Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิรติ กีรติกานต์ชัย
•
ติดตาม
30 มิ.ย. 2020 เวลา 04:24 • การศึกษา
"ดวงดาวกับสุนทรภู่"
ดวงดาวในวรรณคดีไทย
หกเหลี่ยมฤดูหนาวเหนือสามพันโบก จ.อุบลราชธานี ภาพโดย คุณราชันย์ เหมือนชาติ
26 มิถุนายน "วันสุนทรภู่" เชคสเปียร์เมืองไทย
(บทความขนาดยาว)
UNESCO ได้ให้ยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม นับเป็นชาวไทยคนที่ 5 และเป็นสามัญชนชาวไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ ในปี 2529 สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ ได้จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือ "อนุสรณ์สุนทรภู่ 200 ปี" และมีการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้นเพื่อส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับการเผยแพร่ชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
(บทความฉบับปรับปรุงเพิ่มเติมครั้งที่ 4)
สุนทรภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
"พระอภัยมณีกับดวงดาว"
ดูโน่นแนะแม่อรุณรัศมี ตรงมือชี้"ดาวเต่า"นั่น"ดาวไถ"
โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย "ดาวลูกไก่"เคียงคู่เป็นหมู่กัน
องค์อรุณทูลถามพระเจ้าป้า ที่ตรงหน้า"ดาวไถ"ชื่อไรนั่น
นางบอกว่า"ดาวธง"อยู่ตรงนั้น ที่เคียงกันเป็นระนาวชื่อ"ดาวโลง"
แม้"ดาวกา"มาใกล้ในมนุษย์ จะม้วยมุดมรณาเป็นห่าโหง
ดาวดวงลำ"สำเภา"มีเสากระโดง สายระโยงระยางหางเสือดาว
นั่นแน่ แม่ดู"ดาวจระเข้" ศีรษะเร่หกหางขั้นกลางหาว
ดาวนิดพิศพายัพดูวับวาว เขาเรียก"ดาวยอดมหาจุฬามณี"
โน่น"ดาวคันชั่ง"ช่วงดวงสว่าง ที่พราวพร่างพรายงาม"ดาวหามผี”
หน่อนรินทร์สินสมุทรกับบุตรี เฝ้าเซ้าซี้ซักถามตามสงกา
พระชนนีชี้แจงให้แจ้งจิต อยู่ตามทิศทั่วไปในเวหา
ครั้นดึกด่วนชวนสองกุมารา เข้าห้องในไสยาในราตรี
ดาราศาสตร์ไทยโบราณได้รับอิทธิพลหลักมาจากอินเดีย ผ่านทางเขมร มอญซึ่งเป็นชนชาติใหญ่ในภูมิภาคนี้มาก่อน ผสมผสานกับพม่าและล้านนา ตกผลึกมาเป็นความรู้ ภูมิปัญญาโบราณนี้ได้นำดวงดาวใช้งาน ในการดำรงชีวิต ความเชื่อ วรรณกรรมและประกอบอาชีพ เป็นต้น
ด้วยภูมิปัญญาอันลึกล้ำนี้มีส่วนในการประกาศความเป็นอารยะของสยามประเทศ โดยพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ร.4 ได้ทรงแสดงการคำนวณสุริยุปราคาเต็มดวง Total Solar Eclispe ที่ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 18 สิงหาคม 2411 ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึงสองปี ว่าเส้นศูนย์กลางของสุริยุปปราคาจะผ่านมาใกล้ที่สุด ณ ตำบลหว้ากอ ตรงละติจูด 11 องศา 38 ลิปดาเหนือ และลองติจูด 99 องศา 39 ลิปดาตะวันออก สุริยุปราคาเต็มดวงจะเกิดขึ้นนานที่สุดอยู่ตรงเชิงเขาหลวง โดยที่พระองค์ทรงคำนวณขึ้นมาด้วยพระองค์เอง ไม่มีอยู่ในหลักฐานการคำนวณของหอดูดาวกรีนิช ฝ่ายการคำนวณของกรีนิซนั้นแสดงเฉพาะแนวศูนย์กลางของการพาดผ่านของเงามืดเพียงเส้นเดียว แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยากรณ์ว่าสุริยุปราคาครั้งนั้นจะเห็นมืดทั้งดวงตั้งแต่จังหวัดชุมพรถึงอ.ปราณบุรี นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งก็ได้ทำนายสุริยุปราคาคราวนี้ด้วยเช่นกัน แต่คำนวณคลาดเคลื่อนไปเวลา 2 นาที
