10 ก.ค. 2020 เวลา 00:00 • การศึกษา
วิชาที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ (และตลอดไป?) โดย ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
1
คำถามนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจที่ถาม ศาสตราจารย์ Yuval Noah Harari (ยูวาล โนอาห์ ฮารารี่) ในการสัมภาษณ์ที่สำนักงานใหญ่ของ Google ที่เมือง Mountain View มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในงานของ Google ที่คล้ายๆ Ted Talks ที่มีชื่อว่า Talks at Google ซึ่งเป็นงานที่ดีมากๆนะครับ ซึ่งความแตกต่างคือ Talks at Google จัดทีนึงจะจัดเป็นชั่วโมง หรือบางครั้งถึง สองชั่วโมงเลยทีเดียว ในขณะที่ Ted ส่วนใหญ่จะจัดไม่เกิน 20 นาทีของแต่หละคนที่ขึ้นไปพูด
2
คลิปของ Yuval Noah Harari ที่ Talks at Google บน YouTube
Google ได้เชิญบุคคลระดับโลก และจากหลากหลายอาชีพมาอย่างกว้างขวางเพื่อมาพูดและมาแชร์ประสบการณ์ของพวกเขาหรือมาอธิบายหนังสือเลยด้วยซ้ำ ก็จะมีอย่าง Ray Dalio (เรย์ ดาลิโอ) ผู้เขียนหนังสือ Principles ที่ทุกวันนี้มีแปลไทยแล้วด้วย มีอย่าง Frank Abagnale Jr. (แฟรงค์ อแบกเนล จูเนียร์) หลายๆคนอาจจะไม่รู้จัก เขาคือคนที่ถูกเล่นโดย Leonardo DiCaprio ในหนังที่ถูกเข้าชิงรางวัลออสการ์เมื่อปี 2002 อย่าง Catch Me if You Can และก็มีอย่าง Nassim Nicholas Taleb ผู้เขียน Skin in The Game คนที่พูดถึงเรื่องราวของ Black Swan ที่เกี่ยวกับเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นก็ได้เกิดขึ้นมาแล้วอย่างเช่น หงษ์สีดำ แทนที่จะเป็นสีขาว
1
Google รวมคนมาพูดใน Talks at Google
ซึ่งคำตอบที่ทางศาสตราจารย์ Yuval Noah Harari ตอบคือ 2 อย่างครับ 1. Emotional Intelligence หรือไหวพริบทางด้านอารมณ์ หรือการควบคุมอารมณ์ พูดง่ายๆคือ EQ และ 2. Mental Stability หรือความมั่นคงทางจิตใจ เขาให้เหตุผลอย่างนี้ครับ เขาคิดว่าโลกในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่มีใครรู้เลยว่าโลกจะเป็นอย่างไรในอีก 30 ปีหลังจากนี้ ดังนั้นคนทุกคนต้องคอยปรับตัวเองอยู่ตลอดเวลา พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา และ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์เลยที่เราไม่รู้ว่าวิชาที่จำเป็นในอนาคตคืออะไร ซึ่งทุกวันนี้เราก็มีให้เห็นกันอยู่พอสมควรแล้ว มหาวิทยาลัยหลายๆที่เริ่มปรับหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทมากขึ้น อย่างเช่นพ่อผมเองจบวิศวะโยธาจากจุฬามาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 สิ่งที่ท่านเรียนคือการตั้งเสาเข็ม ทำเขื่อนกั้นดิน เป็นต้น มาทุกวันนี้รุ่นน้องผมคนนึงพึ่งจบจากวิศวะจุฬาปีพ.ศ. 2563 ห่างกันเกือบ 30 รุ่น ผมไปถามเขาว่าทุกวันนี้เรียนอะไรบ้าง เขาบอกว่าทุกวันนี้เขาเรียนเรื่องการทำดาต้า วิเคราะห์ Pivot Table และเรียนพวก Python C++ เป็นต้น
Emotional Intelligence ทักษะสำคัญในยุคนี้
