26 มิ.ย. 2020 เวลา 07:31 • ธุรกิจ

โฮลดิ้ง ก็คือ “กงสี” แต่มีข้อดีกว่า

วันนี้ขอมาพูดเรื่องการจัดการสินทรัพย์ขั้นสูงด้วย Holding Company ให้ฟังกันครับว่า มันคืออะไร แล้วมันมีข้อดีอย่างไร ทำไมบริษัทใหญ่ๆ เขาถึงจดเป็นบริษัทโฮลดิ้งเข้าไปถือหุ้นบริษัทลูกกัน
4
ผมว่าหลายๆ ท่านน่าจะพอเคยได้ยินคำว่า “บริษัทโฮลดิ้ง” มาบ้างแล้ว ซึ่งหากเราสังเกตจะเห็นว่าหลายๆ บริษัทที่มีหลากหลายธุรกิจ เขาจะมีการจด Holding Company เพื่อคอยดูแลธุรกิจกลุ่มบริษัทอีกทีหนึ่ง ซึ่งจริงๆ มันข้อดีอยู่เยอะเลยครับ (ถ้าไม่ดีเขาคงไม่ทำกัน) ผมขอมาเล่าให้ฟังล่ะกันครับ
ข้อมูลตัวอย่าง Holding Company
หากเรานึกย้อนระบบการดูแลธุรกิจที่เราคุ้นเคย ก็คงหนีไม่พ้น “ระบบกงสี” หัวใจหลักของระบบกงสีก็คือ ให้ญาติ พี่ๆ น้องๆ มาช่วยกันดูแลกิจการ ซึ่งระบบกงสีนั้น มีข้อดีก็เยอะแต่ข้อเสียก็มีแยะอยู่เช่นกัน ผมขอข้ามเรื่องระบบกงสีไปเพราะทุกท่านน่าจะพอนึกกันออกอยู่แล้ว
ทีนี้พอธุรกิจเริ่มเติบโต ก็ย่อมมีเรื่องการเสียภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง จากระบบกงสีจึงต้องจดเป็นนิติบุคคล หรือบริษัท เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและการจัดการต่างๆ ที่เป็นระบบมากขึ้น หรือหากธุรกิจขยายก็จดบริษัทเพิ่มต่อไปอีก แต่โดยรวมก็ยังคงเป็นในรูปแบบธุรกิจครอบครัวเช่นเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะหยุดอยู่แค่ตรงนี้ แต่จริงๆ มันยังไปต่อได้อีกครับ
เรามาทำความรู้จัก “บริษัทโฮลดิ้ง” กันดีกว่า
โฮลดิ้ง หรือ บริษัทโฮลดิ้ง เริ่มใช้กันมากขึ้น ตั้งแต่ปี 59 เป็นต้นมา สาเหตุที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลประกาศให้มีการจัดเก็บภาษีมรดก และภาษีการให้นั่นเอง
Holding Company คือ บริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยไม่มีการประกอบกิจการใดๆ แต่มีหน้าที่หลักเพื่อถือหุ้นบริษัทของกิจการครอบครัว และช่วยในการบริหาร รวมถึงการส่งต่อสินทรัพย์ของครอบครัว
วัตถุประสงค์หลักๆ ก็เพื่อแก้ปัญหาการจัดสรรผลประโยชน์ของทายาทรุ่นต่อไป ไม่ให้เผชิญกับปัญหาความขัดแย้ง ความไม่ลงรอยกันของสมาชิกในครอบครัว และการดูแลสวัสดิภาพคนในครอบครัว รวมถึงผลประโยชน์ทางภาษีครับ
ข้อดีของการทำเป็น Holding Company
1. ได้รับยกเว้นรายได้ในการคำนวณภาษี 100% ไม่จ่ายภาษีซ้ำซ้อน
2. ชะลอการเสียภาษี
3. ลดความเสี่ยงเรื่องคดีความ
4. เป็นการบริหารจัดการพัฒนาสินทรัพย์อย่างยั่งยืนในระยะยาว
5. เป็นนิติบุคคลไม่มีการหมดอายุ
6. จัดการทรัพย์สิน เรื่อง แบรนด์, ลิขสิทธิ์, ทรัพย์สินทางปัญญา
7. ป้องกันการโอนย้ายสินทรัพย์หรือผ่องถ่ายไปยังบุคคลภายนอก
8. มีความยุติธรรม สามารถตรวจสอบได้
9. มีหลักฐานชัดเจน เพราะมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
10. ลดความขัดแย้งภายในครอบครัว
11. เพิ่มความทุ่มเทต่อธุรกิจของสมาชิกในครอบครัว
12. รวมเงินกองใหญ่ ทำให้ทราบทรัพย์สิน หรือหนี้สินของวงศ์ตระกูล
13. ลดโอกาส Tax Audit
14. ง่ายต่อการลงทุน
15. ง่ายต่อการจัดการธุรกิจ
16. ง่ายต่อการส่งมอบมรดก
