Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Yosavadee
•
ติดตาม
26 มิ.ย. 2020 เวลา 02:43 • ไลฟ์สไตล์
เรื่องเล่าของสะสม
กล่องไม้ฝังมุกจากเวียดนาม
กล่องไม้ชิ้นนี้ญาติสาวของฉันซื้อฝากจากเวียดนาม. คุณค่าทางใจคือเตือนว่าเราสองคนเติบโตมาด้วยกัน. เมื่อเธอไปเที่ยวมีความสุข เธอระลึกถึงฉัน. เราผูกพันกันทางสายเลือดและมีความทรงจำดีๆในวัยเด็กร่วมกันมากมาย
ฉันไม่เคยมีและถึงวันนี้ก็ยังไม่มีกล่องไม้ฝังเปลือกหอยมุกอื่นใดนอกจากชิ้นนี้ทั้งๆที่ชื่นชมงานเครื่องมุกมาตลอด. ได้เห็นตะลุ่มมุกไฟชิ้นมรดกของเพื่อนซึ่งเจ้าของสอนให้รู้ว่ามุกไฟสีเหลือบออกแดงชมพูคือมุกที่ดีที่สุดหายากที่สุด เคยชื่นชมเฟอร์นิเจอร์ไม้มะเกลือฝังมุกที่บ้านเพื่อนอีกคน. แม้จะรู้ว่าเครื่องมุกเป็นของหายากและทำยาก. แต่ก็ไม่เคยเข้าใจว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
จนกระทั่งเมื่อเริ่มจะเขียนถึงกล่องไม้จากเวียดนามชิ้นนี้ จึงได้ความรู้เรื่องราวมากมายที่น่าสนใจ. ขอแบ่งปันไว้ ณ ที่นี้. ผิดถูกอย่างไรขออภัย. ช่วยกันติชมแก้ไขถือว่าเพื่อช่วยกันอนุรักษ์งานเครื่องมุกไว้ให้สังคมไทย
1
งานไม้ประดับมุก ( Mother of Pearl Inlay) หรือที่จริงคือเปลือกหอยที่มีความแวววาวราวไข่มุก มีมานานหลายพันปี. พบหลักฐานมากมายพบในแหล่งอารยธรรมโบราณทั่วโลก. ปัจจุบันนี้แบ่งออกเป็น 5 สกุลช่าง หรือที่เรียกกันว่า school คือ แบบยุโรป/เวียนนา. แบบตะวันออกไกลคือจีน ญี่ปุ่นเกาหลี เวียดนามซึ่งของเครื่องมุกไทยก็แยกมาจากสายนี้ แบบอิสตันบุล แบบเยรูซาเล็มคือยิวโบราณ. และแบบดามัสกัสคือซีเรีย. ทั้งหมดใช้เทคนิคเหมือนกันคือฝังเปลือกหอยมุกบนพื้นไม้ตามลวดลายที่กำหนดไว้
ก่อนอื่นต้องนำชิ้นไม้ที่เหมาะสมมาเขียนลายก่อน. จากนั้นเซาะร่องตามลาย. เอาเปลือกหอยที่ด้านในมีความมันวาวมาขัดผิวนอกออกให้เหลือผิวในที่สวยงาม. ตัดเป็นชิ้นเล็กให้ผิวแบนราบเท่าที่จะทำได้. ติดบนไม้ฐาน. ตัดเป็นลายจนครบ. วางบนไม้วัสดุหลัก. ค่อยๆใช้ค้อนเล็กทุบให้ติดกัน. ถ้าทุบแรงชิ้นมุกจะแตกหัก. ต้องทุบด้วยน้ำหนักพอดีจนได้ลายครบ แล้วใช้กาวยึดติดให้แน่น. แล้วขัดให้เรียบสนิทและมันวาว
ไม้ที่ใช้ทำเครื่องมุกในสมัยก่อนนิยมไม้มะเกลือเพราะเนื้อแข็งละเอียดสีดำตัดกับสีขาวของหอยมุก. ปัจจุบันไม้มะเกลือหายากมาก จึงใช้ไม้อื่นๆแต่ต้องไม่เนื้อแข็งหรืออ่อนเกินไป. งานไม้ฝังมุกมีตั้งแต่เครื่องเรือน โต้ะเก้าอี้ตั่งเตียง. หีบกล่อง ตามแต่การออกแบบของช่างฝีมือ. แต่ควรจะเป็นของใช้ในร่มที่ไม่ตากแดดฝน.
