15 ก.ค. 2020 เวลา 00:00 • การศึกษา
หลังจาก 6 เดือนที่ผมเก็บเงินแบบ T. Harv Eker โดย ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
เมื่อประมาณเดือนตุลาคมปี 2019 ที่ผ่านมา ระหว่างที่ผมกำลังเรียนทำอาหารอยู่ เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ผมเริ่มประสบปัญหาการเงิน เนื่องจากว่าช่วงที่ผมเรียนอยู่นั้นเอง ผมไม่ได้ทำงานประจำ ซึ่งผมได้รายได้จากทางที่บ้าน จากสอนพิเศษ และงานขายของพิเศษอื่นๆ ซึ่งรายได้ผมเพียงพอ แต่ไม่สามารถที่จะทำให้มีเงินเก็บได้ ด้วยความที่ผมอยากมีรายได้เพิ่มและอยากที่จะมีความมั่นคงในชีวิตมากกว่านี้ ซึ่งตอนนั้นเองผมก็พยายามเต็มที่ในการเก็บเงินคือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย รวมไปถึงรายจ่ายบัตรเครดิต และ แพลนล่วงหน้าว่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างในอนาคต
ช่วงที่ผมเรียนทำอาหารอยู่ที่เลอ คอร์ดอง เบลอ
ช่วงระหว่างเดียวกัน ผมก็มีโอกาสที่ได้ฟังหนังสือเสียงในช่องทางของแอพ Scribd ในมือถือ ผมเลยได้ฟังหนังสือเสียงของ ที ฮาร์ฟ เอเคอร์ ชื่อว่า Secrets of the Millionaire’s Mind หรือในภาษาไทยที่มีชื่อว่า ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน ในหนังสือเล่มนี้ซึ่งก็เหมือนๆกับหนังสือพัฒนาตัวเองทั่วไป ก็คือการพูดให้กำลังใจตัวเอง การพูดสะกดจิตตัวเอง ให้เชื่อและมีพลัง แต่สิ่งนึงที่ผมรู้สึกว่าเขาพูดได้ดีในหนังสือเล่มนี้มากๆ คือการที่เขาพูดวิธีการเก็บเงินแบบ 6 ตุ่ม ซึ่งสิ่งนั้นผมเลยตัดสินใจเอามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
หนังสือของ T. Harv Eker
วิธีการแรกคือให้เรามี 6 ขวดโหล หรือ 6 บัญชีก่อนในการเก็บรักษาเงินในทุกส่วน 6 โหลแบ่งออกเป็น 1. เงินใช้ประจำวัน (ค่าน้ำ, ค่าไฟ, กินข้าว, ค่าน้ำมัน, ค่าโทรศัพท์, ผ่อนบ้าน, ผ่อนรถ) 2. เงินสำหรับลงทุนระยะยาว 3. สำหรับเกษียณ 4. สำหรับสนุก (ไปเที่ยว, เที่ยวต่างประเทศ) 5. สำหรับการศึกษา (หนังสือ, สัมมนา) 6. สำหรับให้ (การกุศล, งานวัด, งานบวช, งานศพ, ทอดกฐิน, ของขวัญ) ซึ่งเขาแบ่งออกมาเป็นสัดส่วนของรายได้เราทั้งหมดแบบนี้ครับ 1. เงินใช้ประจำวัน 55% 2. เงินสำหรับการลงทุนระยะยาว 10% 3. เงินสำหรับเกษียณ 10% 4. เงินสำหรับสนุก 10% 5. เงินสำหรับการศึกษา 10% และเงินสำหรับการให้ 5%
วิธีการแบ่งเงินแบบ 6 โหล
ผมเริ่มต้นจากการที่ผมเอาเงินเก็บที่ผมมีทั้งหมดในตอนนั้นประมาณ 50,000 บาท มาแบ่งเป็นแบบนี้ครับ เงินเกษียณ และ เงินลงทุนระยะยาว อย่างหละ 20,000 บาท เงินสนุก และ เงินสำหรับเพื่อการศึกษา อย่างหละ 4,000 บาท และสุดท้ายเงินสำหรับการให้อีก 2,000 บาท หลังจากนั้นเงินที่เข้ามาหาผมทุกบาททุกสตางค์ ไม่ว่าจะได้จาก การสอนพิเศษ เงินปันผลจากหุ้นและกองทุน เงินเก็บจากกระปุกหมูและการสะสมธนบัตร 50 บาท และ เงินที่ได้จากพ่อแม่ ผมพอได้มาปุ้ป ผมจะจัดแบ่งส่วนไปทุกๆบัญชีในทันที ยกตัวอย่างเช่นสมมุติผมสอนพิเศษ 2 ชั่วโมง ผมได้เงินมา 1,000 บาท ผมก็จะโอนเงินไปแต่หละบัญชีอย่างหละ 100 บาททุกครั้งและสำหรับการให้อีก 50 บาท ซึ่งการโอนเงินทุกวันนี้เราไม่เสียค่าธรรมเนียมในการโอนเงินแม้แต่บาทเดียว
