30 มิ.ย. 2020 เวลา 06:11 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Deepfakes จากวิดีโอขำขัน สู่ภัยคุกคามระดับโลก
การพยายามสร้างผลงานโดยการลอกเลียนแบบตัวตนของบุคคล เราคงเคยเห็นผ่านตามาบ้างตามงานศิลปะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพเหมือนของจิตรกร การปั้นดินเหนียวรูปมนุษย์ หรือแม้แต่ผลงานหุ่นขี้ผึ้งของมาดามทุสโซ โดยการสร้างดังกล่าวเป็นเพียงการจำลองความเหมือนของรูปลักษณ์ภายนอกให้อยู่ในกรอบที่จำกัด ไม่ได้แสดงท่าทางเคลื่อนไหว รวมไปถึงการพูดเพื่อให้เกิดการปฎิสัมพันธ์ใดใด จึงเป็นเรื่องง่ายที่มนุษย์อย่างเราจะสามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนจริง อันไหนจำลองขึ้น
ผิดกับ Deepfakes ที่ไม่เพียงสร้างความเข้าใจผิดในเรื่องของรูปลักษณ์ แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงการบิดเบือนข้อมูลจนนำไปสู่ความโกลาหล อีกทั้งตัวมนุษย์เองยังต้องใช้ระยะเวลาที่นานพอสมควรกว่าจะรับรู้ได้ว่านี่ไม่ใช่ตัวจริง ข้อมูลที่สื่อสารอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องจริง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถแยกแยะสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเด็ดขาด กว่าจะรู้ตัวผลกระทบที่เกิดขึ้นก็อาจจะบานปลายเกินควบคุม
credit:timeforkids
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ Deepfakes ว่าคืออะไร จุดเริ่มต้นการใช้เทคโนโลยีนี้มาจากไหน ทำไมเทคโนโลยีนี้ที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงเรื่องขำขัน กลับสามารถสร้างแรงกดดันถึงขั้น Google , Twitter , Facebook รวมถึงองค์กรเจ้าใหญ่อื่น ๆ ต้องลงมาจัดการควบคุมเรื่องนี้ด้วยตัวเอง เราจะมาหาคำตอบกันในบทความนี้
จุดกำเนิด Deepfakes
คำว่า Deepfakes นั้นถูกนำมาใช้จำกัดความให้กับวิดีโอที่ถูกปลอมขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยี A.I. ซึ่งคำจำกัดความนี้เกิดจากการผสานรวมกันสองคำระหว่างคำว่า “Deep” ซึ่งหมายถึง “Deep Learning” หนึ่งในรูปแบบการทำงานของ A.I. ที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันเพื่อใช้ในการแยกแยะข้อมูลที่ซับซ้อนให้แม่นยำขึ้นกว่าวิธีการปกติ เช่น การแยกแยะภาพนิ่งตามอัตลักษณ์ , การแยกแยะบุคคลในวิดีโอ , การจำแนกเสียงของตัวบุคคล , การวิเคราะห์โรคทางการแพทย์ต่าง ๆ ฯลฯ และ “Fake” ที่แปลว่าปลอมนั่นเอง โดยการปลอมที่ว่ามีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการนำใบหน้าบุคคลไปซ้อนทับแทนที่บนตัวของบุคคลจริง จนไปถึงการสวมบทบาทเป็นบุคคลในวิดีโอนั้น ซึ่งเรากำลังจะได้ชมผ่านวิดีโอต่อไปนี้
จากวิดีโอจะเห็นได้ว่าการลอกเลียนแบบไม่ได้เป็นรูปแบบที่เราสามารถแยกแยะออกได้ในทันที เพราะแม้แต่ภาพการขยับอวัยวะต่างๆ บนใบหน้า รวมถึงเสียงมีความคล้ายคลึงกับต้นฉบับ หากมิใช่คนใกล้ชิดบุคคลในวิดีโอ หรือสนิทสนมแล้วล่ะก็ บุคคลทั่วไปแทบจะไม่สามรถแยกได้เลยว่าข้อมูลที่พูดออกมาเป็นของปลอม
จากรายงาน The State of Deepfakes : Reality Under Attack ที่ถูกรวบรวมโดย Deeptrace Labs ได้เรียบเรียงต้นกำเนิดของ Deepfakes ไว้ เราจะมาทำการสรุปให้ฟังคร่าว ๆ ว่าจุดเริ่มต้นมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง
ปี 2012 มีการแข่งขันการจำแนกรูปภาพโดยใช้ชุดข้อมูลที่ชื่อว่า ImageNet ที่รวบรวมข้อมูลรูปภาพพร้อมเฉลยว่ารูปภาพนั้นคืออะไร ไว้มากกว่า 1,500,000 ภาพ ซึ่งในการแข่งขันครั้งนั้นอัลกอริทึม Deep Learning ได้ถูกนำมาใช้ และเอาชนะอัลกอริทึมเดิม ๆ ไปอย่างขาดลอย นับว่าเป็นยุคกำเนิด Deep Learning ตั้งแต่นั้นมา
ปี 2016 กลุ่มนักวิจัยด้านคอมพิวเตอร์วิทัศน์ได้เผยแพร่ผลงานงานวิจัยชื่อว่า Face2Face เป็นการจับเอาท่าทีการแสดงสีหน้าของใครก็ได้ แล้วนำไปซ้อนทับใส่ในวิดีโอเพื่อเปลี่ยนริมฝีปากและการแสดงสีหน้าของคนในวิดีโอนั้น ซึ่งการประมวลผลการซ้อนทับสามารถประมวลผลได้แบบเรียลไทม์ (Real-time Processing) แต่ยังทำได้เพียงการประมวลผลภาพ ไม่สามารถปลอมเสียงได้
ปี 2017 มหาวิทยาลัยวอชิงตันได้เผยแพร่ผลงานวิจัย Synthesizing Obama: Learning Lip Sync from Audio ที่เกี่ยวกับการปลอมการขยับใบหน้าและริมฝีปากจากเสียง โดยรูปแบบแตกต่างจาก Face2Face เพราะต้องใช้คนจริงด้านนอกเป็นตัวแปรตั้งต้น แต่สำหรับ Learning Lip Sync ตัวแปรต้นเป็นแหล่งกำเนิดเสียงพูดจากแหล่งใดก็ได้ เมื่อป้อนเข้าไปภาพเคลื่อนก็จะขยับตามคำพูดที่ถูกป้อนทันที
ในช่วงเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกันนั้นเอง ผู้ใช้ reddit นิรนามที่ใช้ชื่อว่า “deepfakes” ได้สร้าง subreddit ภายใต้หัวข้อ “r/deepfakes” เพื่อใช้ในการแชร์วิดีโอผู้ใหญ่โดยนักแสดงถูกเปลี่ยนใบหน้าให้เป็นหน้าของดารา หรือคนดังแทนที่ตัวจริง และวิดีโอดังกล่าวก็ถูกแพร่กระจายลงเว็บไซต์สำหรับชมหนังผู้ใหญ่อย่างรวดเร็ว ซึ่งต่อมาไม่นาน Motherboard (Vice) เว็บไซต์นิตยสารเทคโนโลยีและสื่อวิดีโอออนไลน์ เป็นสื่อรายแรกที่เล่นเรื่องของ r/deepfakes ทำให้ตลอดปี 2018 Deepfakes กลายเป็นที่กล่าวถึงกว่าร้อยบทความผ่านสื่ออื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น The New York Times ,Washington Post ,The Guardian,The Economist , The Time และ BBC
ปี 2018 การขยายตัวของ Deepfakes ยังคงโตอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างแอพลิเคชัน FakeApp ที่ทำงานบนเดสก์ท็อป โดยบุคคลทั่วไปสามารถสร้างวิดีโอปลอมขึ้นได้เองด้วยวิธีการที่แสนง่าย รวมถึงหลายเว็บไซต์เริ่มเปิดให้มีการลงผลงานวิดีโอที่เกิดจาก Deepfakes ได้อย่างอิสระพร้อมทั้งเปิดให้ผู้ใช้งานอื่น ๆ สามารถโดเนท (Donations) ให้กับวิดีโอนั้นได้
การขยายตัวข้างต้นส่งผลให้หลายแพลตฟอร์มเริ่มเล็งเห็นอันตรายที่กำลังจะมา และไม่เห็นด้วยกับการสร้างวิดีโอจากเทคโนโลยีนี้ จึงเริ่มประกาศนโยบายเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และระงับการแพร่วิดีโอปลอมที่เกิดจาก Deepfakes พร้อมทั้งลบวิดีโอนั้นออกจากแพลตฟอร์มทันทีที่ตรวจพบ ไม่ว่าจะเป็น Discord, PornHub, Twitter ไม่เว้นแม้แต่ Reddit ซึ่งก็ประกาศแบน subreddit ภายใต้ชื่อ r/deepfakes ด้วยเหตุผลการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่ถูกนำเข้าไปอยู่ในสื่อลามกโดยไม่สมัครใจ แต่ก็มิได้ทำให้ Deepfakes ขยายตัวน้อยลงมากนัก
2
ด้านสื่อออนไลน์ไวรัลเจ้าดังอย่าง BuzzFeed ได้สร้างวิดีโอปลอมขึ้นมาคลิปหนึ่งโดยให้ Jordan Peele สวมรอยเป็นอดีตประธานาธิบดี Barack Obama ทวีตลงบน Twitter จนกลายเป็นไวรัลทันที โดยมีคนรีทวีตกว่า 13,000 ครั้ง ,ไลก์ 29,000 ครั้ง และยอดวิวบน Youtube กว่า 100,000 ครั้งภายในวันเดียว ซึ่งเป็นตัววัดผลการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของ Deepfakes ได้อย่างดีเยี่ยม หากไม่ได้มีการเฉลยในตอนท้ายคลิปว่าเป็นของปลอม ข่าวสารดังกล่าวอาจเป็นตัวสร้างความแตกแยกให้ผู้คนได้ง่าย ถึงขนาดที่ The Warshington Times ออกมาเตือน พร้อมทั้งเพิ่มเสริมอีกว่าศัตรูของชนชาติอเมริกาอาจใช้เทคโนโลยีนี้ปลุกระดมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ที่กำลังจะมา จนสร้างความโกลาหลและทำลายกันเองในที่สุด
วิดีโอของ BuzzFeed ที่ให้ Jordan Peele สวมบทบาทเป็นอดีตประธานาธิบดี Barack Obama
