู้มีนามว่าชวีหยวน (屈原 Qūyuán) ซึ่งเป็นยุคที่ห่างจากปัจจุบันกว่า 2000 ปี เขาเป็นขุนนางผู้ภักดีและซื่อตรงแห่งรัฐฉู่ ในยุคกษัตริย์ฉู่หวายอ๋อง ขุนนางท่านนี้เป็นผู้รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินเป็นที่ตั้ง ช่วยกษัตริย์ต่อต้านแคว้นฉิน และทำงานอย่างซื่อตรงตลอดมาจนกระทั่งถูกใส่ร้ายป้ายสีจากคนที่ไม่พึงพอใจเขา ต่อมามีเหตุให้ออกจากราชการ เขาเสียใจมากจึงได้เขียนบทกวีต่าง ๆ ออกมาด้วยความเศร้าโศก และหนึ่งในบทกวีที่เป็นที่รู้จักคือ 《离骚》(lí sāo - หลี เซา) นั่นเอง ซึ่งหลังจากได้เขียนบทกวีเหล่านั้นแล้ว เขาก็ตรอมใจจนกระโดดแม่น้ำมี่หลัวจนถึงแก่ความตาย
ตำนานที่ 2 - อู๋จื่อซี
เป็นตำนานยุคชุนชิวอีกเช่นกัน มีชายคนหนึ่งนามว่าอู๋จื่อซี ซึ่งเป็นคนรัฐฉู่ บิดาและพี่น้องของเขาถูกษัตริย์รัฐฉู่ฆ่าทิ้ง เขาจึงโกรธแค้นมากและแปรพักตร์ไปช่วยกษัตริย์แคว้นอู๋ซึ่งเป็นคู่แค้นกันกับแคว้นฉู่ ว่ากันว่าด้วยความโกรธแค้นรุนแรง ทำให้ผมของเขากลายเป็นสีขาวทั้งศีรษะเพียงชั่วข้ามคืน หลังจากนั้นอู๋จื่อซีก็ได้ทุ่มเททำงานเพื่อแคว้นอู๋จนแข็งแกร่งและสามารถแก้แค้นกษัตริย์แคว้นฉู่ได้สำเร็จ แต่หลังจากอู๋อ๋องเหอหลูที่อู๋จื่อซีรับใช้อยู่นั้นได้สิ้นพระชนม์ลง อู๋อ๋องฟูไชได้ครองราชย์ต่อแต่กลับมีความเห็นต่าง ๆ ไม่ลงรอยกันกับอู๋จื่อซี จนในที่สุดก็ประทานกระบี่ให้กับอู๋จื่อซีเพื่อปลิดชีวิตตนเอง ก่อนตายเขาได้กล่าวคำสาปแช่งให้แคว้นอู๋ต้องถูกแคว้นเยว่ทำลายในอนาคต อู๋อ๋องฟูไชโกรธมาก หลังจากอู๋จื่อซีสิ้นชีพจึงสั่งให้นำหนังสัตว์ห่อศพเขาแล้วทิ้งลงในแม่น้ำ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 พอดี เมื่อถึงวันนี้ของทุกปี ก็จะมีการรำลึกถึงอู๋จื่อซีด้วย
ตำนานที่ 3 - หญิงสาวผู้กตัญญู เฉาเอ๋อ
มีตำนานกล่าวไว้ว่าในสมัยฮั่นตะวันออก ได้มีสาวอายุ 14 ปีคนหนึ่ง บิดาของเธอตกลงไปในแม่น้ำ แม้แต่ศพก็หาไม่พบ เมื่อผ่านไปหลายวัน หญิงสาวก็ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ริมแม่น้ำเป็นเวลาหลายวัน กระทั่งวันที่ 17 ที่บิดาสูญหายไป ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 พอดี เธอก็ได้กระโดดน้ำตายตามบิดา ในวันดังกล่าวจึงมีการรำลึกถึงความกตัญญูของเธอด้วย นอกจากนี้ชื่อของเธอยังถูกนำมาตั้งเป็นชื่อสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อวัด ชื่อหมู่บ้าน หรือแม้แต่ชื่อแม่น้ำ
ในเทศกาลนี้ชาวจีนจะทำอะไรบ้าง
吃粽子、龙舟竞渡、喝雄黄酒
chī zòngzi - lóngzhōu jìngdù - hē xiónghuángjiǔ
กินบ๊ะจ่าง - แข่งเรือมังกร - ดื่มเหล้าสงหวง
- กินบ๊ะจ่าง -
吃粽子 chī zòngzi ชือ จ้ง จึ
เมื่อชาวบ้านทราบข่าวว่าชวีหยวนกระโดดลงแม่น้ำปลิดชีพตนเอง จึงพากันออกเรือนำอาหารอย่างก้อนข้าว ไข่เค็มและอื่น ๆ หวังเป็นอาหารสัตว์น้ำให้ได้กินกันจนอิ่ม จะได้ไม่ต้องไปกัดกินร่างของชวีหยวน ต่อมาการโยนอาหารต่าง ๆ ลงในแม่น้ำก็เป็นไปเพื่อรำลึกและเซ่นไหว้ชวีหยวน จนมีการพัฒนาใส่ไส้ต่าง ๆ ลงในก้อนข้าวแล้วมัดด้วยใบไม้ บ้างก็ว่าใบไผ่ ใบจาก บ้างก็ว่าใบเลี่ยน
- ดื่มเหล้าสงหวง -
喝雄黄酒 hē xiónghuángjiǔ เฮอ สยง หวง จิ่ว
นอกจากนี้ยังมีหมอคนหนึ่งเชื่อว่าหากนำเหล้าสงหวงจิ่ว (雄黄酒 - xiónghuángjiǔ) เทลงในแม่น้ำ จะช่วยให้มังกรและสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในน้ำพากันเมามาย และไม่กัดแทะร่างของชวีหยวน ประเพณีนี้ก็ยังคงสืบทอดกันต่อมา โดยเหล้าสงหวงนี้ว่ากันว่าตามหลักแพทย์แผนจีนมีสรรพคุณเป็นยาถอนพิษได้ด้วย
- แข่งเรือมังกร -
龙舟竞渡 lóngzhōu jìngdù หลง โจว จิ้ง ตู้
การแข่งเรือมังกรมีที่มาหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการที่หลายปีให้หลัง ชวีหยวนมาเข้าฝันชาวบ้านเพื่อขอบคุณ แต่ก็กล่าวด้วยว่าตนเองไม่ได้รับอาหารเซ่นไหว้ (บ๊ะจ่าง)ที่โยนลงไปให้ เพราะสัตว์น้ำแย่งกินหมด ชาวบ้านจึงนำใบไม้มาห่อข้าวปั้นเพื่อป้องกันสัตว์น้ำมากัดกิน และยังพากันต่อเรือมังกรลอยในแม่น้ำ เพื่อให้สัตว์น้ำพากันคิดว่าอาหารเหล่านั้นเป็นอาหารเซ่นไหว้ของมังกร จึงไม่กล้ากิน หรืออีกแบบก็คือในวันที่ทราบข่าวว่าชวีหยวนเสียชีวิต ชาวบ้านก็พากันแข่งล่องเรือเพื่อตามหาศพของชวีหยวนนั่นเอง
โฆษณา