แผนผังโครงสร้าง Holding Company
จะเห็นว่ามีข้อดีเยอะมากๆ ที่อุดรูรั่วของระบบกงสี
ผมขออธิบายข้อดีหลักๆ สำคัญๆ ล่ะกันนะครับ
1. เรื่องการป้องกันคนนอกและขจัดปัญหาเรื่องการแบ่งสมบัติ คือ ถ้าครอบครัวเล็กๆ ตอนเริ่มกิจการนี่ ระบบกงสีหรือระบบธุรกิจครอบครัวจะยังไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าในอนาคตครอบครัวขยายขึ้นปัญหาจะมากขึ้นตาม แต่พอเป็นรูปแบบของโฮลดิ้ง ก็จะไม่มีมาเกิดความไม่พอใจ “คนนั้นได้ตรงโน่น คนนี้ได้ตรงนั้น” เพราะทุกคนก็ยังคงเป็นเจ้าของตามสัดส่วนของแต่ละคน โดยใช้การถือหุ้นเป็นตัวแบ่งตามสิทธิ อย่างที่เราเคยให้ในหนัง พ่อยกมรดกเป็นเงินสดให้ ลูกคนที่ได้น้อยใจอยากได้หุ้นบริษัทมากกว่า นั่นเพราะ “หุ้นเป็นสิ่งที่แสดงความเป็นเจ้าของ”
2. ช่วยลดภาษี และชะลอการเสียภาษี
ส่วนแรก คือ ภาษีธุรกิจ อันนี้รายละเอียดเยอะต้องอธิบายยาว เอาแบบสั้นๆ หลักๆ คือ บริษัทลูก เอาเงินออกโดยการปันผลให้โฮลดิ้ง จะได้รับยกเว้นภาษีครับ ดังนั้นโฮลดิ้งจึงเป็นที่พักเงินที่ดีที่สุด เมื่อเราต้องการใช้เมื่อไหร่ค่อยปันผลจากโฮลดิ้งอีกที จึงเป็นการชะลอภาษีไปในตัว
ยกตัวอย่าง
หากเป็นบริษัทจำกัด ส่วนของกำไรที่ออกมาจะเป็นรูปของการปันผล ซึ่งออกมาในรอบบัญชี ส่วนนี้จะโดนภาษี 10% ครับ แต่ถ้าเราใช้บริษัทโฮลดิ้งในการถือหุ้น เราสามารถนำปันผลกำไรออกมาจากบริษัทลูกไปพักไว้ที่โฮลดิ้งก่อนซึ่งส่วนนี้ได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรา 65 ทวิ (10) ของประมวลรัษฎากร ครับ
ส่วนที่สอง คือ ภาษีมรดก โฮลดิ้งเป็นบริษัท พอเป็นรูปบริษัทก็ไม่มีวันตาย การส่งต่อจึงทำได้โดยการโอนหุ้นตามทุน มิใช่ตามราคาทรัพย์ของเจ้ามรดกครับ
3. ช่วยเรื่องการบริหารจัดการ ลดความเสี่ยงคดีความ
เปรียบง่ายๆ โฮลดิ้ง เป็นเสมือนเกราะป้องกันภัย ยกตัวอย่างเช่น กงสีหรือบริษัทประกอบการหลายอย่าง หากโดนฟ้องร้องอาจถึงขั้นล้มละลายได้ แต่ถ้ามีโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นที่ๆรวมเงินส่วนใหญ่นั้น ภัยจะมาไม่ถึงหรือหากถึงก็ใช้เวลาและต้องมีคำสั่งศาลอีกที เมื่อเกิดความชัดเจนก็ง่ายต่อการบริหารและพัฒนาธุรกิจกงสีต่อไปครับ
1
4. หากบริษัทโฮลดิ้งปล่อยกู้บริษัทลูก ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ตามประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 571 เหมือนลูกยืมเงินแม่ ก็ไม่ต้องเสียภาษีนั่นเองครับ แต่ถ้ากู้คนอื่นอันนี้ต้องเสียนะครับ
สิทธิทางภาษี
ก็ขอเล่าคร่าวๆ ล่ะกันนะครับ ซึ่งจริงๆ มีรายละเอียดมากกว่านี้ครับ เช่น โฮลดิ้งต้องถือหุ้นบริษัทลูก ไม่น้อยกว่า 25% คำสั่งสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ข้อ 5 จึงจะได้สิทธิทางภาษี หรือโฮลดิ้งไม่ควรทำกิจการอื่น นอกจากปล่อยกู้ให้บริษัทลูก หรือโฮลดิ้งไม่จำเป็นต้องจด Vat หรือโฮลดิ้งไม่ควรถือครองที่ดิน เป็นต้นครับ
แต่ที่แน่ๆ Holding Company มีข้อดีแน่นอนครับ ทีนี้ทุกท่านก็น่าจะพอเข้าใจบริษัทโฮลดิ้งมากยิ่งขึ้น
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อยนะครับ
กันต์ธีร์ พงษ์สุวินัย
โฆษณา