2 ก.ค. 2020 เวลา 10:08 • ปรัชญา
Literature Quotes คำคมวรรณกรรม EP.2 : บทเพลงแห่งพระผู้เป็นเจ้า
Krishna reveal supreme form “Vishwaroopa”.
คำคมที่สอง ผมขอนำเสนอคำคมจากคัมภีร์ศาสนาฮินดูที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดจวบจนทุกวันนี้ (POP ยิ่งกว่าคัมภีร์พระเวท 4 เล่มเสียอีก)
เป็นคัมภีร์ที่สอดแทรกอยู่ในวรรณกรรมประเภทมหากาพย์ที่มีความยาวมากที่สุดในโลก หรือ มหาภารตะ (Mahabharata) และคัมภีร์ที่แทรกอยู่ในนั้น ก็ได้กลายมาเป็น section ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในมหาภารตะเช่นกัน
นั่นคือ ภควัทคีตา (Bhagavad-Gita) แปลว่า “บทเพลงแห่งพระผู้เป็นเจ้า” (ภควัท-พระผู้เป็นเจ้า และ ตีตา หรือ คีต แปลว่าบทเพลง)
Bhagavad Gita edit by Paramahansa Yogananda, Indian yogi.
ดังนั้น ผู้ใดที่ได้อ่านคัมภีร์เล่มนี้ นั่นแปลว่าเขาได้สดับฟังการบรรเลงบทเพลงอันไพเราะจากพระผู้เป็นเจ้า คอยขับกล่อมให้ชีวิตนั้นมีชีวิต และเผยให้เห็นหนทางที่จะต้องก้าวเดินไป ในฐานะผู้แสวงหาการหลุดพ้นจากกิเลสและความยึดติดทั้งปวง
ผู้ที่ถ่ายทอดภควัทคีตาในเนื้อเรื่องมหาภารตะ คือ องค์พระกฤษณะ (Lord Krishna) อวตารปางที่แปดขององค์มหาเทพ พระวิษณุ (Lord Vishnu) หรือ พระนารายณ์ (Narayan) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสังหารท้าวกังสะ ผู้เหี้ยมโหด และเป็นสารถีให้อรชุน ในสงครามทุ่งกุรุเกษตร
Lord Krishna the 8th avatar of Lord Vishnu.
พระกฤษณะนั้น ถือเป็นมนุษย์ที่เป็นร่างสำแดงของพระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับพระเยซูคริสต์ (Jesus Christ) ทั้งสององค์นี้ มีความคล้ายคลึงกันในหลายอย่าง แม้แต่ชื่อ (Krishna กับ Christ) ผมคงจะได้มีโอกาสเล่าถึงความเหมือนของพระเยซูคริสต์และพระกฤษณะในโอกาสหน้า
Born of Krishna.
พระกฤษณะได้เปิดเผยภควัทคีตา แก่เจ้าชายอรชุน (Arjuna) น้องสามของพี่น้องปาณฑพทั้งห้า (Pandavas) ผู้มีฝีมือการยิงธนูที่แก่กล้า ทัดเทียมพระอินทร์ (Indra) ผู้เป็นบิดา
สงครามทุ่งกุรุเกษตร (Kurakshetra war) เป็นสงครามระหว่างฝ่ายปาณฑพ และฝ่ายเการพ (Kaurava) ซึ่งเป็นพี่น้องกัน
มูลเหตุแห่งสงคราม หากจะว่าสั้นๆ ก็คงจะเป็นความโลภของทุรโยธน์ พี่ชายคนโตของเการพ หรืออาจจะเป็นความแค้นของปาณฑพที่ถูกโกงพนันมหาจนต้องรอนแรมพเนจรในป่า เป็นเวลา 13 ปี ดังเช่นองค์ราม และนางสีดา สาเหตุคิดว่าเป็นอย่างไหน ท่านลองไปคิดไตร่ตรองกันเองจะเป็นการดีกว่า
Pandavas and Draupadi exile in forest
ยามเมื่อสงครามใกล้จะเปิดฉาก อรชุน เมื่อได้มองเห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นพระญาติของตน ก็เกิดความท้อแท้ ไม่มีเรี่ยวแรงจะรบ เพราะไม่ต้องการจะมารบกับญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์ ที่เคยเลี้ยงดูสั่งสอนตนมา
พระกฤษณะ เมื่อเห็นอรชุน จิตใจช่างโลเล แรงกายนั้นอ่อนล้า และดวงตาเริ่มมืดมัว ก็ได้เริ่มต้นเผยภควัทคีตาแก่อรชุน ถึงเหตุผลในการรบ สงครามที่เป็นธรรมยุทธ์ ศัตรูที่แท้จริง และภาระหน้าที่ในฐานะมนุษย์ เพื่อให้อรชุน จับคันธนูเข้าสู่สมรภูมิอย่างกล้าหาญอีกครั้ง
Krishna tells Bhagavad Gita to Arjuna.
คัมภีร์ภควัทคีตามีหลักธรรมและคำสอนที่ครอบคลุมมาก ถือเป็นบทสรุปและหัวใจสำคัญของคัมภีร์คำสอนทั้งหมดของศาสนาฮินดู จึงขอคัดมาเฉพาะบางส่วนเท่านั้นในวันนี้ นั่นคือ
“He who has faith has wisdom;
Who lives in self-harmony,
Whose faith is his life;
And he who finds wisdom,
Soon finds the peace Supreme.”
แปลเป็นไทยได้ว่า
.
.
.
.
“ผู้ที่มีศรัทธาย่อมมีพุทธิปัญญาเคียงคู่
ผู้ที่ใช้ชีวิตสอดประสานในตนเองคือผู้มีศรัทธาในชีวิต
และผู้ที่ค้นพบพุทธิปัญญาแล้วไซร้ ในมิช้า ก็จักพบพานความสุขสงบอันสูงสุด”
จะเห็นได้ว่า หนทางที่จะพบความสงบสุขนั้น ย่อมต้องเป็นไปตามขั้นตอน เริ่มจากการมีศรัทธา (Faith) ในเส้นทางที่จะก้าวเดิน เมื่อมีศรัทธา ก็จะก่อให้เกิดสมดุลในตนเอง และเมื่อมีสมดุลในกายา ก็จะพบพานพุทธิปัญญา หรือ ปัญญาที่รู้แจ้ง เมื่อรู้แจ้งเห็นแล้ว ก็จะหลุดพ้นจากโลกแห่งวัตถุทันที และพบอิสรภาพ (Freedom) กับ ศานติ (Peaceful) อย่างแท้จริง
ขอจบคำคมแต่เพียงเท่านี้ ก็ขอลาท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ ไว้พบกันใหม่ ในตอนหน้า ขอปิดท้ายด้วยคำว่า
โอม ศานติ ศานติ ศานติ
สวัสดีครับ
โฆษณา