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้ล่วงหน้าถึง 2 ปี โดยทรงเชิญ เซอร์ แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ มาเป็นประจักษ์พยาน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2411 บริเวณหว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์
การคำนวณสุริยุปราคาครั้งนี้มีส่วนทำให้ชาติตะวันตกที่มุ่งแสวงหาล่าอาณานิคมยอมรับในพระปรีชาสามารถของ ร.4 ประกอบกับกุศโลบายด้านการต่างประเทศทำให้ประเทศของเรายังคงเป็นเอกราชมาจนปัจจุบัน
สุริยุปราคาเต็มดวง ณ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411
การอ้างอิงกลุ่มดาวในกลอนสุนทรภู่บทนี้ อ้างอิงถึงกลุ่มดาวที่ปรากฏบนท้องฟ้า ณ เวลาที่สุนทรภู่กล่าวนำในบทแรก ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มดาวสากลในปัจจุบัน กลุ่มดาวในวรรณคดีกลุ่มหนึ่งอาจอยู่ในกลุ่มดาวสากลได้หลายกลุ่มดาว แต่ทั้งนี้ การใช้งานดวงดาวมาตั้งแต่โบราณเป็นภาพสะท้อนถึงภูมิปัญญาของปราชญ์ในอารยธรรมต่างๆ ด้วยให้เหตุผล การจดรวมรวมบันทึก การคิดเชื่อมโยง และการให้เหตุผล ส่งผลให้พัฒนาสู่องค์ความรู้สมัยใหม่ในทุกวันนี้
วรรณคดีตอนนี้กล่าวถึงพระอภัยมณีเดินทางด้วยเรืออุศเรน โดยนางสุวรรณมาลีได้สอนสินสมุทรและอรุณรัศมีในช่วงหัวค่ำไปจนถึงดึกส่งเด็กๆเข้านอน น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เห็นกลุ่มดาวนายพราน(ดาวเต่า ดาวไถ) ตอนหัวค่ำ นั่นควรจะเป็นระหว่างเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนปลายเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวนายพรานหรือดาวเต่าดาวไถเวลาหัวค่ำและกลุ่มดาวหมีใหญ่หรือดาวจระเข้ในช่วงดึกก่อนเที่ยงคืน โดยตีความว่าดาวส่วนใหญ่ที่สุนทรภู่ได้กล่าวถึงเป็นดาวที่ปรากฏในช่วงเวลาดังกล่าว
กลุ่มดาวนายพราน Orion หรือ ดาวเต่า โดยบริเวณเข็มขัดนายพรานที่เรียกว่า ดาวไถ ภาพโดย วิรติ กีรติกานต์ชัย
เริ่มต้นที่ ดาวเต่าและดาวไถที่คนไทยรู้จักกันดี ในชื่อสากลคือกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ซึ่งเป็นกลุ่มดาวฤดูหนาวที่เรียงเด่นสวยงามสังเกตได้ชัดเจน กลุ่มดาวนายพรานมีดาวไรเจลเป็นดาวสว่างที่สุด