ในปี 2019 เทคเจ้าใหญ่ๆ อย่าง Google ก็มิได้อยู่เฉย ได้มีการวิจัยเพื่อใช้ในการตรวจจับวิดีโอปลอมที่เกิดจาก Deepfakes และแจกชุดข้อมูลเพื่อใช้ในการวิจัยให้แก่คนทั่วไปด้วย รวมถึง Kaggle เว็บที่รวบรวมการแข่งขันการใช้ข้อมูลเพื่อชิงเงินรางวัล ได้ประกาศหายอดฝีมือโดยใช้ชุดข้อมูลทีได้ทำการรวบรวมมากจากหลายๆที่ เพื่อให้ผู้คนทั่วไปเข้ามาประลองความสามารถชิงเงินรางวัลสูงถึง 1 ล้านเหรียญ
credit: Kaggle : Deepfake Detection Challenge สำหรับตรวจจับ Deepfakes รางวัลมูลค่าถึง 1 ล้านเหรียญดอลล่าสหรัฐ
และนี่คือจุดกำเนิดทั้งหมดของ Deepfakes ที่ปัจจุบันก็ถูกนำไปใช้ล้อเลียนเชิงขำขันกับบุคคลดังๆในวงการบันเทิง อย่างคีอานู รีฟส์ที่ถูกตัดแปะแทนที่หน้านักแสดงใน Forest Gump (Keanu Reeves in Forest Gump DeepFakes) หรือแม้แต่บุคคลทางการเมืองก็ไม่เว้นโดยเฉพาะประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ซึ่งสามารถค้นหาในยูทูปได้ไม่ยาก (BetterCallTrump: Money Laundering 101 [DeepFakes])
ในปี 2020 นี้เองแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็เริ่มหันมาตื่นตัวกันมากขึ้น โดยเฉพาะ Facebook ที่เคยมีข่าวฉาวเรื่องการเลือกตั้งรอบก่อน ทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการเลือกตั้งก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว
Deepfakes ภัยคุกคามครั้งใหม่นี้ เราทำอะไรกับมันได้บ้าง
เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไว บางครั้งก็เป็นดาบสองคม คงไม่เป็นการดีหาก Deepfakes ถูกนำมาใช้ด้านการเมืองซึ่งมีผลกระทบรุนแรงระดับประเทศ ดังเช่นที่ Fake News ได้แสดงประสิทธิภาพมาแล้วในปี 2016 กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ทรัมป์เป็นฝ่ายชนะด้วยฝีมือของแคมบริดจ์ อะนาลิติกา และ Deepfakes อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเกิดกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2020 นี้ เพราะเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้เป็นอาวุธซึ่งสามารถทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม บิดเบือนคำพูดทั้งที่ไม่เคยพูด หรือกระทำบางสิ่งที่พวกเขาไม่เคยทำ อีกทั้งวิดีโอดังกล่าวที่เกิดจากเทคโนโลยีนี้เมื่อลงไปอยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก มันง่ายมากที่จะถูกแชร์ ถูกไลก์ แม้แต่สร้างแคปชั่นให้สอดคล้องกับวิดีโอที่บิดเบือนต่อ ๆ กันไป เกิดการกระจายตัวอย่างรวดเร็ว ผลลัพธ์จากสงครามบนโลกไซเบอร์นี้อาจส่งผลถึงความเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ หรือใหญ่ถึงระดับโลก และมั่นใจได้เลยว่าคงไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีนัก
จากวิดีโอที่เราแนบให้ในแต่ละช่วงของบทความนี้ จะเห็นได้ว่าวิดีโอที่เกิดจาก Deepfakes ค่อนข้างยากที่จะจับผิดว่าเป็นของปลอม สิ่งที่เราควรต้องทำให้เป็นนิสัยคือเช็กแหล่งที่มาเสมอว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยขนาดไหน ซึ่งสำคัญที่สุดคือการสังเกตการเคลื่อนไหวของตาและปากว่าการขยับเป็นธรรมชาติสอดคล้องกับคำพูดหรือไม่ รวมไปถึงเสียงพูด และอวัยวะส่วนอื่น ๆ ข้อนี้จะเป็นขั้นตอนที่ทำได้ค่อนข้างยาก และอาจจะยากขึ้นเมื่อวิดีโอทำได้เนียนขึ้น แต่ถ้าหากใช้ประกอบกับความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลแล้ว เบื้องต้นก็สามารถช่วยกรองได้ในระดับนึง คงต้องอาศัยความร่วมมือกับรัฐบาลและเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียว่าจะมีมาตรการจำกัดภัยคุกคามนี้ได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน หากไม่มีการจัดการที่จริงจังมากพอแล้วล่ะก็ ทางผู้เขียนเองก็มิอาจจินตนาการถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ได้เลย
1
โฆษณา