4 ก.ค. 2020 เวลา 10:00 • ประวัติศาสตร์
เพื่อความเสมอภาค! 'เจมส์ เอ็ม. ไฮดส์' นักต่อสู้เพื่อสิทธิทาส ที่ต้องมาจบชีวิตด้วยน้ำมือของพวกเหยียดสีผิว
WIKIPEDIA PD
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ย้อนกลับไปในช่วงยุคสมัยที่การค้าทาสยังเป็นเรื่องปกติในสหรัฐฯ ยังมีนักกฎหมายหนุ่มรายหนึ่ง ที่กล้าลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมืองให้แก่ทาสอย่าง เจมส์ เอ็ม. ไฮดส์ นักกฎหมายและนักการเมืองของสหรัฐฯ ที่ถูกลอบสังหารจากฝ่ายที่สนับสนุนการเหยียดผิว
ไฮดส์เกิดและเติบโตในเขตอีสต์เฮบรอน ในเมืองนิวยอร์ก ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ค.ศ.1833 ต่อมาเขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนกฎหมายในรัฐมิสซูรี พออายุได้ 23 ปี เขาก็ย้ายมาที่รัฐมินเนโซตาและทำงานด้านกฎหมาย ในตอนนั้นเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐมินเนโซตา ที่มีความคิดว่าจะย้ายเมืองหลวงจากเมืองเซนต์พอล ไปที่เมืองเซนต์ปีเตอร์ แทน ไฮดส์ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มี จนสามารถทำให้เมืองเซนต์พอลเป็นเมืองหลวงของรัฐมินเนโซตา และทำให้เขากลายเป็นอัยการเขตของเมืองแห่งนี้
WIKIPEDIA PD
ต่อมาไฮดส์ย้ายมาสร้างบ้านและสร้างครอบครัวที่เมืองเซนต์ปีเตอร์ ซึ่งในขณะนั้นเกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อชนเผ่าดาโกต้า ที่เป็นชนพื้นเมืองอินเดียนแดงลุกฮือขึ้นมาต่อต้านคนผิวขาว ไฮดส์จึงสมัครเข้าร่วมในกองทหารม้าของเมืองและเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ ต่อมาภายหลัง เขาพบว่าเมืองเซนต์พอลนั้นเล็กเกินไปที่จะลงเล่นการเมือง และเมืองแห่งนี้ยังเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมขนาดเล็ก ด้วยเหตุนี้เอง ไฮดส์จึงตัดดสินใจพาลูกเมียย้ายไปอยู่ที่เมืองลิตเติ้ลร็อค รัฐอาร์คันซอ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
ตอนที่ไฮดส์ไปถึงรัฐอาร์คันซอ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธ์รัฐแห่งอเมริกาในช่วงสงครามกลางเมือง ไฮดส์พบว่ารัฐแห่งนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามกลางเมือง ไร่นาและฟาร์มปศุสัตว์ถูกกองทัพฝ่ายเหนือเผาทำลายจนเสียหาย ประชากรก็ลดจำนวนลง นายทุนในรัฐทางใต้ก็เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้าเพราะแรงงานทาสต่างอพยพหนีไป ด้วยเหตุนี้รัฐอาร์คันซอจึงพยายามสร้างระบบแรงงานทาสขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างและฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของรัฐทางใต้ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง
WIKIPEDIA PD
ไฮนด์เองก็เป็นชาวเหนือที่คัดค้านเรื่องการค้าทาส เขาคิดว่าหลังจากสงครามกลางเมืองยุติลง ก็ไม่ควรที่จะมีแรงงานทาสอีกต่อไป กล่าวคือ เขาเชื่อว่าทาสและอดีตทาสทุกคนเป็นเสรีชนที่ควรได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ในฐานะพลเมืองสหรัฐฯ และควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น เขาจึงพยายามผลักดันเรื่องสิทธิพลเมืองให้เหล่าบรรดาทาสในรัฐทางฝ่ายใต้ และเขาก็พบกับแรงต่อต้านจากกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยมที่ไม่ยอมรับสิทธิพลเมืองสำหรับทาสพวกนี้ และกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยมเหล่านี้ก็เรียกไฮนด์ว่า ‘ไอ้คนแบกถุง’ ซึ่งเป็นคำพูดที่ชาวใต้หัวโบราณของสหรัฐฯ ใช้ดูถูกชาวเหนือที่อพยพมาตั้งรกรากในรัฐทางใต้ นอกจากนี้ ชีวิตบนเส้นทางการเมืองของไฮดส์ก็อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เมื่อองค์กร 'Ku Klax Kan' กลุ่มคนขาวเหยียดสีผิวและเชื้อชาติที่คอยข่มขู่เขาตลอดเวลา
ถึงแม้จะมีกระแสความไม่พอใจไฮดส์ในหมู่ชาวใต้หัวอนุรักษ์นิยม แต่เขาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐอาร์คันซอ และได้เริ่มร่างกฎหมายของรัฐอาร์คันซอ ด้วยการให้สิทธิออกเสียงลงคะแนนสำหรับชายผิวดำอายุเกิน 21 ปีบริบูรณ์ พร้อมกับสร้างโรงเรียนรัฐสำหรับเด็กผิวดำและเด็กผิวขาว หลังจากนั้นเขาก็กลับไปที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในเดือนเมษายน ค.ศ.1868 หลังจากที่รัฐอาร์คันซอกลายเป็นรัฐแรกที่เข้าร่วมกับฝ่ายสหภาพภายใต้พระราชบัญญัติฟื้นฟูประเทศปี ค.ศ.1867 และเขาได้มีบทบาทสำคัญในการออกแคมเปญรณรงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนสำหรับอดีตทาสที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคมของสหรัฐฯ ในขณะนั้น
WIKIPEDIA PD
ในขณะที่ชีวิตบนเส้นทางการเมืองกำลังไปได้สวย ไฮดส์ก็ต้องมาเสียชีวิตในเดือนตุลาคม ค.ศ.1868 ด้วยวัยเพียง 34 ปี ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งใหม่ โดยในตอนนั้นไฮดส์ได้เดินทางไปช่วยหาเสียงให้ นายพลยูลิสซิส เอส. แกรนท์ ตัวแทนจากพรรครีพลับริกันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐในเขตมอนโร ซิตี้ รัฐอาร์คันซอ ก็ได้มีสมาชิกของ Ku Klux Klan กลุ่มคนผิวขาวเหยียดสีผิวเข้ามาลอบยิงเขาจากด้านหลังด้วยปืนลูกซองจนกระเด็นตกลงมาจากหลังม้า เขาถูกทิ้งไว้แบบนั้นราวสองชั่วโมง กว่าที่จะมีคนเข้ามาช่วยเหลือ โดยก่อนตาย ไฮดส์ได้เขียนข้อความถึงภรรยาเพื่อบอกว่าใครคือคนสังหารเขา โดยระบุว่าเป็น จอร์จ คลาร์ก นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและเป็นสมาชิกขององค์กร Ku Klux Klan ที่ไม่พอใจในแนวทางของไฮดส์มาตั้งแต่ต้น
ถึงแม้ว่าจดหมายของไฮดส์จะระบุชื่อผู้ก่อการชัดเจนขนาดนั้น แต่ก็ไม่มีการนำเรื่องราวดังกล่าวมาสืบสวนอย่างจริงจัง หลุมฝังศพของเขาตั้งอยู่ที่สุสานเอเวอร์กรีนในเมืองนิวยอร์ก และที่สุสานรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็มีแท่นหินที่ระลึกเพื่อเป็นเกียรติแก่ไฮดส์อีกด้วย
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
โฆษณา