2 ก.ค. 2020 เวลา 11:39 • ไลฟ์สไตล์
นักโทษประหาร
ด้วยการยิงเป้ารายที่ ๑ ของประเทศไทย
สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด
น.ช.(ส.อ.)สวัสดิ์ มะหะหมัด เลขหมายประจำตัว ช.๔๕๓ คดีประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูล (กบฏนายสิบ) ศาลพิเศษ
สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด เป็นนายทหารชั้นประทวนประจำกองพันทหารราบที่๓ แห่งกองทัพบก ได้ร่วมกับนายสิบทหารราบอีกจำนวนหนึ่งวางแผนก่อการปฏิวัติ
โดยมีแผนที่จะสังหารผู้บัญชาการทหารบกพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รวมทั้งกำหนดรายชื่อให้สังหารนายทหารผู้ใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง โดยจะใช้นายสิบรถรบเป็นหัวหอกนำรถรบสามคันเข้าสนับสนุนการบุกเข้ายึดวังปารุสฯ ซึ่งใช้เป็นทำเนียบรัฐบาล
ตามแผนการกำหนดให้ทุกคนนอนกองร้อยตั้งแต่ตอนเย็นของวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๘ เตรียมทหารลูกหมู่พร้อมอาวุธประจำกายและกระสุนที่มีอยู่ตามอัตราปกติ
เวลา ๐๓.๐๐ น. ให้นำหมู่แยกย้ายกันไปควบคุมตัวผู้บังคับกองพันและนายทหารทุกคนที่บ้านพัก และให้กระทำการอย่างเฉียบขาดหากนายทหารผู้ใดขัดขืนให้ใช้อาวุธสังหารได้ในทันที
เมื่อยึดกองพันได้แล้วให้นำหมู่ปืนกลหนัก และหมวดเครื่องยิงลูกระเบิดไปสมทบกับหน่วยรถรบล้อมวังปารุสฯไว้ แล้วบังคับให้บุคคลสำคัญทั้งฝ่ายทหารและการเมืองยอมมอบตัวแต่โดยดี หากมีการขัดขืนหรือต่อต้าน ก็จะใช้กำลังและอาวุธบุกเข้าวังปารุสฯในขั้นเด็ดขาด
กองพันทหาราบที่๓ ที่สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด ประจำการอยู่นั้น มีหลวงพรหมโยธี เป็นผู้บังคับกองพัน
แต่สิ่งหนึ่งที่พวกนายสิบผู้ก่อการทั้งหมดไม่รู้ก็คือ
มีนายสิบรถรบคนหนึ่งได้นำเรื่องไปแจ้งให้พันตรีทวน วิชัยขัทคะ ผู้บังคับบัญชาของตนทราบ จึงมีการรายงานต่อไปถึงผู้บัญชาการทหารบกในทันที
หลวงพิบูลสงครามและคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ได้ซ้อนแผนโดยให้นายสิบรถรบเข้าสืบความลับและรายชื่อผู้ก่อการทั้งหมดต่อไป
หลวงพิบูลสงคราม มีคำสั่งลับไปยังผู้บังคับกองพันทหารราบที่๒ และ๓ ให้ลงมือจับนายสิบที่ต้องสงสัยในกองพันของตนได้ในวันที่ ๓ สิงหาคา ๒๔๗๘ เวลา ๑๒.๐๐ น. ก่อนที่กลุ่มนายสิบจะลงมือยึดอำนาจ
พันตรีหลวงประหารริปูราบได้สั่งการให้นายทหารทุกคนเตรียมรับมือและป้องกันตนเองในการปราบปราบนายสิบผู้ใต้บังคับบัญชาขั้นเด็ดขาดเหมือนกัน
วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๗๘ เวลา ๑๒.๓๐ น. ร้อยเอกวุฒิ วีรบุตร ผู้บังคับกองร้อยที่๒ กองพันทหารราบที่๒ ได้เรียกประชุมทหารทั้งกองร้อยห้ามขาดแม้แต่คนเดียว โดยตนเองได้ซุกปืนพกไว้ป้องกันตัวสองกระบอกที่กระเป๋ากางเกงซ้ายขวา
มีนายทหารชั้นผู้บังคับหมวด จ่ากองร้อย และทหารยามเดินเกร่ไปมาอยู่หน้าห้องประชุม
พอทุกคนเดินเข้าห้องไปหมดแล้ว ร้อยเอกวุฒิได้สั่งทหารยามด้วยเสียงเฉียบขาก “ยามบรรจุกระสุน” พร้อมกับมีเสียงกระชากลูกเลื่อนขึ้นลำปืนในทันที
“สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง ยืนขึ้น” พอสิบโทแผ้วลุกขึ้นยืน ร้อยเอกวุฒิได้กล่าวขึ้นด้วยเสียงสั่นนิดๆว่า “รัฐมนตรีกลาโหมสั่งให้จับลื้อฐานกบฏ”
จากนั้นก็มีการจับกุมสิบเอกถม เกตุอำไพ สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ แล้วนำตัวทั้งหมดไปกระทรวงกลาโหม เพื่อสมทบกับนายสิบกองร้อยอื่นที่โดนแผนการเดียวกันนี้จับกุมตัวเหมือนกัน รวมทั้งสิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด ด้วย
ในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีนายสิบทหารบกถูกจับกุมทั้งสิ้น ๑๒ คน พลเรือน ๑ คน ทุกคนให้การรับสารภาพข้อกล่าวหา มีเพียงสิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด เท่านั้นที่ให้การปฏิเสธ
ตอนนั้นผู้ถูกจับกุมทั้งหมดต่างคิดว่าตนเองคงถูกตัดสินเพียงไม่กี่ปี เพราะยังมีนายร้อยนายพันอีกหลายคนที่ติดอยู่ในบางขวางคราวพ่ายศึกบวรเดช พวกนั้นยังอยู่กันได้ พวกตนก็ต้องอยู่ได้เช่นกัน
แต่ความจริงนั้น คำพิพากษาของศาลพิเศษได้เขียนไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากศาลพิเศษถูกจัดตั้งขึ้นและอยู่ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นเดียวกับศาลธรรมดา
จึงต้องดำเนินขั้นตอนตามวิธีของกระบวนการยุติธรรมให้ทุกคนเห็นบ้าง
 
วันที่ ๓ กันยายน ๒๔๗๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. หลังถูกจับกุมหนึ่งเดือนเต็ม ศาลได้อ่านคำพิพากษาจำเลยทั้งหมดดังนี้
คณะกรรมการศาลพิเศษมีความเห็นพ้องต้องกันพิพากษาจำเลยดังต่อไปนี้
จำคุกตลอดชีวิต ๘ คน คือ สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ สิบเอกเข็ม เฉลยทิศ สิบเอกถม เกตุอำไพ สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม สิบเอกกวย สินธุวงศ์ สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง สิบโทสาสน์ คชกุล และจ่านายสิบสาคร ภูมิทัต
จำคุก ๒๐ ปี ๓ คน คือ สิบเอกแช่ม บัวปลื้ม สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ สิบโทเลียบ คหินทพงษ์
จำคุก ๑๖ ปี คนเดียวคือ นายนุ่ม ณ พัทลุง
สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด ที่ปฏิเสธตลอดข้อหา ศาลตัดสินให้ประหารชีวิต
น.ช.สวัสดิ์ มะหะหมัด ได้เขียนฎีกาทูลเกล้าฯ ตามแบบที่เรือนจำนำมาให้ แต่เขาเขียนแบบสั้นๆ อย่างคนปลงตกแล้วเซ็นชื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ไปตามขั้นตอน
น.ช.สวัสดิ์พูดกับพัศดีว่า “ อีก ๔๘ ชั่วโมงฎีกานี้ก็ไม่ตกมา ต่อให้อีก ๗ วันก็ไม่ตก ผมเตรียมตัวให้ยิงเป้าแล้ว”
พระยาอาชญาจักร ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง รีบนำเสนอฎีกาฉบับนี้ขึ้นไปอย่างเร่งด่วน
ในช่วงเวลานั้น ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เพิ่งประกาศใช้เป็นปีแรก สาระสำคัญข้อหนึ่งในกฎหมายฉบับบนี้คือ เปลี่ยนแปลงวิธีประหารชีวิตด้วยดาบ มาเป็นยิงเป้าให้ตาย
น.ช.สวัสดิ์จึงเป็นนักโทษประหารคนแรกที่จะต้องถูกประหารด้วยการยิงเป้าตามกฎหมายใหม่
แต่ในขณะนั้นกรมราชทัณฑ์ยังไม่พร้อมทั้งสถานที่ อาวุธ และเพชฌฆาตที่จะทำหน้าที่ยิงเป้า จึงมีการหารือกันเพื่อหาสถานที่ประหารและผู้ทำหน้าที่เพชฌฆาต
