30 มิ.ย. 2020 เวลา 06:34 • การศึกษา
ปรับวิธีคิด พิชิตเป้าหมาย
ทำอย่างไรให้ไปถึงฝัน
1
เราเคยถามตัวเองหรือไม่ ว่าคนธรรมดา ๆ อย่างเราสามารถพัฒนาตัวเองให้เกิดแรงบันดาลใจ แล้วมีแรงจูงใจที่จะสร้างความสำเร็จให้ได้มากเท่ากับผู้ที่เขาประสบความสำเร็จแล้วในโลกนี้อย่าง บิล เกตส์ (Bill Gates) หรือ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ได้หรือไม่
จริงๆ แล้ว มนุษย์มีศักยภาพในตัวเองมากมาย แต่เรากลับไม่สามารถดึงศักยภาพที่มีทั้งหมดมาใช้ได้ อาจเป็นเพราะความไม่มั่นใจในตนเอง ความไม่ภูมิใจในตนเอง หรือไม่มีกำลังใจที่จะนำพาตนเองไปสู่ความสุขและความสำเร็จ แล้วเราควรทำอย่างไรที่จะชนะข้ามสิ่งเหล่านี้ไปได้
ความสำเร็จของแต่ละคนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก คือ “ตัวเรา” ส่วนปัจจัยภายนอกอย่างอื่น เช่น ผู้ใหญ่สนับสนุน ภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย อาจมีความสำคัญแต่ก็เป็นเพียงปัจจัยรอง ไม่เท่าความพร้อมของตัวเราเอง
วิธีการสร้างกำลังใจให้เกิดกับตนเอง
เรามาดูว่า วิธีการใดที่เราจะสามารถสร้างกำลังใจให้ตนเองจนประสบความสำเร็จในชีวิตได้
1. กำหนดเป้าหมายในชีวิต
สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ การตั้งเป้าหมายในชีวิต และมีความเชื่อที่ว่าเราสามารถเป็นได้มากกว่าปัจจุบัน ถ้าเราไม่มีเป้าหมาย ก็เหมือนเรือที่ไม่มีเข็มทิศ มุ่งหน้าไปโดยไม่ได้ปรับหางเสือเรือให้ตรงทิศทาง เรือจึงลอยไปเรื่อย ๆ ไร้จุดหมายปลายทาง
เพราะฉะนั้น ขยันอย่างเดียวไม่พอ เราต้องกำหนดเป้าหมายในชีวิตของตัวเองให้ชัดเจน ว่าเราต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดในชีวิต สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คืออะไร
2. มองทะลุถึงผลลัพธ์สุดท้าย
เราต้องมองทะลุไปให้ถึงผลลัพธ์สุดท้ายที่เราต้องการ ให้เห็นภาพสุดท้ายนั้นคืออะไร เช่น เป้าหมายของเราคือการลดนํ้าหนัก 10 กิโลกรัม ผลลัพธ์สุดท้ายที่เรามองทะลุไปถึง คือ เราจะมีสุขภาพที่แข็งแรง ร่างกายกระฉับกระเฉง ไปไหนมาไหนได้สะดวก ไปร้านเสื้อผ้าก็สามารถลองชุดได้อย่างมีความสุข เพราะมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นต้น
การมองให้ทะลุไปถึงผลลัพธ์สุดท้ายมีสำคัญ เพราะภาพสุดท้ายจะเป็นแรงจูงใจให้เราเดินไปได้ตลอดเส้นทาง เพราะฉะนั้น เราจำเป็นจะต้องมีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ไม่คลุมเครือ
ยกตัวอย่าง หากเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะรวย เพียงเท่านี้อาจจะคลุมเครือไป เราต้องสร้างความชัดเจนในเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เช่น เราจะหาเงินให้ได้ 3 แสนบาท เพื่อนำไปทำบุญ หรือเพื่อไปท่องเที่ยวช่วงวันหยุดพักร้อน หรือเพื่อขยายธุรกิจของตัวเอง เป็นต้น ซึ่งเราจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายต่าง ๆ ให้ชัดเจนได้ดีที่สุด ถ้าจุดมุ่งหมายชัดเจน และทำได้จริงก็จะนำเราไปสู่แผนปฏิบัติการอื่น ๆ ต่อไปได้
3. สร้างภาพสำเร็จให้เกิดขึ้น
การตั้งเป้าหมายโดยการสร้างภาพสำเร็จให้เกิดขึ้น ให้เราลองหลับตาแล้ววาดฝันมองให้เห็นภาพว่า ถ้าเราไปถึงผลลัพธ์สุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร พยายามสร้างความรู้สึกนี้ไปให้ทั่วร่างกาย ทำซํ้าแล้วซํ้าอีกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง นี่คือการสร้างภาพสำเร็จให้เกิดขึ้นก่อน แล้วความสำเร็จจริง ๆ จะตามมา ถือเป็นการตอกยํ้าเป้าหมายของเราให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้เรามีแรงเดินหน้าต่อไปนั่นเอง
4. บันทึกเป้าหมายเป็นตัวอักษร
บันทึกสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเป้าหมายในชีวิตออกมาเป็นตัวอักษร ด้วยการเขียนลงไปในหน้ากระดาษ การจดสิ่งที่เป็นความคิดลงไปในหน้ากระดาษทำให้เราได้ทบทวนเป้าหมายทุก ๆ วัน ใจเราก็จะจดจ่อถึงผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการ ไม่ว่าเราจะตั้งเป้าหมายอะไรไว้ก็ตาม ถ้าเราทำเป้าหมายสมมติขึ้นมา ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่มันจะมีความท้าทายตามมาเสมอ
เมื่อเขียนเป้าหมายของตัวเองเป็นตัวอักษรแล้ว ให้ติดไว้ในสถานที่ที่เรามองเห็นได้ทุกวัน เพื่อช่วยยํ้าเตือนให้เราขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้อย่างไม่ไขว้เขว เป้าหมายไม่เบี่ยงเบนไป ให้เราได้ตอกยํ้าอยู่เสมอว่า เป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร เราต้องการอะไร จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายนั้น
5. แตกเป้าหมายใหญ่ ๆ ออกเป็นลำดับขั้น
เพื่อไม่ให้เป้าหมายนั้นเป็นเพียงคำพูดลอย ๆ เราต้องจัดระบบเป้าหมายให้เริ่มเป็นจริงด้วยการระดมความคิดของตัวเอง แล้วแยกย่อยเป้าหมายออกเป็นข้อ ๆ เหมือนขั้นบันได เช่น ถ้าเราจะหาเงินให้ได้ 3 แสน เราควรเริ่มวางแผนจัดระบบความคิดว่าใน 1 สัปดาห์ เราจะสามารถทำงานหาเงินได้เท่าไร เราจะหาช่องทางสร้างรายได้เสริมด้วยวิธีการอย่างไร แต่ละช่องทางใช้เวลาเท่าไร ได้ผลตอบเท่าไร หรือเราควรลงทุนอะไรถึงจะได้ผลตอบแทนที่สามารถครอบคลุมสิ่งที่เราต้องการได้ และต้องไม่ลืมที่จะมองไปถึงรายจ่ายที่ไม่จำเป็นด้วย นี่คือการแตกเป้าหมายใหญ่ ๆ ออกเป็นขั้นบันได พร้อมกับเขียนทั้งหมดลงบนหน้ากระดาษ
6. วางแผนปฏิบัติการ
หลังจากที่เราได้แตกเป้าหมายใหญ่ ๆ ออกเป็นขั้นบันไดแล้ว ให้นำไปสู่ตัวของแผนปฏิบัติการ (Action Plan) คือการเขียนแผนรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ว่าเราจะทำอะไร ทำอย่างไร และลงมือทำเมื่อใด
7. ประเมินแผนปฏิบัติการทุกวัน
หมั่นประเมินแผนปฏิบัติการทุกวัน เพื่อจะได้รู้ว่าเราเข้าถึงหรือบรรลุแผนในขั้นนั้น ๆ แล้วหรือยัง ให้เราจดบันทึกความสำเร็จในส่วนของแผนการแต่ละขั้นไว้ ถ้ายังไม่บรรลุแผนขั้นใดก็ให้ประเมินว่าติดขัดตรงไหน แล้วปรับเปลี่ยนแผนตามความเหมาะสม เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้
8. สร้างบรรยากาศส่งเสริมกำลังใจ
ทุกการเดินทางมักจะมี “มารผจญ” หรือตัวขัดขวางความสำเร็จอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น เราจะต้องสร้างบรรยากาศส่งเสริมกำลังใจให้ตัวเอง ด้วยการอยู่ท่ามกลางคนที่ให้กำลังใจเรา เพื่อเราจะได้มุ่งมั่นเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้อย่างเต็มที่
ในขณะเดียวกันเราก็ต้องสร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นจากตัวเราเองด้วย บางคนใช้เทคนิคบอกกับตัวเองว่า “วันนี้ไม่ดี ไม่เป็นไร พรุ่งนี้จะต้องดีขึ้นกว่าเมื่อวาน แล้วดีขึ้นทุก ๆ วัน” นี่คือการสร้างความมุ่งมั่นให้แก่ตัวเอง และไม่ให้ใครมาทำลายกำลังใจเราได้ง่าย ๆ
9. ทำทุกอย่างด้วยความสนุกสนานท้าทาย
ให้ทำทุกอย่างอย่างสนุกสนานท้าทาย โดยเริ่มต้นจากเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จ และหัวเราะให้กับความล้มเหลว
ให้โอกาสตัวเองได้ใช้เวลาชื่นชมยินดีกับความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำทุกเรื่องให้เป็นเรื่องสนุกสนานท้าทาย เติมสีสันลงไประหว่างการเดินทางสู่เป้าหมาย เพื่อที่เราจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากสิ่งที่เราทำอยู่ทุก ๆ วัน และประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
10. มีความรับผิดชอบที่จะบรรลุเป้าหมาย
เมื่อเราเขียนความต้องการของตัวเองไว้แล้ว สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราเกิดความรับผิดชอบต่อความต้องการของตัวเองและบรรลุเป้าหมายได้ คือเราต้องตอกยํ้ากับตัวเองเสมอว่า “เราทำได้” ที่สำคัญเราจะต้องมีวินัยในตัวเอง มีความพยายาม และต้องเชื่อมั่นว่าเราทำได้ เราถึงจะประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
