29 มิ.ย. 2020 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
บัตรเครดิตถูกแฮ็คจากที่ไหนกันนะ ?
อย่างที่ทราบกันดีว่าบัตรเครดิต เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของหลายๆคน ไม่ว่าจะใช้ในการซื้อสินค้า ผ่อนสินค้า หรือช็อปปิ้งออนไลน์
เพื่อนๆบางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ ถูกแฮ็ค
บัตรเครดิตไปทำรายการซื้อสินค้าบางอย่างทั้งที่ไม่ได้เป็นคนทำรายการ
แล้วข้อมูลบัตรเครดิตรั่วไหลได้อย่างไร?
ปกติแล้ว เมื่อสถาบันการเงินต่างๆ ตรวจพบว่ามีรายการทุจริตหรือมีการปฏิเสธรายการจากลูกค้าลักษณะคล้ายๆกัน มากจนผิดปกติ สถาบันการเงินนั้นๆ ก็จะนำบัตรเครดิตที่มียอดเสียหายเหล่านั้นนำมาตรวจสอบ
ว่าบัตรเหล่านั้น มีประวัติการใช้บัตรทำธุรกรรมร้านค้า หรือจุดชำระเงินใดที่สอดคล้องกัน โดยอาจจะวิเคราะห์จากช่วงเวลาที่เคยใช้ร้านนั้นๆ ในบางครั้งอาจจะเป็นรายการที่ย้อนหลังมากกว่า 1 ปีก็ได้
โดยร้านค้าที่มีประวัติการทำรายการจากบัตรที่เสียหายเคยใช้ร่วมกัน สอดคล้องกัน จะถูกระบุว่าเป็นร้านค้าที่มิจฉาชีพใช้เก็บข้อมูล ซึ่งก็คือ “Common Point of Purchase” หรือ CPP นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น
บัตรของลูกค้าท่านที่ 1 และ 2 มีการแจ้งปฏิเสธรายการจากร้านค้า A ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน
ทางสถาบันการเงินจะนำบัตรทั้ง 2 ใบ ไปตรวจสอบ และพบว่าร้านค้าที่บัตรทั้ง 2 ใบ เคยใช้คือร้านค้า B ในช่วงเวลาเดียวกัน
ในกรณีร้านค้า B ถือว่าเป็นร้าน CPP ส่วนร้านค้า A นั้น เป็นร้านค้าที่มิจฉาชีพนำบัตรลูกค้าไปใช้เท่านั้นเอง
ระบุร้านค้า CPP เพื่ออะไร?
การที่สถาบันการเงินระบุร้านที่เป็น CPP ได้นั้น จะช่วยให้สามารถป้องกันยอดเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับบัตรของลูกค้าท่านอื่นๆที่ตามมาภายหลังได้
ถึงแม้ลูกค้าจะไม่ต้องจ่ายยอดเสียหายที่เกิดขึ้นก็จริง แต่ก็ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันการเงิน โดยเฉพาะในแง่ของความน่าเชื่อถือจากลูกค้าเป็นอย่างมาก
เพราะฉะนั้นการที่ระบุร้านค้าที่เป็น CPP ได้ จะช่วยให้สามารถป้องกันยอดเสียหายจากบัตรของลูกค้ารายอื่นที่อาจจะตามมาภายหลังได้
ในปัจจุบันตัวร้านที่เป็น CPP อาจจะไม่ได้มีแค่ร้านค้าทั่วไปหรือตู้ ATM อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเว็บไซต์ที่รับชำระทางบัตรเครดิตผ่านออนไลน์ด้วยเช่นกัน
ในไทยเองก็เคยมีการตรวจจับและสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้เช่นกัน ซึ่งสร้างยอดเสียหายหลายแสนบาทเลยทีเดียว
สรุปกรณีนี้คือพนักงานบริการบริษัทโทรศัพท์ แอบจดเลขบัตรเครดิตของผู้มาใช้บริการแล้วนำไปซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่บัตรเครดิตของธนาคารกรุงไทยตรวจพบ จนนำไปสู่การจับกุมในที่สุด
ซึ่งก็ต้องชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกส่วน ที่สามารถตรวจพบร้านค้าที่เป็น CPP และสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ เพราะหากปล่อยไว้อาจจะสร้างความเสียหายมากกว่านี้ก็ได้
ถ้าเพื่อนๆเห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ สามารถกดไลค์และแชร์ให้เพื่อนๆได้รับทราบได้นะครับ
สำหรับใครที่พลาดบทความเก่าๆ สามารถติดตามได้ที่เพจ CHECKPOINT.th
โฆษณา