แต่ดาวที่มีชื่อเสียงคือดาวบีเทลจุส ดาวยักษ์แดงซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสามดวงของดาวสามเหลี่ยมฤดูหนาว (คือดาวบีเทลจุส ดาวซิริอุส และดาวโปรซิออน) ดาวบีเทลจุสนี้เมื่อต้นปี 2563 เป็นที่ฮือฮาว่าหรี่แสง ลดความสว่างลงอย่างรวดเร็วจนหลายคนคาดว่าเป็นการเข้าสู่กระบวนการมหานวดาราหรือ Supernova ไม่นานนักบีเทลจุสก็กลับมาสว่างขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นที่มาของหลายทฤษฎีของการหรี่แสง ตั้งแต่การแปรแสงอย่างผิดปกติอันเนื่องจากการพาความร้อน Convection cell หรือเมฆก๊าซที่ควบแน่นกลายเป็นฝุ่นรวมกันอยู่สนับสนุนความคิดที่ว่าฝุ่นจากดาวมีผลต่อการหรี่แสงทำให้ดาวก็หรี่ลงอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่อาจสรุปได้ สุดท้ายเรื่องการหรี่แสงนี้ ก็ยังต้องศึกษาค้นคว้า เก็บข้อมูลเพิ่มกันต่อไป
แผนที่กลุ่มดาวนายพราน Orion Map : Source - IAU
เราสามารถใช้กลุ่มดาวนายพรานสำหรับการชี้ดาวต่างๆ ได้มากมาย เช่น ลากจากดาวอัลนิลัม ไป ดาวเมสสา จะชี้ตรงทิศเหนือ ใต้กลุ่มดาวนายพรานเป็นกลุ่มดาวกระต่ายป่า ดาวไรเจลอยู่ติดกับกลุ่มดาวแม่น้ำที่มีดาวอะเคอร์นาเป็นดาวเด่น (ไม่ได้อยู่ติดกัน) เข็มขัดนายพรานชี้ไปที่ดาวตาวัว (Aldebaran) และถ้าลากจากไรเจลผ่านบีเทลจุสจะได้ดาวคาสเตอร์ เป็นต้น
เราใช้กลุ่มดาวนายพรานหรือสามารถใช้บอกทิศมานับแต่โบราณ จะขึ้นทางทิศตะวันออกในช่วงต้นฤดูหนาวและตกทางทิศตะวันตกในช่วงปลายฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ
ถัดมาดาวธง ก็คือ กลุ่มดาวราศีพฤษก หรือดาววัวนั่นเอง โดยเฉพาะตรงหน้าวัว ซึ่งมีลักษณะเหมือนธงสามเหลี่ยม ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวนี้ คือ ดาวอัลดีบาแรน หรือดาวโรหิณี ดาวลูกไก่ หรือกระจุกดาวลูกไก่ Pleiades ที่เรารู้จักกันดี และยังมีกระจุกดาวฮายเอเดส ( Hyades ) ก็อยู่ในกลุ่มดาวนี้ด้วย นอกจากนี้ ดาวอาชาไนย กลุ่มนี้น่าจะกล่าวถึงกลุ่มดาวมาที่อยู่ข้างๆดาวธง โดยดาว Aldebaran หรือดาวโรหิณี จะเป็นส่วนจมูกของดาวม้า
กลุ่มดาววัว Taurus เป็นกลุ่มดาวจักรราศี ประจำเดือนพฤษภาคม ประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้าน่าสนใจ เช่น กระจุกดาวลูกไก่ M45 , เนบิวลาปู M1, ดาวโรหิณี หรือ ดาวอัลเดลบาแรนและกระจุกดาวฮายเอเดส ( Hyades )
ดาวสำเภาหรือดาวเรือไชย อ้างอิงจากตำราของหลวงสวัสดิสารศาสตร์พุทธิ และหลวงวิศาลดรุณกร ปราชญ์ทางด้านดาราศาสตร์ไทยโบราณและนักโหราศาสตร์ไทยน่าจะหมายถึงดาวแคสเตอร์ ดาวพอลลักซ์ในกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) และดาวโปรซิยอน (Procyon) ในกลุ่มดาวหมาเล็ก Minor Carnis ทางฮินดูเรียกว่า ปุนัพสุ หรือ ปุนวรสุ อยู่ระหว่างราศีเมถุน กับราศีกรกฏ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวสะเพลา(สำเภา) ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ดาวเรือชัย หรือ ดาวสำเภา ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 6 ดวง เรียงกันเป็นรูปโค้งท้องเรือ ( บางตำราว่า 3 ดวง ) ถือเป็นดาวประจำเมืองทะโค่ง ( เมืองร่างกุ้ง )
กลุ่มดาวคนคู่ หรือ กลุ่มดาวมิถุน/เมถุน เป็นกลุ่มดาวหนึ่งในกลุ่มดาวจักรราศี อยู่ระหว่างกลุ่มดาววัวทางทิศตะวันตก กับกลุ่มดาวปูทางทิศตะวันออก ทางทิศเหนือ คือ กลุ่มดาวสารถีและกลุ่มดาวแมวป่าที่แทบจะมองไม่เห็น ทางทิศใต้ คือ กลุ่มดาวยูนิคอร์นและกลุ่มดาวหมาเล็ก
ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวปุนพสุ คือ ดาว Beta-Gemini ในกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) คนไทยเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า ดาว”โลงศพ” ดาวดวงนี้เป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างปรากฏเป็นอันดับแรกของกลุ่มดาวนี้ และเป็นอันดับที่ 17 ของบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดที่ปรากฏบนท้องฟ้า มีสีเหลือง มีชื่อเฉพาะว่า “ พอลลักซ์ ( Pollux ) “ มาจากภาษากรีกว่า “ Polluces “ หรือ “ Polledeuces “ มีความหมายว่า “ นักมวย “ หรือ “ นักต่อสู้ “
ฝนดาวตกคนคู่ Geminids meteor shower มีชื่อเรียกตามกลุ่มดาวพื้นหลังคือกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกคือสายธารของสะเก็ดดาวที่มีต้นกำเนิดจากดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยโคจรผ่านเส้นทางโคจรของโลก ภาพโดย วิรติ กีรติกานต์ชัย
โดยไม่น่าจะหมายถึงกลุ่มดาวเรืออาร์โกในฟ้าใต้ซึ่งไม่ปรากฏขณะในช่วงเวลาที่วรรณกรรมได้กล่าวถึง เพราะนางสุวรรณมาลีได้นำเด็กๆทั้งสองเข้านอนในเวลาดึกซึ่งตีความได้ว่าไม่น่าจะเป็นช่วงก่อนเที่ยงคืน ในขณะที่กลุ่มดาวเรืออาร์โก(ซึ่งปัจจุบันคือ กลุ่มดาวกระดูกงูเรือ (Carina) กลุ่มดาวท้ายเรือ (Puppis) กลุ่มดาวเข็มทิศ (Pyx) และกลุ่มดาวใบเรือ (Vela) )
กลุ่มดาวเรือโบราณอาร์โก ปัจจุบันแบ่งออกเป็นสี่กลุ่มดาวย่อยในท้องฟ้าทิศใต้
ส่วนดาวโลงและดาวกา เป็นดาวที่อยู่ในกลุ่มดาวราศีมิถุน หรือกลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาวนี้อยู่บริเวณใกล้ๆกลุ่มดาวนายพราน ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหกเหลี่ยมฤดูหนาว ตรงตามบริบทที่สุนทรภู่ได้กล่าวไว้ในบทแรก กลุ่มดาวคนคู่เป็นหนึ่งในกลุ่มดาวจักรราศี ที่ดาวอาทิตย์เคลื่อนผ่านใน 1 รอบปี โดยดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ช่วงระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน ถึง 21 กรกฎาคม กลุ่มดาวคนคู่นี้ยังเป็นกลุ่มดาวที่มีความเก่าแก่มากที่สุดอีกกลุ่มดาวหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มผู้คนที่ศึกษาท้องฟ้าในอินเดียโบราณ และองค์ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์นี้ยังได้แพร่กระจายไปตามที่ต่าง ๆ เช่น บาบิโลน อัคคาเดียน และกลุ่มดาวนี้ยังปรากฏในบัญชีรายชื่อกลุ่มดาวของปโตเลมีทั้ง 48 กลุ่มดาว ในปัจจุบันกลุ่มดาวคนคู่ยังคงเป็นหนึ่งในกลุ่มดาว 88 กลุ่ม ที่ทางสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลกำหนดไว้เพื่อความสะดวกในการศึกษางานด้านดาราศาสตร์ และใช้เป็นกลุ่มดาวมาตรฐานเพื่อในการสื่อความหมายให้ตรงกันทั่วโลก ชื่อของกลุ่มดาวคนคู่ ที่ใช้กันในปัจจุบันนี้เป็นภาษาละตินมีความหมายว่า “ฝาแฝด” ซึ่งยังมีความเกี่ยวข้องกับฝาแฝดในตำนานเทพเจ้าของกรีก คือ คาสเตอร์ (Caster) กับพอลลักซ์ (Pollux) - อ่านเพิ่มได้ที่