หลังจากนั้นในทุกๆเดือนทุกวันที่ 15 สิ่งที่ผมทำเพิ่มคือ ผมเอาเงินดังกล่าวมามาคำนวนว่าแต่หละบัญชีมีการเติบโตมากน้อยแค่ไหนใน Excel และแม้กระทั่งอัพเดตว่ายอดเงินเมื่อรวมกันทุกบัญชีเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน ช่วงแรกๆที่ผมทำโปรเจคนี้เรียกได้ว่าต้องปรับพฤติกรรมอยู่หลายอย่างเลยทีเดียว เพราะว่าผมเรียนทำอาหารที่เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ซึ่งตั้งอยู่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งการเดินทางไปที่เซ็นทรัลเวิลด์ก็ถือว่าไกลจากบ้านผมประมาณ 14-15 กิโล และอาหารที่นั่นก็ถือว่าไม่ถูก แต่ผมก็พยายามในการลดค่าใช้จ่ายและหาเงินพิเศษเพิ่มจนผมรอดไปในเดือนแรก
1
ทุกๆเดือนตอนวันที่ 15 ผมก็จะคอยมาอัพเดทว่าเงินของผมเพิ่มขึ้นหรือไม่
หลังจากนั้นในแต่หละเดือนผมก็พยายามดูแลค่าใช้จ่ายผมและคอยเก็บเงินทุกบาท ทุกสตางค์ จนเงินเก็บของผมเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างนั้นเองช่วงที่ผมเก็บเงินเรื่อยๆอยู่นั่น ผมก็ใช้เงินบางส่วนกับการเล่น และ การศึกษาไปด้วย ซึ่งข้อดีที่สุดเลยของการเก็บเงินประเภทนี้คือ ต่อให้เราตบะแตกเท่าไหร่ก็ตาม เราก็ไม่ได้ผลาญเงินเยอะกว่าที่เราคิด ซึ่งผมมีความสุขมากกับเรื่องนี้ เพราะว่าเรื่องตบะแตกนั้น ผมเชื่อว่าทุกคนก็เคยเป็น แล้วค่อยมารู้สึกผิดทีหลัง และอีกเรื่องนึงที่ผมชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้มากคือเวลาที่ผมอยากจะซื้ออะไรใหญ่ๆยกตัวอย่างเช่น นาฬิกาของ Garmin รุ่น Garmin Venu ราคาประมาณ 14,500 บาท พอผมเริ่มเก็บเงินได้สักพักนึงแล้วผมก็ยังอยากได้อยู่ แต่พอผมเก็บได้แล้ว ช่วงประมาณเดือนมกราคมปีนี้ ผมตัดสินใจว่าผมไม่อยากได้มันแล้ว ผมก็เลยไม่ได้ซื้อ
นาฬิกา Garmin Venu ของ Garmin
ช่วงที่ผมเก็บในตลอดหกเดือนที่ผ่านมา ผมก็มีโอกาสได้ไปทำงานประจำที่เป็นสัญญา 3 เดือน 6 เดือน ผมก็มีเงินเก็บจากการทำงานประจำมากขึ้น จนเมื่อผ่านไป 6 เดือนผมกลับมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า!! ทั้งจากการลงทุนเองและการเก็บเงิน ซึ่งเงินในทุกๆเดือนก็เพิ่มขึ้นในทุกเดือนต่อให้ช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ผมก็ใช้เงินแบบสุรุ่ยสุร่ายมากขึ้น และ ตบะแตกมากขึ้น ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาผมก็ใช้บัญชีเหล่านี้ในการใช้จ่ายเช่นในบัญชีการศึกษา ผมก็ซื้อคอร์สออนไลน์มาเรียน ซื้อเครื่องเขียนในการเรียนศิลปะ เครื่อง Kindle ของ Amazon ในการอ่านหนังสือ หรือแม้กระทั่งคอร์สเรียนมวยไทย ส่วนเรื่องความสนุกผมก็มีใช้เงินไปกับ เสื้อผ้า นวมมวย ไปเที่ยวกลางคืน หรือแม้กระทั่งไปนวด ส่วนบัญชีที่เอาไว้ให้ ผมก็เอาไปซื้อของขวัญให้คุณแม่ในวันเกิด ซื้อหม้อชาบูและเตาไฟฟ้าเอาไว้กินในบ้านช่วงโควิด-19 หรือแม้กระทั่งของขวัญวันวาเลนไทน์ให้แฟน
เครื่องอ่าน ebook Kindle
ซึ่งการใช้จ่ายแบบนี้ทำให้เราเป็นคนที่ความมั่นคงมากขึ้น และดูไม่ขี้เหนียวอีกด้วย เพราะเรามีเงินสำรองไว้การทุกรูปแบบของการใช้จ่าย ผมเชื่อว่าวิธีการเก็บเงินแบบนี้ก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน บางคนอาจจะเหมาะกับการเก็บเงินแบบเอาไว้ฉุกเฉิน 6 เดือนของค่าใช้จ่ายเราทั้งหมดซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดแล้วคือการวางแผนทางการเงิน ซึ่งยิ่งเราสามารถทำได้เร็วมากเท่าไหร่ ความสำเร็จทางการเงินก็รอเราอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
โฆษณา