ดังนั้นเราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัย และหลักสูตรที่สอนตามคณะต่างๆ แต่สิ่งที่ศาสตราจารย์ Yuval Noah Harari อยากให้พวกเราเรียนรู้กันในอนาคต และทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยต้องเรียนรู้กันคือ เรื่องของไหวพริบทางอารมณ์ และ ความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งทักษะสองอันนี้มีเรื่องของพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งถ้าสมมุติว่าพ่อแม่เราเป็นคนมองโลกในแง่ดี โอกาสที่ลูกจะเกิดมามี EQ ก็ค่อนข้างมีสูงกว่าลูกที่เกิดมาจากพ่อแม่ที่มองโลกในแง่ร้าย แลพอีกหนึ่งปัญหาคือว่าทักษะสองอันนี้ เป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ในโรงเรียน และ มหาวิทยาลัย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องถูกสอนและบ่มเพาะจากประสบการณ์เท่านั้น เช่นเดียวกันกับการว่ายน้ำ การเล่นกีฬา ความเป็นผู้นำ หรือ แม้กระทั่งภาษา ที่ต้องใช้การฝึกฝนด้วย มีหลายๆหนังสือพูดเรื่องสองอย่างนี้อย่างแพร่หลาย หนังสือเช่น Grit ของ Angela Lee Duckworth ที่พูดถึงเรื่องกึ๋นในการทำธุรกิจ หรือการทำให้คนเราประสบความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งหนังสืออย่าง Mindset ของ Carol Dweck ที่พูดถึงเรื่องของทัศนคติแบบ Growth Mindset และ Fixed Mindset ว่า Growth Mindset มีความมั่นคงทางจิตใจและการมองโลกในแง่บวกอย่างไรบ้าง
1
2 หนังสือที่พูดถึงเรื่องของ ทัศนคติและความมั่นคงทางจิตใจได้ดี
แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น และ เนเธอร์แลนด์ เริ่มมีการสอนรูปแบบที่แหวกแนวมากขึ้น เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องของไหวพริบทางอารมณ์ และ ความมั่นคง อย่างในประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เสนอวิธีการเล่นในสนามเด็กเล่น จากเดิมที่มีสไลเดอร์ หรือ ชิงช้า ที่เขาสร้างขึ้นมาคือ “Junkyard Playground” ซึ่งในนี้จะเป็นพวก ล้อรถเก่าๆ รถเก่า เศษไม้ ที่วางเกลื่อนทั่วสนามเด็กเล่น สิ่งนี้จะทำให้เด็กๆเรียนรู้ที่จะทำให้ตัวเองปลอดภัยจากการเล่นสิ่งของเรานี้โดยอัตโนมัติ เพราะว่าเขาสามารถเล่นเอง เจ็บเองได้ ซึ่งมีการวิจัยออกมาแล้วพบว่าพอเป็น Junkyard Playground เด็กๆโดนบูลลี่น้อยลง เพราะแต่หละคนอยากเล่น อยากสนุกสนาน ได้การเรียนรู้เรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคมมากขึ้น สามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และ ไม่มีข้อเสียใดๆเลย ยกเว้นแผลจากการเล่นบางส่วนเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กๆมี EQ มากขึ้น และ แข็งแกร่งด้วยตัวเอง
สนามเด็กเล่นรูปแบบใหม่ที่ทำให้เด็กๆสนุกสนานกับชีวิตมากขึ้น
ส่วนบ้านเราน่าจะยังอีกสักพักนึงเลยทีเดียวครับ ผมอยากเล่าเรื่องราวเรื่องนึงที่ผมไปประสบมาเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมเป็นติวเตอร์อยู่และมีโอกาสได้สอนน้องคนนึงที่เป็นเด็กในค่ายโอลิมปิกฟิสิกส์ของเมืองไทย ผมจู่ๆนึกขึ้นได้ตอนเรียนใกล้เลิกแล้ว เลยถามเขาว่า “ทำไมถึงบ้านเรามีเด็กที่ได้รางวัลแข่งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ จากทั่วโลกเลย แต่ทำไมประเทศเรายังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ดี?” เขาตอบผมโดยเหมือนแทบจะไม่ต้องคิดเลยครับว่า “เพราะว่าบ้านเราไม่มีงานรองรับให้คนพวกนี้ครับ คนพวกนี้ถ้าจะอยู่เมืองไทยต้องไปเป็นแพทย์ ถึงจะรายได้ดีหน่อย แต่ถ้าจะทำวิจัยต่อ ต้องไปอยู่ต่างประเทศครับ เพราะที่ต่างประเทศเขาซื้อตัวไปเลย เงินเดือนก็ดี สวัสดิการก็ดี และ พักฟรีด้วยครับ” และนี่แหละครับคือสาเหตุที่เด็กของเราไปได้ไกลถึงระดับโลกแต่ประเทศยังไม่ไปไหน
ขอบคุณภาพจาก Google, Venngage, Linkedin, และ The Atlantic ด้วยครับ
โฆษณา