http://old.narit.or.th/index.php/astro-corner/1071
ภาพจากแผนที่ดาวแสดงหกเหลี่ยมฤดูหนาวและกลุ่มดาวหมีใหญ่
แต่หากเราค้นคว้าต่อไปอีกจะพบชื่อดาวโลง ดาวหามผีว่า มีกล่าวไว้ในตำราดูดาวล้านนาว่าอยู่ในกลุ่มดาว “สราวณะ” อยู่ในราศีมกร ซึ่งคือ กลุ่มดาวนกอินทรีย์ Aquilaในชื่อ ดาวคานหามผี แต่ในแผนที่ตารางดาวล้านนาระบุชื่อว่า ดาวขอไล่ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ดวงเรียงกันเป็นรูปเหมือนศอกคู้ ซึ่งในภาษาไทยกลางเรียกชื่อว่า ดาวหลักชัย ดาวหามผี ดาวโลง ดาวคนหามหมู ดาวคนจำศีล ดาวฤาษี ดาวหลักชัยฤาษี และ ถือเป็นดาวประจำเมืองอักโขเพณี ( ไม่ทราบว่าตรงกับเมืองใด ) ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวสราวณะ คือ ดาว “ Alpha-Aquilae “ ในกลุ่มดาวนกอินทรี ( Aquila ) ซึ่งอยู่ติดกับกลุ่มดาวราศีมกร ( Capricornus ) ดาวดวงนี้มีชื่อเฉพาะว่า “ อัลแทร์ ( Altair ) “ มีตำแหน่งอยู่บริเวณที่เป็น “ ตานกอินทรี “ มีความสว่างปรากฏมากที่สุดในกลุ่มดาวนี้ และเป็นลำดับที่ 12 ของดาวฤกษ์ทั้งหมด ดาว “Alpha-Aquilae “ เป็นดาวสีขาว มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 1.5 เท่า มีความสว่สัมบูรณ์มากกว่าดวงอาทิตย์ 9 เท่า และอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 16 ปีแสง หรือ 151 ล้านล้านกิโลเมตร จัดเป็นดาวฤกษ์สว่างที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะของเรา
ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในภาพคือดาวอัลแตร์ Altair สว่างเป็นอันดับที่ 12 ในท้องฟ้ายามค่ำคืน Source : Astropixel
เมื่อพิจารณาช่วงเวลาและทิศของกลุ่มดาว ดาวโลงและดาวกาตามในบริบทที่สุนทรภู่ที่กล่าวถึงน่าจะเป็นดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวคนคู่มากกว่าดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวนกอินทรี เนื่องจากในช่วงเวลาตามท้องเรื่องซึ่งน่าจะเป็นฤดูหนาวคือปลายเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ กลุ่มดาวนกอินทรีจะตกลับขอบฟ้าตั้งแต่ช่วงเวลาไล่เรี่ยกับดวงอาทิตย์
ดาวจระเข้ หรือ กลุ่มดาวหมีใหญ่ Ursa Major / Big Dipper
ดาวจระเข้ หรือ กลุ่มดาวหมีใหญ่ Ursa Major / Big Dipper เป็นกลุ่มดาวขนาดใหญ่ เห็นได้ชัดเจนมีกล่าวไว้และนำไปใช้งาแทบทุกอารยธรรม สำหรับคนไทยใช้กลุ่มดาวจระเข้เป็นกลุ่มดาวในการบอกเวลาได้ เช่น ถ้าเห็นดาวจระเข้อยู่กลางท้องฟ้า เมื่อเริ่มมืด (ราวปลายเดือนมิถุนายน) แสดงว่าเป็นช่วงเวลาเพาะปลูก เข้าสู่ฤดูฝน ชาวนาเริ่มดำนา ชาวไร่ปลูกพืชไร่ ในเดือนกรกฎาคมก็จะเป็นช่วงเข้าพรรษา ถัดมาอีกราวสามเดือนเศษ ในช่วงออกพรรษา ดาวจระเข้หรือกลุ่มดาวหมีใหญ่จะขึ้นตอนเช้ามืด ให้เราสังเกตเห็นได้ชัดเจน การทอดกฐินของไทยเราในสมัยก่อน เคลื่อนองค์กฐินกันตั้งแต่ก่อนสว่าง อาศัยดูเวลาจากดาวจระเข้ ปัจจุบันเมื่อถึงฤดูกฐินจึงเห็นธงรูปจระเข้ นัยหนึ่งอาจสอดคล้องคล้องกับธงรูปจระเข้ปักอยู่พร้อมกับธงรูปสัตว์อื่นได้แก่ ตะขาบ มัจฉาและเต่า ส่วนอีกนัยหนึ่งธงทั้งสี่เป็นปริศนาธรรมหมายถึง โลภะ โทสะ โมหะที่ควรระลึกและละเว้น
