28 มิ.ย. 2020 เวลา 12:30
อาถรรพ์ “วังหน้า”เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ออกพระโอษฐ์ สาปผู้ครอบครองวังหน้าในภาคหน้าให้อยู่ไม่เป็นสุข
แม้ทำพิธีผ่อนปรนโดยพราหมณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว สุดท้ายต้องยกเลิกตำแหน่งวังหน้าไปในสมัยรัชกาลที่ 5
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และภาพเก่าบริเวณวังหน้า
ตำแหน่ง "วังหน้า" หรือ "พระมหาอุปราช" ได้ถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5 กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์สุดท้าย คือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
1
โดยคำว่า "วังหน้า" หรือ เรียกอย่างเป็นทางการว่า "พระราชวังบวรสถานมงคล" มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
"วังหน้า" นั้นเปรียบได้เหมือนสถานที่อันหมายถึง ที่ประทับของบุคคลที่มีสถานะสำคัญรองลงมาจากพระมหากษัตริย์
ในสมัยอยุธยาตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้านั้น จะประทับอยู่ ณ วังจันทรเกษม ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกด้านหน้าของวังหลวง
1
ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาแสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งพระมหาอุปราชอาจจะเป็นพระราชโอรส หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชโอรสยังทรงพระเยาว์ ตำแหน่งนี้อาจจะเป็นของผู้ใกล้ชิดรองลงมาคือสมเด็จพระอนุชา หรืออาจจะเป็นผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนเพื่อขึ้นครองราชย์ เช่น พระราชนัดดา หรือข้าราชการสำคัญ ที่พระมหากษัตริย์ทรงวางพระทัย
5
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีวังหน้ารวมทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่
1
- สมัยรัชกาลที่ 1 -
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 1)และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) แต่งตั้งเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททิวงคต
3
- สมัยรัชกาลที่ 2 -
เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ (สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 2)
- สมัยรัชกาลที่ 3 -
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ (พระปิตุลาในรัชกาลที่ 3)
- สมัยรัชกาลที่ 4 -
เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 4) ต่อมาโปรดฯ ให้เปลี่ยนพระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏจากเดิมว่า "พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" เป็นพระนามอย่างพระเจ้าแผ่นดินว่า "พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" ทรงเป็นวังหน้าที่มีพระเกียรติสูงยิ่งกว่าวังหน้าสมัยใด
- สมัยรัชกาลที่ 5 -
กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พ.ศ. 2411 หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา ขณะนั้นมีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์จึงอัญเชิญกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงดำรงตำแหน่งวังหน้า นับเป็น "วังหน้า" พระองค์ที่ 6 และพระองค์สุดท้ายรวมทั้งยังทรงเป็นวังหน้าพระองค์แรกที่พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงแต่งตั้ง
3
ในกาลต่อมาครั้นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และทรงเริ่มประเพณีการสถาปนา "สมเด็จพระบรมโอรสธิราช สยามมกุฎราชกุมาร" แทนเรือยมาจนปัจจุบัน
1
ในยุครัตนโกสินทร์พื้นที่เคยเป็นวังหน้านั้น ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีร่องรอยเหลือให้ชม คือ แนวกำแพงเก่าของวังหน้าในบริเวณพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ อาณาเขตกินพื้นที่บางส่วนของสนามหลวง ยาวไปถึงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า
ภาพวังหน้าจากหอจดหมายเหตุ ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เขียนจึงคิดว่า สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างในเขตพื้นที่ที่ในอดีตเคยเป็นบริเวณของวังหน้า เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ จึงมีการตั้งชื่อสะพานตามพระนามของวังหน้าพระองค์สำคัญเปรียบดั่งมหากษัตริย์อีกพระองค์ คือ "สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า"
1
ภาพจากหอจดหมายเหตุ
อาณาเขตวังหลวง (สีฟ้า) อาณาเขตวังหน้า (สีเหลือง)
ตำแหน่ง "วังหน้า"แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มีเรื่องราวที่เชื่อว่าเป็นอาถรรพ์กับพระดำรัสแช่งจากวังหน้าพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ตกทอดกันมาหลายพระองค์