11. มองหาตัวช่วยให้ดี
เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เราจำเป็นจะต้องหาตัวช่วยที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการขอความช่วยเหลือ จากสมาชิกในครอบครัว ขอการสนับสนุนจากคนรอบข้าง และขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพในเรื่องที่เราไม่ถนัด เช่น ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ที่ปรึกษาด้านภาษา เป็นต้น
เราควรมองหากลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน ยกตัวอย่าง ถ้าเราต้องการบรรลุธรรมภายในพรรษานี้ เราควรหาตัวช่วยด้วยการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาใน Social Media หรือช่องทางใดก็ได้ หรือมองหากลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกัน และได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และมีการจดบันทึกอยู่เสมอ ๆ การกระทำในรูปแบบนี้ถือเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ที่จะทำให้เราไม่เบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้
12. คิดหาแนวทางใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์
คิดหาแนวทางใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสร้างสรรค์ แล้วเราจะพบว่า ตัวเรามีศักยภาพมากพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกได้
แนวทางที่คนอื่นเคยเดินมาก่อน เราทำได้อย่างมากก็แค่เดินไปตามเส้นทางนั้น แต่ถ้าเราสร้างแนวทางใหม่ ๆ เพื่อแข่งขันกับสิ่งที่ตลาดมีอยู่แล้ว เช่น หาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือ เปลี่ยนวิธีคิดต่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา เราก็ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร แต่แข่งขันกับตัวเอง
ยกตัวอย่าง มีคนสองคนนำรองเท้าไปขายที่ประเทศอินเดีย พอไปถึงเห็นคนอินเดียไม่มีใครใส่รองเท้าเลย คนที่หนึ่งบอกว่าขายไม่ได้แน่ จัดแจงขนรองเท้ากลับบ้าน แต่อีกคนหนึ่งกลับบอกว่า ที่นี่เป็นตลาดใหญ่มากเพราะยังไม่มีใครมีรองเท้าเลย ทุกคนมีโอกาสซื้อรองเท้าของเขาทั้งนั้น นี่เองถือว่า เป็นการคิดวางแผนหาแนวทางใหม่ ๆ
แม้แต่อุปกรณ์สื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จในการขาย ก็เกิดจากการคิดหาแนวทางใหม่ ๆ ที่ไม่เหมือนเดิมโดยสตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) คิดแบบผู้นำที่ไม่เชื่อผลการวิจัยตลาดของทีมวิจัย แต่เชื่อมั่นในตัวเองว่า เขารู้ว่าตลาดต้องการอะไร เพราะผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ยังไม่มีในท้องตลาด กลุ่มผู้บริโภคยังไม่รู้จัก ผู้บริโภคไม่เคยใช้เลยแล้วเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าตนจะชอบหรือไม่ชอบ คิดฉีกแบบผู้นำอย่างนี้ถึงจะประสบความสำเร็จ
13. ลงมือเดี๋ยวนี้
“Just do it” ก็แค่ทำมัน ลงมือเลย! เรานั่งวางแผนมาเป็นเดือนเป็นปีแล้ว ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ มันก็เป็นแค่แผนในหน้ากระดาษ
หากมีแผนการแล้ว แต่ทุกอย่างยังไม่มีความพร้อม 100% จงอย่าคาดหวังกับความพร้อมเต็มทั้ง 100% ที่สำคัญหากมองเห็นความเป็นไปได้ เราควรกล้าตัดสินใจที่จะเสี่ยง แล้วเริ่มกำจัดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น สำรวจว่าเรามีความเสี่ยงในการสูญเสียครั้งนี้มากแค่ไหน และเราสามารถรับความสูญเสียนั้น ๆ ได้หรือไม่ หากดูแล้วในกรณีแย่สุดเราพอรับได้ ก็ตัดสินใจทำอย่างกล้าหาญ โอกาสแห่งความสำเร็จถูกเปิดออกแล้ว เหลือเพียงอย่างเดียวคือ “การตัดสินใจทำ”
เจริญพร
โฆษณา