ปริศนาธรรมของธงกฐิน อ่านเพิ่มเติม http://dcd.mcu.ac.th/?p=1730
กลุ่มดาวจระเข้นี้ แต่ละอารยธรรมต่างก็เห็นแตกต่างกันออกไป เช่นชาวบาบิโลเนียน เห็นคล้ายรถเข็นให้เด็กนั่ง ชาวอียิปต์เห็นคล้ายขาหลังข้างซ้ายของวัว ชาวสเปนเห็นคล้ายเขาสัตว์สำหรับเป่า ชาวญี่ปุ่นเห็นคล้ายราชรถ ชาวอินเดียแดงเห็นคล้ายเรือบรรทุกของชาวอาหรับเห็นคล้ายล้อเลื่อน บรรทุกของ ชาวอิหร่านและชาวอังกฤษเห็นเป็นคันไถ ส่วนชาวจีนและ ชาวยุโรปอเมริกาทั่วๆ ไปเห็นคล้าย กระบวย ชาวกรีก ชาวคาลเดียนเห็น เป็น หมีใหญ่ สำหรับคนไทยทั่ว ๆ ไปเห็นเป็นจระเข้
เราสามารถใช้ดาวหมีใหญ่หรือดาวจระเข้หาดาวเหนือ Polaris ในกลุ่มดาวหมีเล็กเพื่อหาทิศเหนือหรือนักดาราศาสตร์ใช้เพื่อห้าตำแหน่งขั้วฟ้าเหนือในการทำ Polar aignment ให้กับชุดตามดาวสำหรับการถ่ายภาพดาราศาสตร์ได้ โดยมองหาส่วนของขาหน้าสองขาของจระเข้หรือหมีใหญ่ตัวแม่ มีดาวฤกษ์สว่างสองดวงชื่อ Merak กับ Dubhe ให้ลากเส้นตรงผ่านดาวทั้งสองมาที่ตำแหน่งของดาวสูงจากขอบฟ้าเท่ากับละติจูดที่ผู้สังเกตอยู่ ดาวสว่างเล็กๆดวงหนึ่งดวงนั้นคือดาวเหนือในปัจจุบัน คือ Polaris นั่นเอง (เนื่องจากแกนของโลกจะหมุนและแกว่งไปพร้อมๆกัน โดยมีคาบประมาณ 26,000 ปี จึงทำให้แกนขั้วฟ้าเปลี่ยนตำแหน่งกวาดไปชี้ที่ดาวฤกษ์ดวงอื่นๆ เป็นดาวเหนือแทนดาวโพลาริส นั่นคือดาวเหนือดวงต่อไปในอนาคตจะเป็นดาวทูบาน ในกลุ่มดาวมังกร Drago และดาวเวก้า ในกลุ่มดาวพิณ Lyra แล้วแกนขั้วฟ้าก็จะวนกลับมากลุ่มดาวหมีเล็ก Ursa Minor ในที่สุด
เราใช้ดาวจระเข้หรือกลุ่มดาวหมีใหญ่หาดาวเหนือได้ Source : Earthsky.org
นอกจากนี้กลอนบทนี้ กล่าวถึง ดาวฤกษ์สว่างดวงหนึ่ง เรียก “ ดาวยอดมหาจุฬามณี “ หรือ ดาวดวงแก้ว หรือดาวอาร์คตุรุส ( Arcturus ) หรือดาวอัลฟา บูตีส ( Alpha Bootis ) ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ซึ่งสว่างเป็นอันดับที่ 4 ในท้องฟ้ายามค่ำคืน ดาวดวงแก้ว คือดาวฤกษ์สว่างที่สุดในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ มีค่าความส่องสว่างปรากฏเท่ากับ -0.05 ถือเป็นดาวสว่างที่สุดลำดับที่ 3 บนท้องฟ้ายามราตรี (รองจากดาวซิริอุสและดาวคาโนปุส) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับดาวคู่แอลฟาคนครึ่งม้าอาจจะดูจางแสงกว่า เพราะดาวคู่แอลฟาคนครึ่งม้าทั้ง 2 ดวงอยู่ใกล้กันมากจนดูด้วยตาเปล่าเสมือนเป็นดาวดวงเดียวกัน ดังนั้นดาวดวงแก้วอาจถือเป็นดาวฤกษ์สว่างลำดับที่ 4 บนท้องฟ้าก็ได้ ดาวดวงแก้วยังอยู่ในเมฆระหว่างดาวท้องถิ่นด้วยการค้นหาดาวดวงแก้วอย่างง่าย ๆ คือลากเส้นจากแนวคันไถตรงออกไป หากลากตรงออกไปอีกก็จะเจอดาวสไปกา (แอลฟาหญิงสาว) ในกลุ่มดาวหญิงสาว VIrgo นั่นเอง
กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ Bootes
