30 มิ.ย. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
รู้จัก HMPRO หุ้นแห่งทศวรรษ
ถ้าถามว่าหนึ่งในหุ้นแห่งทศวรรษของตลาดหุ้นไทยที่ทำผลงานได้โดดเด่นมีบริษัทไหนบ้าง
คำตอบน่าจะมีชื่อของ HMPRO (โฮมโปร) รวมอยู่ด้วย
ปี 2010 Market Cap ของ HMPRO เท่ากับ 12,700 ล้านบาท
ปี 2020 Market Cap ของ HMPRO เท่ากับ 206,000 ล้านบาท
1
มูลค่ากิจการของบริษัทเพิ่มขึ้น 16 เท่า ในรอบ 10 ปี หมายความว่า ถ้าเราลงทุนในหุ้น HMPRO 1 ล้านบาท เงินของเราจะเพิ่มเป็น 16 ล้านบาท
แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงมาหลายปี ดูเหมือนว่ากำไร HMPRO หลายปีมานี้ ยังเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอ
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
HMPRO ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 โดยเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH และบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH เพื่อขายวัสดุการก่อสร้าง ตกแต่งและซ่อมแซม ที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร
Cr. Homepro
ปี 2539 HMPRO เริ่มเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ในตอนนั้นการเติบโตของ HMPRO ได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่มาอาศัยแบบชุมชนเมือง (Urbanization) มากขึ้น
ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า
ปี 2539 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทย 88,000 บาท
ปี 2562 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทย 242,000 บาท
เรื่องนี้ทำให้หลายธุรกิจที่พึ่งพากำลังซื้อจากผู้บริโภคเติบโต โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ รวมทั้ง HMPRO จึงทำให้ธุรกิจขายสินค้าและวัสดุตกแต่งบ้านขยายตัวตามไปด้วย
ณ สิ้นไตรมาส 1/2563 HMPRO มีสาขารวมทั้งสิ้น 113 สาขา
โดยธุรกิจของ HMPRO สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ
1. กลุ่ม Home Improvement ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกสินค้าสำหรับก่อสร้าง ตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โดยในประเทศไทยจะมีทั้งหมด 93 สาขาและต่างประเทศที่มาเลเซีย 6 สาขา
2. กลุ่ม Home Center ในชื่อเมกาโฮม จำนวน 14 สาขา โดยเป็นธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งวัสดุก่อสร้าง สินค้าเกี่ยวกับบ้าน และของใช้ในครัวเรือน โดยคู่แข่งในกลุ่มนี้ เช่น ไทวัสดุ โกลบอลเฮ้าส์ โฮมเวิร์ค ดูโฮม
Cr. Forbes Thailand
3. ธุรกิจอื่นๆ เช่น การบริหารพื้นที่ให้เช่า การบริหารจัดการคลังสินค้าและให้บริการขนส่งสินค้า
อย่างที่รู้กันว่า การเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเวลาเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง อสังหาริมทรัพย์ จะเป็นสินทรัพย์แรกๆ ที่ผู้บริโภคมักเลื่อนการซื้อออกไป เนื่องจากราคาที่สูง
แน่นอนว่า เรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบต่อ HMPRO บ้าง แต่ไม่มากเท่ากับบริษัทที่ทำเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เพราะกลุ่มลูกค้าของ HMPRO ไม่ได้มีเพียงกลุ่มลูกค้าที่ซื้อหรือสร้างบ้านใหม่ แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มลูกค้าที่มีที่อยู่อาศัยอยู่แล้วเช่นกัน
โดยกลุ่มหลังนั่นคือ กลุ่มลูกค้าหลักของ HMPRO ในปัจจุบัน โดยลูกค้ากว่า 80% เป็นลูกค้าที่มีบ้านอยู่แล้ว ส่วนอีก 20% เป็นกลุ่มลูกค้าบ้านใหม่
นอกจากนั้นบริษัทยังมีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี รวมไปถึงการขายสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทเองเพื่อเพิ่มอัตรากำไรมากขึ้น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้ผลประกอบการของ HMPRO ยังเติบโต ได้อย่างสม่ำเสมอ
รายได้และกำไรของ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)
ปี 2560 รายได้ 64,234 ล้านบาท กำไร 4,886 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 66,049 ล้านบาท กำไร 5,612 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 67,423 ล้านบาท กำไร 6,177 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการล็อกดาวน์ในวิกฤติ COVID-19 ก็น่าจะกระทบผลประกอบการของ HMPRO ในปีนี้อยู่บ้าง แต่ในระยะยาว ผู้คนก็ยังต้องซื้ออุปกรณ์ตกแต่ง วัสดุก่อสร้างอยู่ดี โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ผู้คนต่างหันมาให้ความสนใจกับการตกแต่งบ้านให้น่าอยู่มากขึ้นในช่วง Work from Home
Cr. Homepro
ปัจจุบัน HMPRO มีมูลค่ากิจการสูงกว่า 206,000 ล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ในตลาดหลักทรัพย์
ที่น่าสนใจคือ HMPRO เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า ผู้ร่วมก่อตั้ง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ถ้าเราเอามูลค่ากิจการของ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) และ ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) มารวมกันจะมีมูลค่าประมาณ 115,000 ล้านบาท คิดเป็นเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่า HMPRO ในวันนี้เท่านั้นเอง..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหุ้นตัวนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
1
References
-บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค 2563
-แบบ 56-1 รายงานประจำปี 2562, บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)
โฆษณา