27 มิ.ย. 2020 เวลา 03:51 • ธุรกิจ

เกิดวิกฤตทีไร…ทำไมต้องอุ้มบริษัทใหญ่

วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันครับ ผมว่าหลายๆ ท่านน่าจะสงสัยกันอยู่บ้างกับคำถามที่เราเคยได้ยินๆมา ประมาณพอวิกฤติทีไร ทำไมช่วยแต่บริษัทใหญ่ๆ งั้นเรามาลองวิเคราะห์ทำความเข้าใจเพื่อเฉลยคำตอบกันครับ
ก่อนอื่นมันมีเรื่องที่เราต้องรู้ก่อนครับ
อันดับแรก…หากเราแบ่งตามสัดส่วนการสร้างรายได้ของประเทศไทยตาม GDP ประเทศนั้น
SME หรือธุรกิจขนาดกลางและเล็ก สร้างรายได้ประมาณ 42% ของ GDP
บริษัทขนาดใหญ่ สร้างรายได้ประมาณ 58% ของ GDP
นั่นแปลว่าธุรกิจขนาดใหญ่มีผลต่อ GDP ประเทศมากกว่า SME ครับ
อับดับที่สอง…เรามาแบ่งสัดส่วนหากคิดจากธุรกิจทั้งหมดของประเทศ
SME หรือธุรกิจขนาดกลางและเล็ก มีอยู่ประมาณ 95% ของธุรกิจทั้งประเทศ
บริษัทขนาดใหญ่ มีอยู่ประมาณ 5% ของธุรกิจทั้งประเทศ
นั่นแปลว่า SME มีจำนวนเยอะมากๆ และธุรกิจขนาดใหญ่มีจำนวนที่น้อยกว่ามากๆ เช่นกันครับ
อันดับที่สาม…แบ่งตามอัตราการจ้างงาน
SME และบริษัทใหญ่นั้นมีอัตราการจ้างงานกันครึ่งๆ ครับ คือ แบ่งกันคนละ 50%
เปรียบเทียบ SME กับบริษัทใหญ่
ซึ่งการแบ่งขนาดธุรกิจนั้นมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนนะครับ โดยมีเงื่อนการแบ่งดังนี้
-บริษัทขนาดเล็ก จ้างคนไม่เกิน 50 คน ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 20 ล้านบาท
-บริษัทขนาดกลาง จ้างคนไม่เกิน 200 คน ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท
-เกินกว่านั้น ถือว่า เป็นบริษัทขนาดใหญ่
ทีนี้เรามาสรุปและวิเคราะห์กันครับ
จากข้อมูลดังกล่าวเราสามารถสรุปได้ว่า ธุรกิจในประเทศเราส่วนใหญ่เป็น SME ซึ่งให้ถูกมันต้องช่วยคนส่วนใหญ่ก่อน คนหรือธุรกิจส่วนใหญ่จะได้รอดกัน แต่ในความเป็นจริงต้องบอกว่ามันทำได้ยากกว่าและการช่วยบริษัทใหญ่นั้นทำได้ง่ายกว่าแถมเห็นผลมากกว่าครับ
ลองนึกตามนะครับ การช่วยบริษัทใหญ่ ที่มีจำนวนไม่เยอะ เมื่อจำนวนน้อยกว่ามากๆ การช่วยเหลือจึงทำได้ง่าย และช่วยแค่หนึ่งแต่สามารถช่วยคนในทางอ้อมได้จำนวนมากเช่นกัน (ลูกจ้าง) เพราะช่วยหนึ่งบริษัทใหญ่นั้นสามารถช่วยคนที่ได้รับผลกระทบได้หลักพันๆ เช่นกันครับ ดังนั้นหากสามารถช่วยบริษัทใหญ่ใน 5% ที่มีอยู่ จะสามารถช่วยลูกจ้างได้ 50% ของประเทศ แถมยังมีผลกับ GDP ประเทศมากกว่าด้วยเช่นกัน
ดังนี้นี่คือเหตุผลที่ทำไมถึงต้องอุ้มบริษัทใหญ่ก่อนครับ
ผมขอสมมุติให้เห็นภาพนะครับ
หากเราเป็นคนที่มีอำนาจในการช่วยเหลือ ในวันที่ทุกคนต่างก็กำลังจะจมน้ำ เรามีห่วงยางในมือแต่จะโยนทิ้งๆ ไปก็ไม่ได้ โยนช้าไปก็ไม่ได้ โยนทั้งหมดให้ทุกคนก็ไม่ได้ ทางที่ง่ายที่สุดก็คงโยนให้คนตัวใหญ่ๆ ก่อน เพื่อให้ช่วยคนตัวเล็กๆ ได้ต่อ และค่อยๆ โยนไล่ต่อลงไปเรื่อยๆ
เพราะสุดท้ายยังไงก็ต้องช่วยให้รอดกันมากที่สุดครับ เพราะหากประชาชนไม่มีรายได้ อยู่ไม่ได้ บริษัทใหญ่ๆ ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะระบบทุนยังไงมันยังจำเป็นต้องไปด้วยกันครับ
ตอนนี้จึงอยู่ในช่วงของการช่วยรายใหญ่ พยุงรายย่อย ค่อยๆ ลงไปถึงประชาชน
ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ
ขอบคุณครับ
กันต์ธีร์ พงษ์สุวินัย
โฆษณา