ส่วนกลุ่มดาวคันชั่ง Lybra น่าจะตรงตัวตามดาราศาสตร์ไทยและเป็นกลุ่มดาวนักษัตร ตรงกับกลุ่มดาวจักรราศี คือราศีตุลย์ ซึ่งมีดาว 4 ดวง วางตัวคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มองดูคล้ายคันชั่งเป็นกลุ่มดาวท้ายสุด เนื่องจากกลุ่มดาวนี้มีพิกัดเกือบตรงข้ามกับดาวเต่า(นายพราน) โดยกลุ่มดาวจะขึ้นพ้นขอบฟ้าหลังเที่ยงคืน ในฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ หลังจากที่เราสังเกตเห็นกลุ่มดาวนายพรานและกลุ่มดาวในหกเหลี่ยมฤดูร้อน(ดาวเต่า ดาวธง ดาวไถ ฯลฯ) ได้ชัดเจนในช่วงก่อนเที่ยงคืนนั้นเอง
กลุ่มดาวคันชั่ง Libra ระหว่างกลุ่มดาวครึ่งคนครึ่งม้า Centaurus กับ กลุ่มดาวแมงป่อง Scorpius
ขณะที่ บางแห่งตีความว่าเป็นกลุ่มดาวครึ่งคนครึ่งม้า Centaurus ในฟ้าใต้ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ในอีกทางหนึ่ง หากพิจารณาเฉพาะช่วงเวลาขึ้นของกลุ่มดาวนั้น ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวคันชั่ง
กลุ่มดาวครึ่งคนครึ่งม้า Centaurus
สุนทรภู่นับเป็นปราชญ์ในหลายด้าน เมื่อพิจารณาจากผลงานต่างๆ ของสุนทรภู่ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนนิราศหรือกลอนนิยาย สุนทรภู่มักแทรกสุภาษิต คำพังเพย คำเปรียบเทียบต่างๆ ทำให้ทราบว่าสุนทรภู่นี้ได้อ่านหนังสือมามาก จนสามารถนำเรื่องราวต่างๆ ที่ตนทราบมาแทรกเข้าไปในผลงานได้อย่างแนบเนียน เนื้อหาหลายส่วนในงานเขียนเรื่อง พระอภัยมณี ทำให้ทราบว่า สุนทรภู่มีความรอบรู้แตกฉานในสมุดภาพไตรภูมิ ทั้งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่นำมาดัดแปลงประดิษฐ์เข้าไว้ในท้องเรื่อง เช่น การเรียกชื่อปลาทะเลแปลกๆ และการกล่าวถึงตราพระราหู นอกจากนี้ยังมีความรอบรู้ในวรรณคดีประเทศต่างๆ เช่น จีน อาหรับ แขก ไทย ชวา เป็นต้นนักวิชาการโดยมากเห็นพ้องกันว่า สุนทรภู่ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีจีนเรื่อง ไซ่ฮั่น สามก๊ก วรรณคดีอาหรับ เช่น อาหรับราตรี รวมถึงเกร็ดคัมภีร์ไบเบิล เรื่องของหมอสอนศาสนา ตำนานเมืองแอตแลนติส ซึ่งสะท้อนให้เห็นอิทธิพลเหล่านี้อยู่ในผลงานเรื่อง พระอภัยมณี มากที่สุด
เส้นแสงดาว ณ เกาะเสม็ด ภาพโดย วิรติ กีรติกานต์ชัย
สุนทรภู่ยังมีความรู้ด้านดาราศาสตร์ หรือการดูดาว โดยที่สัมพันธ์กับความรู้ด้านโหราศาสตร์ ด้วยปรากฏว่าสุนทรภู่เอ่ยถึงชื่อดวงดาวต่างๆ ด้วยภาษาโหร เช่น ดาวเรือไชยหรือดาวสำเภาทอง ดาวธง ดาวโลง ดาวกา ดาวหามผี ทั้งยังบรรยายถึงคำทำนายตามความเชื่อโบราณ เช่น "แม้นดาวกามาใกล้ในมนุษย์ จะม้วยมุดมรณาเป็นห่าโหง" ดังนี้เป็นต้น