เพราะกว่าจะได้เครื่องมุกแต่ละชิ้นต้องใช้ทั้งเวลา ฝีมือและวัตถุดิบหายาก. เครื่องมุกจึงเป็นของใช้ในศาสนาหรือสำหรับคนชั้นสูงเท่านั้น. งานชิ้นเอกที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันถ้าไม่อยู่ในวัดวังหรือพิพิธภัณฑ์. ก็เป็นสมบัติของเศรษฐีนักสะสม
แม้เครื่องมุกไทยจะอยู่ในตระกูลช่างตะวันออกไกลที่มีต้นกำเนิดจากจีนเมื่อกว่าสามพันปี แต่เทคนิคการทำแตกต่างไปและไม่ใช่งานฝังแบบ inlay แต่เป็นงานติดชิ้นมุกหรือ marquetry ที่เรียกคนไทยเรียกว่า ลงรักประดับมุก
แรกเริ่มคือการทาของเหลวสีดำเรียกว่า รักสมุก ที่เกิดจากการผสมของวัสดุต่างๆ เป็นชั้นบางบนเคลือบบนแผ่นที่ต้องการหลายๆครั้งจนได้ผิวที่เรียบเสมอกันในการทาหรือเคลือบแต่ละชั้นต้องใช้ความประณีตและปล่อยให้แห้งสนิทจึงจะเคลือบชั้นต่อๆไป. จากนั้นเป็นการวาดลายที่ต้องการบนกระดาษที่ต้องทำถึงสามสำเนา. แผ่นแรกแปะบนผิวรัก แผ่นที่สองไว้ติดชิ้นมุก และแผ่นที่สามไว้ตรวจสอบความถูกต้องของลาย
หอยที่มีเปลือกสวยงามในอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีหลายชนิด เช่นหอยมุก หอยนมสาว หอยจอบและหอยอูด. ชนิดสุดท้ายนี้คือหอยที่เรียกกันว่ามุกไฟ. ซึ่งปัจจุบันหายากที่สุด. เมื่อได้หอยมาขัดผิวหยาบออกจนถึงเนื้อมุก. ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ติดบนไม้เพื่อฉลุตามลาย. วางบนแผ่นกระดาษบางกลับด้าน. คือวางด้านบนคว่ำหน้าลง. ได้ลายครบ. แล้วติดบนลายบนผิวที่เคลือบรักไว้. ทิ้งให้แห้ง. ใช้ไอน้ำลอกแผ่นกระดาษด้านหน้าลายมุกออก. จากนั้นก็อุดช่องว่างระหว่างลายด้วยรักอีกครั้ง. ปล่อยแห้ง. ขัดรักบนผิวมุกออกให้หมด เกิดเป็นลวดลายมุกบนผิวรักสีดำสนิท
วิธีการนี้คล้ายกับการลงรักปิดทองมากโดยมีสิ่งร่วมกันคือการเคลือบด้วยของเหลวคือรักจนพื้นเป็นสีดำ
ขนาดเขียนยังยาวและเวียนหัวขนาดนี้. ถ้าทำจริงจะใช้เวลานานและยุ่งยากขนาดไหน นอกจากนั้นยังอาจจะต้องใช้ช่างฝีมือหลายสาขามาทำงานร่วมกันกว่าจะได้ผลงานชิ้นเดียว. จากวันแรกที่เริ่มเรียนรู้ขั้นตอนการทำฝึกฝนหมั่นเพียรจนมีความชำนาญเป็นเวลาหลายสิบปีทั้งชีวิต. งานประดับมุกจึงเป็นหัตถกรรมที่มีค่าควรแก่สถาบันกษัตริย์และศาสนา
งานประดับมุกของไทยเฟื่องฟูมากในสมัยอยุธยา. ประจักษ์พยานคือบานประตูวิหารวัดพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ที่สร้างในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ พ.ศ. 2299