ในที่สุดก็ได้กำหนดสถานที่ประหารคือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งอยู่หัวแหลมฟ้าผ่า หน้าเมืองสมุทรปราการ
เนื่องจากเป็นสถานที่สงบ ห่างไกลผู้คน และมีพื้นที่กว้างขวาง โดยให้ทุกอย่างเป็นความลับที่สุด ไม่ให้ข่าวการประหารรั่วไหล และในขณะนั้นรัฐบาลก็คุมสื่อไว้ได้ทั้งหมด ข่าวทุกอย่างที่จะตีพิมพ์จะต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐบาลก่อนทั้งสิ้น
น.ช.สวัสดิ์ มีญาติเป็นผู้คุมอยู่ที่บางขวางคนหนึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชาย แต่ไม่ได้แสดงตัวให้ใครรู้ เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตรายจากระบอบเผด็จการที่ทำการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองแบบเจ็ดชั่วโคตร
ญาติคนนี้เป็นผู้คอยส่งข่าวให้กับครอบครัว น.ช.สวัสดิ์ ซึ่งอยู่แถวสุเหร่ามหานาคทราบ
เมื่อครอบครัว น.ช.สวัสดิ์ทราบว่าต้องโดนประหารแน่นอนแล้ว
เมียของ น.ช.สวัสดิ์จึงอุ้มลูกที่ยังมาหย่านมไปขอเฝ้าพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาถา ประธานผู้สำเร็จราชการที่วังประกายรัตน์ ใกล้สถานีรถไฟสามเสน
โดยบอกกับตำรวจที่เป็นยามประตูว่า “มาขอชีวิตให้ผัว ยอมทุกอย่าง จะเนรเทศหรือส่งไปติดคุกที่ไหนก็ยินดี ขอแต่ชีวิตไว้แล้วกัน”
พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า โดยฝากบอกมาว่าไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ ทุกสิ่งต้องดำเนินไปตามกฎหมาย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในฐานะประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ย่อมทรงมีสิทธิ์และอำนาจหน้าที่จะวินิจฉัยประทานชีวิตแก่นักโทษประหารได้ เพียงแต่พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ไม่กล้าเพราะกลัวคณะรัฐบาลในขณะนั้น โดยเฉพาะทรงกลัวหลวงพิบูลสงครามมาตั้งแต่ยังเป็นพันเอก
เมียของ น.ช.สวัสดิ์ อุ้มลูกยืนร้องไห้หน้าประตูวังอยู่นาน จนในที่สุดหม่อมกอบแก้ว อาภากร ชายาพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ได้ออกมาพบที่หน้าประตู แต่เห็นแล้วก็พูดอะไรไม่ออกและช่วยอะไรไม่ได้ จึงควักเงินจากกระเป๋ายื่นส่งให้ ๒๐๐ บาท แล้วพูดว่า “ให้เด็ก” แล้วก็กลับเข้าวังไป
เมียของ น.ช.สวัสดิ์จึงอุ้มลูกกลับไปด้วยความผิดหวัง
สำหรับเพชฌฆาตที่จะทำหน้าที่ประหารนั้น ในครั้งแรกมีผู้เสนอให้ทหารเป็นฝ่ายทำหน้าที่ แต่ทหารค้านว่าศาลพิเศษไม่ใช่ศาลทหาร จึงให้ทหารทำหน้าที่ไม่ได้ หลวงอดุลเดชจรัล ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ จึงตัดสินใจให้ตำรวจเป็นผู้ทำหน้าที่เพชฌฆาตในการยิงเป้านี้
แต่กรมราชทัณฑ์จะต้องรีบสร้างแดนประหารขึ้นที่บางขวางโดยเร็ว และหาตัวเพชฌฆาตไว้ จะให้ตำรวจยิงเป้าให้ครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น
ตำรวจผู้ถูกเลือกให้เป็นเพชฌฆาตยิงเป้าคนแรก มีชื่อว่า “จ่านายสิบตำรวจทิพย์ มียศ” (ภายหลังได้โอนตัวมากรมราชทัณฑ์ และทำหน้าที่เพชฌฆาตยิงเป้านักโทษอีกหลายสิบราย)
วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๘ เวลาประมาณ ๒๓.๓๐ น. เรือยนต์เร็วลำหนึ่งก็แล่นเข้ามาจอดที่ท่าน้ำหน้าเรือนจำกลางบางขวาง เสียงฝีเท้าของคนหลายคนดังขึ้นที่ทางเดินของตึกขังแดน๑ แม้จะพยายามเดินให้เบาที่สุด
