28 มิ.ย. 2020 เวลา 11:10 • การศึกษา
การทำงานของสุนัขบริการ
ตอนนี้จะเป็นตอนสุดท้ายของเรื่อง Service Dog แล้วค่ะ ก็จะมาเก็บตกเล่าเรื่องของ Service Dog กันต่อ
อย่างที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่า สุนัขบริการสามารถไปกับผู้ป่วยได้ทุกที่ ซึ่งโดยปกติแล้วสุนัขบริการจะต้องเข้าไปนั่งใต้เก้าอี้หรืออยู่ระหว่างขาของผู้จูง จะได้ไม่เกะกะรบกวนผู้อื่น
โดยที่สถานที่ต่างๆในประเทศสหรัฐอเมริกาจะสร้างตึกโดยคำนึงถึงคนพิการด้วย เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตด้วยตัวเองได้ เช่น มีปุ่มที่กดเพื่อเปิดประตู
ซึ่งสุนัขบริการที่ทำงานกับผู้ที่ใช้รถวีลแชร์ ก็จะถูกฝึกให้สามารถกดปุ่มนี้ได้เมื่อได้รับคำสั่ง รวมไปถึงการเปิดปิดและการหยิบของจากตู้เย็นด้วย เก่งและฉลาดมากๆเลยค่ะ
ในสนามบินที่สหรัฐอเมริกาจะมีห้องน้ำสำหรับสุนัขบริการโดยเฉพาะด้วยนะคะ
สำหรับสุนัขนำทาง นอกจากจะพาผู้พิการทางสายตาหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้แล้ว ยังสามารถพาไปที่ต่างๆตามที่เคยถูกฝึก เช่น พาไปที่เก้าอี้ ประตู เค้าเตอร์ ริมฟุตบาท
ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อใจระหว่างผู้จูงกับสุนัขนำทาง เรียกได้ว่าทำงานกันเป็นทีมเลยค่ะ เพราะไม่ใช่ว่าสั่งว่าให้พาไปโรงพยาบาลแล้วสุนัขนำทางจะพาไปได้นะคะ
ผู้จูงต้องคอยบอกทางสุนัขนำทางในแต่ละจุดตลอดว่าให้ตรงไปหรือเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา
นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการทำงานของสุนัขบริการเท่านั้น จริงๆแล้วสุนัขบริการมีความสามารถและหน้าที่อีกหลายอย่างเลยค่ะ
ที่ตั้งใจหยิบเรื่อง Service Dog มาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกันหลายตอนขนาดนี้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ และแม้แต่คนในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆคนก็ยังไม่มีความเข้าใจ ไม่รู้วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเจอกับ Service Dog
ถึงในประเทศไทยจะมี Service Dog เพียงตัวเดียว แต่ก็อยากให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้กันค่ะ ขอบคุณทุกคนที่คอยตามอ่านเรื่องนี้กันจนจบนะคะ
โฆษณา