มาถึงต้นรัตนโกสินทร์. งานประดับมุกเป็นหนึ่งในงานช่างฝีมือสิบหมู่ที่พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์. มีผลงานชิ้นเอกทั้งจากฝีมือช่างหลวงและช่างชาวบ้าน. วิธีการลงรักประดับมุกของช่างไทยทำให้สามารถทำลวดลายได้ละเอียดอ่อนช้อยกว่าการฝังมุกบนแผ่นไม้เช่นของช่างจีนหรือตะวันออกกลาง. แต่ก็มีข้อจำกัดคือเครื่องใช้ที่ประดับมุกต้องรักษาทะนุถนอมมากกว่า ไม่เหมาะกับการใช้งานประจำวัน. เครื่องใช้ประดับมุกของไทยที่ทำกันเช่น ตู้พระมาลัย ธรรมมาสน์ ตะลุ่ม เตียบ พานแว่นฟ้า ฝาบาตร กล่องใส่หมากพลู รวมถึงบานประตูหน้าต่างโบสถ์วิหาร.
เพราะถือกันว่าของใช้ประดับมุกเป็นของของสูงสำหรับพระสงฆ์และพระมหากษัตริย์ คนทั่วไปจึงไม่ใช้กัน. ที่พอจะมีบ้างก็มาจากจีนและเวียดนาม. ช่างประดับมุกในไทยจึงเกือบจะสูญหายไปจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ที่กลับมาฟื้นฟูกันใหม่ที่โรงเรียนช่างฝีมือในวัง(ชาย)
ผิดกับช่างมุกเวียดนามที่ยังคงเป็นอาชีพอยู่ตามหมู่บ้าน. โดยหลายๆหมู่บ้านจะทำงานร่วมกัน. เช่นหมู่บ้านหนึ่งขึ้นตัวเรือน อีกหมู่บ้านเลื่อยชิ้นมุก. อีกหมู่บ้านทำงานฝัง. เป็นต้น ด้วยวิธีการทำงานร่วมกันแบบนี้จึงสามารถยืนหยัดอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน. แม้ว่างานระดับหมู่บ้านจะเทียบไม่ได้กับงานช่างหลวงในสมัยก่อน
นักท่องเที่ยวที่ไปเวียดนามอดไม่ได้ที่จะซื้อของที่ระลึกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ทำจากไม้และฝังมุก. บางคนอาจจะยอมจ่ายแพงอีกหน่อยเพื่อให้ได้ของสวยมาครอบครอง. แต่ถ้าอยากจะดูผลงานชิ้นเอกของช่างเวียดนามต้องไปที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในฮานอย
คนไทยเราโชคดีที่ยังรักษามรดกเครื่องประดับมุกเอาไว้ได้ตามวัดวาอารามได้จนทุกวันนี้. ครั้งต่อไปที่ไปวัดเก่าๆ. ถ้าเจอบานประตูประดับมุกควรน้อมระลึกถึงดวงวิญญาณของบรรดาเหล่าช่างฝีมือที่ร่วมกันผลิตงานชิ้นนั้นออกมา. ท่านเหล่านั้นตลอดจนบุคคลในอดีตและปัจจุบันที่ร่วมกันอนุรักษ์เก็บรักษาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เห็นสมควรที่จะได้รับการคารวะ
กล่องไม้ฝังมุกของฉ
รูปบน. กล่องไม้ในพิพิธภัณฑ์ที่ฮานอย. ล่างซ้าย. กล่องไม้ของเก่า. กลาง. ตะลุ่มมุกของไทย. ขวา งานประดับมุกฝีมือช่างไทย
1 บันทึก
1
1
4
1
1
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย