2 ก.ค. 2020 เวลา 14:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กับดักรายได้ปานกลาง ปัญหาที่เรื้อรังของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2563 ธนาคารโลก (World Bank) ได้รายงานการจัดอันดับรายได้ต่อหัว (GNI per Capita) ของประเทศต่างๆทั่วโลก โดยใช้ข้อมูลในปี 2562 สำหรับประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 80 โลก และอันดับที่ 4 ของอาเซียน (รองจากสิงคโปร์ บรูไน และ มาเลเซีย) ประเทศไทยมีรายได้ต่อหัว เท่ากับ 7,260 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 225,626 บาท) นั่นคือ รายได้เฉลี่ยของคนไทย (ทั้งคนไทยที่ทำงานในประเทศและต่างประเทศ) ใน 1 ปี มีรายได้ประมาณ 225,626 บาท หรือ 18,802 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าว เป็นตัวเลขก่อนเจอปัญหาโควิด
กับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) คือ อะไร
กับดักรายได้ปานกลาง คือ ภาวะที่ประเทศขยับฐานะจากประเทศรายได้ต่ำเป็นระยะปานกลางโดยใช้เวลานานไม่นาน แต่กลับติดอยู่ในฐานะประเทศรายได้ปานกลาง หรือ ประเทศกำลังพัฒนา เป็นระยะเวลานาน และไม่มีแนวโน้มที่จะยกระดับเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หรือ ประเทศพัฒนาแล้ว
ประเทศไทยขยับจากประเทศฐานะยากจนเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลางตั้งแต่ปี 2519 แต่ผ่านไปกว่า 40 ปี ประเทศไทยยังคงอยู่ในฐานะประเทศรายได้ปานกลาง ถ้าประเทศไทยต้องการหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง รายได้ต่อหัวต้องเพิ่มเป็น 12,536 ดอลลาร์ (ประมาณ 389,594 บาทต่อปี หรือ 32,466 บาทต่อเดือน) เรียกได้ว่าเพิ่มขึ้นจากเดิม ถึง 70 กว่าเปอร์เซนต์เลยทีเดียว
สาเหตุที่ประเทศติดกับดักรายได้ปานกลาง
1) สถาบันการศึกษาผลิตแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงาน
2) การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาไม่เพียงพอ ขาดสินค้าที่เป็นนวัตกรรม (Innovation) เป็นของตัวเอง ต่างกับประเทศพัฒนาแล้ว อย่างประเทศเกาหลีใต้ที่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง
3) สังคมผู้สูงวัย (Social Age Society) ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้สูงวัยประมาณ 12 ล้านคน คิดเป็น 18 % ของประชากรในประเทศ ใกล้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว
4) วิกฤตโควิด-19 ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิดในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตยังหนักหน่วงอยู่ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ผลของวิกฤตโควิด ทำให้รายได้จากการส่งออกลดลงถึง 23 % รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปถึง 1.93 ล้านบาท นอกจากนี้โรงงานอุตสากรรมการผลิตต่างทยอยกันปิดตัว ส่งผลให้คนตกงานถึง 8.3 ล้านคน
กับดักรายได้ปานกลางเป็นปัญหาที่ฝังตัวอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลามานานและไม่มีแนวโน้มที่จะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น การที่ประเทศไทยจะหลุดพ้นปัญหาดังกล่าวได้ ต้องเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาในตัวคนหรือทุนมนุษย์ สถาบันการศึกษาต้องปรับการเรียนการสอนให้ทันสมัย ส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา เรียนรู้ตลอดชีวิต คนวัยทำงานต้องเสริมทักษะใหม่ (Reskill และ Upskill) ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี
โฆษณา