ถึงขนาดทำให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯโปรดให้พราหมณ์ทำพิธีฝังอาถรรพ์ใหม่ทุกป้อมทุกประตูรวม 80 หลัก เพื่อเป็นการผ่อนปรนพระดำรัสที่ถูกสาปไว้ในอดีต
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งตั้งราชธานีใหม่ในปีพุทธศักราช 2325 เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แล้ว
ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ผู้เป็นสมเด็จพระอนุชา ขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระนามว่า “กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท”
2
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในตำแหน่งพระมหาอุปราช ได้โปรดสถาปนา “พระราชวังบวรสถานมงคล” ขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นพระนิเวศเดิมแต่ครั้งยังเสด็จดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ทรงสร้างพระบวรราชวังนี้อย่างยิ่งใหญ่และประณีตบรรจง ด้วยหวังจะได้ทรงอยู่อย่างเป็นสุขในบั้นปลายพระชนมชีพ แต่การณ์ก็มิได้เป็นอย่างที่ทรงหวัง เพราะหลังจากดำรงพระยศกรมพระราชวังบวรฯ ได้ 21 ปี พระชนมายุได้ 60 พรรษา ก็ประชวรพระโรคนิ่ว
5
แผนผังภายในพระราชวังหน้า: https://readthecloud.co/walk-hidden-palace-trip/
เล่ากันว่าทรงทั้งห่วงและหวงพระบวรราชวังที่โปรดให้สร้าง เมื่อเวลาประชวรหนักอยู่นั้น ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานต่อสมเด็จพระเชษฐา ให้พระโอรสธิดาของพระองค์ได้ประทับอยู่ในวังหน้าต่อไป
แผนที่วังหน้า https://readthecloud.co/walk-hidden-palace-trip/
และมีเรื่องเล่าลือจนถึงพระเนตรพระกรรณ รัชกาลที่ 1 ว่า กรมพระราชวังบวรฯ ได้ออกพระโอษฐ์ตรัสสาปแช่งขณะประชวรและเสด็จทอดพระเนตรรอบ ๆ วังว่า
“...ของเหล่านี้ กูอุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังจะอยู่ชมนานๆ ก็ไม่ได้ชม ของใหญ่ของโตของกูดีๆ ของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครไม่ใช่ลูกกู เข้ามาเป็นเจ้าของครอบครองขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข...“
1
ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เป็นกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
3
แต่พระดำรัสสาปแช่งยังเป็นสิ่งที่ทุกคนเกรงกลัว จึงมีการพยายามหาทางเลี่ยงพระดำรัสสาป โดยทรงอภิเษกสมรสกับพระธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นลูกเขยเป็นการผ่อนปรนเลี่ยงพระดำรัสสาปอย่างแยบยล
1
ครั้งแรกทรงตั้งพระทัยจะอภิเษกกับเจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง พระธิดาซึ่งประสูติแต่เจ้ารจจา พระขนิษฐาของพระเจ้ากาวิละเมืองเชียงใหม่ แต่เจ้าฟ้าหญิงพระองค์นี้สิ้นพระชนม์เสียก่อน จึงทรงอภิเษกกับพระธิดาพระองค์อื่นขององค์เจ้าของวังแทน
กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรได้เพียง 8 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้เพียง 44 พรรษา และในรัชสมัยนี้ก็มิได้ทรงแต่งตั้งท่านผู้ใดเป็นกรมพระราชวังบวรฯ จนสิ้นรัชกาล
หลังการเสด็จสวรรคตของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ รัชกาลที่ 2 ทรงไม่สถาปนาผู้ใดขึ้นมาดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชอีก หลังจากวังหน้าแผ่นดินที่ 2 เสด็จสวรรคต พระราชวังบวรสถานมงคลก็ว่างเว้นมาอีก 7 ปี
1
จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2367 จึงโปรดเกล้าโปรดฯ ให้กรมหมื่นศักดิพลเสพ (พระองค์เจ้าอรุโณทัย พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1) ซึ่งเป็นพระปิตุลารุ่นเล็กให้เป็นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ
5
ครั้งนี้พระองค์ก็ทรงใช้วิธีผ่อนปรนเลี่ยงพระดำรัสสาป ด้วยการอภิเษกสมรสกับพระองค์เจ้าดาราวดี พระธิดากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย ทรงอยู่ในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้เพียง 8 ปี ก็เสด็จสวรรคต เมื่อพระชนมายุได้เพียง 47 พรรษา และมิได้ทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์พระองค์ใดเป็นกรมพระราชวังบวรฯ จนสิ้นรัชกาล และนับจากปีนั้นเป็นต้นมา วังหน้าก็ว่างร้าง นานถึง 18 ปี
1
เรียกได้ว่าอาถรรพ์จากพระดำรัสสาปนี้ ทำให้ยิ่งมีผู้คนเกรงกลัวและเป็นที่กล่าวขวัญกัน สำหรับผู้ครอบครองนั้นมักจะมีพระชนมชีพได้ไม่นาน
ครั้นในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 กล่าวได้ว่าวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ค่อนข้างแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับวังหน้าในสมัยใด ๆ
1
รัชกาลที่ 4 และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ คิดครองแผ่นดินร่วมกับพระอนุชาของพระองค์ เฉกเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยา ยุคสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถซึ่งได้ทรงครองราชย์ร่วมกัน
