2 ก.ค. 2020 เวลา 13:11 • การศึกษา
สวัสดีครับ วันนี้ผมจะมาเขียนบทความเรื่อง 'การวิเคราะห์วาทกรรมแนววิพากษ์" ซึ่งก่อนที่เราจะเข้าไปสู่เนื้อหานั้น เราต้องมาทำความรู้จักกับ วาทกรรม กันก่อนนะครับ ซึ่งผมขออนุญาติแบ่งเป็นตอนๆ เพื่อจะได้ง่ายต่อการเรียบเรียงนะครับ
ตอนที่ 1 ///// วาทกรรม คืออะไร?
วาทกรรม คือ รูปแบบของความคิด หรือกรอบความคิด เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นสถาบันและมีการสืบทอด “ซึ่งแสดงออกผ่านทางการพูดและเขียนอย่างจริงจัง/ประโยคหรือนิยามที่ใช้บ่อยๆ” เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งลักษณะของวาทกรรม และการปรับเปลี่ยนลักษณะของวาทกรรมนั้น ๆ
วาทกรรมแต่ละเรื่องมีระบบความคิด และเหตุผลของตน ในการอธิบายหรือมอง “ความจริง” ซึ่งวาทกรรมเรื่องเดียวกัน แต่ต่างระบบความคิดและเหตุผลก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ในการให้อรรถาธิบายต่อเรื่องนั้น ๆ ดังนั้นในเรื่องเดียวกันจึงมีวาทกรรมหลายชุดที่เกี่ยวข้องและวาทกรรมแต่ละชุดก็มีความขัดแย้ง หรือปฏิเสธ “ความจริง” ของวาทกรรมอีกชุดหนึ่งได้
ตัวอย่างของวาทกรรม
การเกิดขึ้นของวาทกรรมแต่ละชุดในแต่ละเรื่องย่อมมีจุดประสงค์ ตัวอย่างเช่น วาทกรรมของกลุ่มที่ต่อต้านเกย์ มีจุดประสงค์เพื่อที่จะต่อต้านชายที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศและมีความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม เป็นการละเมิดบรรทัดฐานของสังคมและถือว่าพฤติกรรมเช่นนี้เป็นสิ่งผิดปกติสมควรที่จะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง เป็นต้น
และผมขอยกความหมายของ มิเชล ฟูโก (Michael Foucault) ปรัชญาชาวฝรั่งเศส ได้ให้ความหมาย “วาทกรรม” ไว้ว่า เป็นเรื่องที่มากกว่าการเขียน และการพูด ยังรวมถึงระบบและกระบวนการในการสร้าง การผลิต เอกลักษณ์ และความหมาย ให้กับสรรพสิ่งในสังคมที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ความรู้ ความจริง หรือแม้กระทั่งตัวตนของเรา และนอกจากวาทกรรมจะทำหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ยังทำหน้าที่ในการยึดตรึง สิ่งที่สร้างขึ้นให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอมรับของสังคมต่อไป ซึ่งขณะเดียวกันยังทำหน้าที่ในการเก็บกดปิดกั้น มิให้เอกลักษณ์ หรือความหมายของบางอย่าง หรือความหมายอื่นเกิดขึ้น หรือไม่ก็ทำให้เอกลักลักษณ์และความหมายของบางสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมเลือนหายไปได้ พร้อมๆ กันอีกด้วย วาทกรรมสามารถแสดงบทบาทหน้าที่ดังกล่าวได้ โดยผ่านทางภาคปฏิบัติการของวาทกรรม ได้แก่ จารีตประเพณี ความคิด ความเชื่อ คุณค่า ค่านิยม ผ่านทางสถาบัน และช่องทางในการเข้าถึงผู้คนในสังคม
ส่วนคำว่า วาทกรรมการเมือง มีนักปรัชญาหลายคน สรุปไว้ว่า เป็นแนวคิดที่ให้ความสนใจและความสำคัญในกิจกรรมของการสื่อความหมายทางภาษา การแสดงความคิดทางการเมือง และกลไกในการควบคุมระบบการสื่อความหมาย ของการแสดงความคิดทางการเมืองนั้น โดยมีการถ่ายทอดและอบรมสั่งสอน เพื่อการบังคับ ดำรงรักษา หรือนำการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ชุดของความคิดทางวาทกรรมการเมืองจะต้องใช้ความชอบธรรม ในการสื่อวาทกรรมแต่ละชุดออกไป เพื่อเปลี่ยนแปลง ยึดตรึงสิ่งต่างๆ ด้วยความถูกต้อง
นอกจากนั้น โทมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่สามของสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำนิยามว่าวาทกรรมการเมือง “คือหัวใจของระบอบประชาธิปไตย” โดยวาทกรรมการเมืองก็คือการแลกเปลี่ยนความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลอันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาของสังคม และชุดของความคิดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของพลเมือง จูงใจให้เชื่อถือด้วยหลักตรรกะและข้อมูลที่ชัดแจ้ง และแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากระบวนการใดที่จะมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาให้สังคมได้มากที่สุด... ติดตามต่อในตอนที่ 2 นะครับ
ผู้อ่านสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันได้เลยนะครับ และตัวผู้เขียนเองอยากรู้เหมือนกันครับว่า ผู้อ่านคิดว่า วาทกรรมคืออะไร ส่งความคิดเห็นเข้ามากันเยอะๆ นะครับ และฝากติดตามเพจด้วยนะครับ ขอบพระคุณครับ
โฆษณา