แต่เป็นช่วงดึกมากแล้ว ทำให้เสียงเดินปลุกนักโทษที่ถูกขังอยู่ชั้นล่างให้ตื่นกันหมด นักโทษหลายคนลุกยืนเกาะลูกกรงเพื่อดูเหตุการณ์เพราะไม่รู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น
พระยาอาชญาจักร ผู้บัญชาการเรือนจำฯ เดินนำเจ้าหน้าที่ไปหยุดที่หน้าห้องของ น.ช.สวัสดิ์ ซึ่งกำลังงัวเงียและร้องถามขึ้นมา “ใคร ทำไม” แต่ไม่มีใครตอบ
เจ้าหน้าที่นายหนึ่งไขกุญแจห้องขัง
น.ช.สวัสดิ์จึงเอ่ยว่า “อ๋อ ถึงเวลาแล้ว จะเอาตัวผมไปฆ่าหรือ”
ผู้คุมก็สวมกุญแจมือให้และเข้าประคองปีกซ้ายขวา
แต่ น.ช.สวัสดิ์พูดว่า “ผมไม่หนี อย่ารัดแขน ผมรู้ดี เวลาของผมมาถึงแล้ว”
เมื่อออกมาจากห้อง น.ช.สวัสดิ์ขออนุญาตล่ำลาเพื่อนนักโทษทุกห้อง แล้วก็ถูกนำตัวออกไปขึ้นเรือมุ่งหน้าสู่ป้อมพระจุลจอมเกล้า
ประมาณตี๔เศษ เรือแล่นเข้าเทียบท่าที่ป้อมพระจุลฯ น.ช.สวัสดิ์ถูกคุมตัวไปยังมุมป้อมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เกือบปลายสุดเขื่อนริมทะเล มีแพทย์ ผู้พิพากษา ตำรวจ รออยู่ก่อนแล้ว
มีตะเกียงโคมให้แสงสว่างริบหรี่อยู่เพียงดวงเดียว น.ช.สวัสดิ์ขออนุญาตอาบน้ำชำระกายและละหมาดเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นได้นำอาหารมื้อสุดท้ายมาให้ แต่เขาไม่แตะต้องอาหารแต่อย่างใด
เขาขอเขียนจดหมายสามฉบับ
ฉบับแรกเขียนถึงเมีย
ฉบับที่สองเขียนถึงลูกโดยบอกให้ลูกอ่านจดหมายได้ตอนโต
ฉบับสุดท้ายเขียนถึงรัฐบาล ซึ่งเขาได้เขียนประณามรัฐบาลที่กระทำการอย่างรุนแรงต่อประชาชน และใช้อำนาจบาตรใหญ่ในการบริหารแผ่นดิน
เขาฝากจดหมายไว้กับเจ้าหน้าที่ให้ส่งให้ ซึ่งจดหมายของลูกเมียเจ้าหน้าที่ได้จัดการให้เรียบร้อย แต่จดหมายประณามรัฐบาลนั้น เจ้าหน้าที่ไม่กล้าส่งให้ (คงกลัวซวย)
พอฟ้าเริ่มสาง เพชฌฆาตเดินเข้ามาทรุดตัวลงกราบขอขมานักโทษประหาร แล้วเจ้าหน้าที่อีกสองนายก็นำตัว น.ช.สวัสดิ์ ไปที่หลักประหาร ซึ่ง น.ช.สวัสดิ์เดินได้ด้วยตัวเองสมชายชาติทหาร
เมื่อไปถึงหลักได้ผูกมัดแขนทั้งสองข้างกับหลักประหารโดยหันหน้าเข้าหาหลัก เจ้าหน้าที่เอาผ้ามาผูกตาและเอาฉากซึ่งมีเป้าตาวัวมาปิดกันด้านหลังเพื่อไม่ให้เพชฌฆาตมองเห็นตัวนักโทษ โดยกำหนดจุดเป้าตาวัวให้ตรงกับหัวใจ
เพชฌฆาตกระชากลูกเลื่อนปืนกลมือแบล๊กมั่นส่งกระสุนเข้ารังเพลิง
เมื่อผู้อำนวยการประหารส่งสัญญาณให้ยิง กระสุนได้ลั่นออกไปจำนวน ๑ ชุด ร่างของ น.ช.สวัสดิ์สะดุ้งขึ้นแล้วทรุดลง สิ้นใจตายในทันทีเมื่อเวลา ๐๖.๑๗ น.
เพชฌฆาตได้หันหลังกลับแล้วเดินออกไปโดยไม่หันมาดูอีกเลย
หลังการประหารเสร็จสิ้น ศพของ น.ช.สวัสดิ์ได้ถูห่อด้วยเสื่อกระจูดเก่าๆ ทิ้งไว้จนเย็นวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๗๘ ญาติจึงนำโลงศพมาบรรจุท่ามกลางสายฝนที่ตกหนัก นำกลับไปฝังตามประเพณียังสุสานอิสลามที่สุเหร่ามหานาค ท่ามกลางญาติพี่น้องจำนวนมาก
น.ช.สวัสดิ์ มะหะหมัด นับเป็นนักโทษประหารชีวิตด้วยการยิงเป้ารายแรกของประเทศไทย โดยนายทิพย์ มียศ ทำหน้าที่เพชฌฆาตยิงเป้าครั้งแรกของประเทศไทย เช่นกัน
ที่มา ยุทธ บางขวาง
โฆษณา