3
จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจุธามณีกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ แต่โปรดให้เพิ่มพระเกียรติยศเทียบเท่าพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
3
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับที่วังหน้าซึ่งถูกทิ้งร้างมานานเกือบ 20 ปี และพระองค์ทรงมีวิธีผ่อนปรนเลี่ยงพระดำรัสสาป โปรดให้พราหมณ์ทำพิธีฝังอาถรรพ์ใหม่ทุกป้อมทุกประตูรวม 80 หลัก ก่อนที่จะโปรดให้สร้างพระราชมณเฑียรพระที่นั่ง และพระตำหนักต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระบวรราชวัง 18 ปี จึงเสด็จสวรรคต
1
อาถรรพ์วังหน้าเหมือนจะเริ่มดีขึ้น และค่อยๆจางหายไป เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติตั้งแต่พระชนมายุเพียง 15 พรรษา จากการสนับสนุนในที่ประชุมของเหล่าเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ตั้ง "พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ’" พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งวังหน้า มีพระราชอิสริยยศว่า "กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ" ทั้งที่ผิดธรรมเนียมโบราณมาก เพราะการแต่งตั้งพระมหาอุปราชถือเป็นพระราชอำนาจส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น
3
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
ความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้าเริ่มก่อตัวและมากขึ้นเรื่อยๆ ใน พ.ศ. 2417 ถึงต้น พ.ศ. 2418 เพียง 1 ปีหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และทรงบริหารประเทศด้วยพระองค์เอง
ทรงมีพระราชประสงค์จะปรับปรุงการบริหารประเทศหลายด้าน ซึ่งย่อมไปกระทบกับกลุ่มอำนาจเก่าที่เป็นขุนนางผู้มีอำนาจทั้งหลาย ในขณะเดียวกัน กลุ่มขุนนางหัวใหม่ก็กังขาการขึ้นดำรงตำแหน่งของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญว่าเป็นไปโดยไม่เหมาะสม
กรมพระราชวังบวรฯ​ เองก็ไม่สบายพระทัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของพระองค์เอง ทั้งมีข่าวลือเรื่องการลอบปลงพระชนม์ จึงได้มีการตระเตรียมไพร่ในสังกัดของวังหน้าซึ่งมีจำนวนมากพอ ๆ กับวังหลวง คือมากกว่า 80,000 นาย
3
และใน พ.ศ.2417 ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงขึ้นอีก ครั้นเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้วังหลวง แล้วไพร่พลของวังหน้าจะเข้าไปช่วยดับไฟ แต่ทหารวังหลวงไม่ให้เข้า จึงเกิดความไม่ไว้วางใจเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
1
มีข้าราชการระดับสูงภายใน ได้เอาเรื่องอาถรรพ์วังหน้า กลับมาพูดอีกครั้ง ด้วยปัญหาจากการล่าอาณานิคมจากตะวันตกมาผสมด้วย หากปล่อยละเลยไว้อาจร้ายแรงถึงเสียเอกราชให้แก่ชาติตะวันตก
1
รวมทั้งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอยู่ในตำแหน่ง 15 ปี ก็ได้ทิวงคตพอดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักพระทัยถึงปัญหายุ่งยากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงโปรดเกล้าฯ ประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้า ในวันที่ 4 กันยายน พุทธศักราช 2428
และโปรดเกล้าฯสถาปนาตำแหน่ง "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร" ขึ้นเป็นรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ต่อไป
1
พระราชวังหน้าจึงถูกนำมาใช้เป็นโรงทหารรักษาพระองค์ พื้นที่วังชั้นกลางโปรดให้จัดเป็นพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถาน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ส่วนพื้นที่วังชั้นในซึ่งยังมีเจ้านายฝ่ายใน พระธิดาของวังหน้าพระองค์ก่อนๆ ประทับอยู่ ก็โปรดให้จัดเป็นพระราชวังต่อไป และมีเจ้าพนักงานดูแลอยู่เช่นเดิม
3
วังหน้าปัจจุบันจึงถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่ร่ำเรียนของนักศึกษาและบทบาทความสำคัญค่อยๆเลือนหายไปตามกาลเวลา
อย่างไรก็ตามเรื่องอาถรรพ์อาจเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ ในส่วนการยกเลิกวังหน้าอาจจะเกิดจากการจัดปรับระบบบริหารราชการแผ่นดินให้รัดกุมขึ้น เพื่อป้องกันอำนาจจากชาติตะวันตก รวมทั้งการสืบราชสันตติวงศ์ที่ชัดเจนมากขึ้น
1
เรื่องเล่าอาถรรพ์ "วังหน้า" ครั้งนั้น จึงค่อยๆเลือนหายไปในที่สุด ขอให้ผู้อ่านโปรดใช้วิจารญาณ
1
เรียบเรียงโดย เจาะเวลาหาอดีต
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
1
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง:
- หนังสือวาทะเจ้านาย : ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย
โฆษณา