การที่สุนทรภู่มีความรอบรู้มากมายและรอบด้านเช่นนี้ สันนิษฐานว่าสุนทรภู่น่าจะสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านเอกสารสำคัญซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนค่อนข้างน้อยเนื่องจากเป็นช่วงหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาไม่นาน ทั้งนี้เนื่องมาจากตำแหน่งหน้าที่การงานของสุนทรภู่นั่นเอง นอกจากนี้การที่สุนทรภู่มีแนวคิดสมัยใหม่แบบตะวันตก จนได้สมญาว่าเป็น "มหากวีกระฎุมพี" ย่อมมีความเป็นไปได้ที่สุนทรภู่ซึ่งมีพื้นอุปนิสัยใจคอกว้างขวางชอบคบคนมาก น่าจะได้รู้จักมักจี่กับชาวต่างประเทศและพ่อค้าชาวตะวันตก ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ เห็นว่าบางทีสุนทรภู่อาจจะพูดภาษาอังกฤษได้ก็เป็นได้ อันเป็นที่มาของการที่พระอภัยมณีและสินสมุทรสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา รวมถึงเรื่องราวโพ้นทะเลและชื่อดินแดนต่างๆ ที่เหล่านักเดินเรือน่าจะเล่าให้สุนทรภู่ฟัง
แสงทไวไลต์ในยามเช้า ณ เกาะเสม็ด ภาพโดย วิรติ กีรติกานต์ชัย
แต่ไม่ว่าสุนทรภู่จะได้รับข้อมูลโพ้นทะเลจากเหล่าสหายของเขาหรือไม่ สุนทรภู่ก็ยังพรรณนาถึงเรื่องล้ำยุคล้ำสมัยมากมายที่แสดงถึงจินตนาการของเขาเอง อันเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ปรากฏหรือสำเร็จขึ้นในยุคสมัยนั้น เช่น ในผลงานเรื่อง พระอภัยมณี มีเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่สามารถปลูกตึกปลูกสวนไว้บนเรือได้ นางละเวงมีหีบเสียงที่เล่นได้เอง (ด้วยไฟฟ้า) หรือเรือสะเทินน้ำสะเทินบกของพราหมณ์โมรา สุนทรภู่ได้รับยกย่องว่าเป็นจินตกวีที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งแห่งยุคสมัย -อ่านเพิ่มที่
https://sites.google.com/site/tidarat6984/tn-mi-1
การศึกษาดาราศาสตร์จากวรรณคดีทำให้เราได้ใช้ความคิดในเชิงเหตุผล ได้สังเกตค้นคว้า เปรียบเทียบ ศึกษาความเป็นไปได้ นำไปสู่ความเข้าใจในวรรณคดีได้ลึกซึ่งมากขึ้น จนกล่าวได้ว่าวรรณคดีให้ทั้งความงดงาม สุนทรียภาพและภูมิปัญญา ส่งต่อส่งทอดมาจนเป็นความก้าวหน้าในเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างในทุกวันนี้
ชวนกันอ่านวรรณคดีและดูดาวกันให้สนุก
ฤดูฝนฟ้าก็ไม่ได้ปิดทั้งคืนนะ
เมฆมาก็ดูเมฆ ฝนมาให้ปลูกป่ากันครับ ...
ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ
อจ.โอ
https://www.facebook.com/wirati
สนใจร่วมกิจกรรมทางดาราศาสตร์ทั้งสังเกตการณ์-ถ่ายภาพได้ที่ชมรมคนรักในดวงดาวได้ตามลิ้งนี้ครับ
เพจ :
https://www.facebook.com/starrynightloverclub/
กลุ่ม :
https://www.facebook.com/groups/starrynightlover/
นำสมาชิกชมรมคนรักในดวงดาว เยี่ยมโรงเรียนเรือนแพ อ.ลี้ จ.ลำพูน มอบสื่อการเรียนการสอน ทุนการศึกษา-กิจกรรม (ม.ค.2563)
ผู้เรียบเรียง
นายวิรติ กีรติกานต์ชัย
นักวิชาการอิสระด้านดาราศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
ผู้ประสานงานชมรมคนรักในดวงดาว
ผู้อำนวยการโรงเรียนเอกปัญญา
ฑูตสะเต็ม สสวท. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ
Expert Account :
Pantip.com
Etc.
ทางช้างเผือก ณ นาขั้นบันได บ้านป่าบงเปียง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
3 บันทึก
11
11
8
3
11
11
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย