Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิรุฬหก
•
ติดตาม
4 ก.ค. 2020 เวลา 14:18 • ปรัชญา
สมรภูมิแห่งชีวิต
โลกเรานั้นพระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นสนามแห่งการประลองกำลังของสรรพชีวิตเพื่อความอยู่รอด การดิ้นรนเพื่อให้ตนอยู่รอดนี้ พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า “ทุกข์” หมา แมว สัตว์เลี้ยงของเรา สัตว์หายากในสวนสัตว์ ปลาที่อยู่ในน้ำ สัตว์สงวนในป่าเขาทุกเผ่าพันธ์ก็คือชีวิตที่อุบัติขึ้นมาในสนามแห่งการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดนี้ เช่นเดียวกับผม ญาติพี่น้อง คนในครอบครัว พ่อแม่ผม... และท่านผู้อ่านทุกท่าน
1
เครดิตภาพ: https://www.pinterest.co.uk
อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมเจ้าตัวเล็กที่เป็นตัวละครสำคัญในเรื่องราวของฉากปี 2020 หรือ พ.ศ.2563 นี้ อันได้แก่ เจ้าไวรัสโควิด19
ซึ่งปัจจุบันความรู้ที่เรามีต่อไวรัสคือ มันบอกชัดไม่ได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตกันแน่
นึกถึงต้นไม้กับโทรศัพท์มือถือก็แล้วกันครับ ต้นไม้นั้นมีชีวิต แต่โทรศัพท์ไม่มี ต้นไม้นั้นกินอาหารแต่มือถือไม่กิน ต่อให้เราบอกว่าแบตเตอรี่ที่จ่ายไฟเป็นพลังงานของโทรศัพท์ไง เราก็คงไม่คิดว่าแบตเตอรี่เป็นอาหารของมัน เพราะอาหารหมายถึงสิ่งที่ใส่เข้าไปในระบบใดๆก็ตาม จะถูกแปรสภาพไปเป็นเนื้อของเจ้าสิ่งนั้น และให้กำลังแก่สิ่งนั้นด้วย
เครดิตภาพ: https://www.thairath.co.th
อาหารที่ต้นไม้กินเข้าไปนั้นส่วนหนึ่งแปรสภาพไปเป็นลำต้น กิ่ง ใบ ดอก ผล ของมัน แต่ถ่านมือถือไม่สามารถแปรสภาพเป็นเนื้อตัวโทรศัพท์เครื่องนั้นได้ แสดงว่าการกินอาหารเป็นลักษณะสำคัญของสิ่งมีชีวิต สำหรับไวรัสนั้นไม่กินอาหารในความหมายนี้ เมื่อมันเข้าสู่ร่างกายคน ซึ่งก็เหมือนจะเจาะจงเฉพาะเผ่าพันธ์มนุษย์เท่านั้นหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจ
เพราะไม่เห็นข้อมูลว่าจะต้องให้สุนัข แมว หรือสัตว์ต่างๆต้องใส่หน้ากากล้างมือด้วยแอลกอฮอล หรือฆ่าเชื้อป้องกันแต่อย่างใด...
เครดิตภาพ: https://covid-19.kapook.com/view222266.html
ไวรัสเข้าสู่ร่างกายไม่ใช่ว่ามันเข้ามากิน เหมือนกับการที่หนอนกินซากศพที่ตายแล้ว มันเพียงฝังตัวอยู่เพื่อทำกิจกรรมของการแพร่พันธุ์
ตรงนี้นี่เองที่ไวรัสนั้นเป็นปริศนาขึ้นมา
ไม่มีนาฬิกาเรือนใด ไม่มีมือถือรุ่นไหนออกลูกหลานหรือแบ่งตัวให้กำเนิด นาฬิกาเรือนใหม่ๆ มือถือเครื่องใหม่ออกมา แต่ไวรัสสามารถทำอย่างนั้น จะว่าไปแล้วการก๊อปปี้ตัวเองก็คือกิจกรรมหลักของไวรัส
เมื่อมันแตกหน่อก่อพันธุ์ขึ้นมาในร่างที่มันอยู่อาศัย ก็ส่งผลให้ระบบที่มันอยู่อาศัยนั้นสูญเสียคุณสมบัติที่จำเป็นพื้นฐานบางอย่าง เช่น ปอดของผู้ติดเชื้อโควิดที่ว่านี้ จะไม่สามารถคงรูปเดิมหรือทำงานได้ตามปกติ จนกระทั่งเสียหายขั้นรุนแรง
ทำไมไวรัสต้องทำอย่างนั้นล่ะ มันลอยอยู่ตามสายลมเฉยๆไม่ได้เหรอ คำตอบก็คงไม่ต่างจากพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต
ถามว่าทำไมพวกเราต้องกินข้าว คำตอบคือถ้าพวกเราไม่กินพวกเราก็ตาย
1
ทำไมเราถึงไม่อยากตาย คำตอบก็คือเราถูกสร้างมาให้มีสัญชาติญาณที่จะปกป้องตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย
ถามว่าทำไมเราถึงถูกสร้างมาอย่างนั้น คำตอบคือผมก็ไม่รู้
พ่อแม่ บรรพบุรุษ ของเราไม่ได้สร้างตัวเราขึ้นมา เพียงแต่เป็นผู้ให้กำเนิดเรามาจากสิ่งที่ออกแบบไว้แล้ว
ใครหรืออะไรก็ตามก็ไม่ทราบสร้างพวกเรามาให้เป็นอย่างนี้ คำถามข้างต้นมีแต่ผู้ที่สร้างเรามาเท่านั้นที่จะตอบได้
แต่เขาเป็นใครหรือเป็นอะไรอยู่ที่ไหนเราก็ไม่ทราบ จึงจนปัญญาไม่รู้จะไปถามคำถามข้างต้นนี้กับ “เขา”อย่างไร
เครดิตภาพ: https://www.youtube.com
สำหรับผมไวรัสนั้นแม้ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ แต่พฤติกรรมของมันที่ดิ้นรนเพื่อให้เผ่าพันธ์ของตนอยู่รอดนั้น ส่อว่ามันกำลังจะกลายสภาพจากการเป็นสิ่งไม่มีชีวิตมาเป็นสิ่งมีชีวิต แต่กระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นยังไม่สมบูรณ์ มันจึงมีพฤติกรรมบางอย่างเหมือนวัตถุปราศจากชีวิต เช่นไม่ต้องกินอาหาร แต่ก็มีพฤติกรรมบางอย่างเหมือนสิ่งมีชีวิต เช่นการแพร่พันธุ์ตนเอง เพื่อให้สายพันธุ์ตนอยู่รอดต่อไป แม้ว่าตนจะตายไปแล้วก็ตาม...
ท่านผู้อ่านสังเกตุมั้ยครับว่า พวกที่ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนและเผ่าพันธุ์นั้น จะถูกบังคับโดยธรรมชาติให้จำเป็นต้องเบียดเบียนผู้อื่น ไม่อย่างนั้นเราก็อยู่ไม่ได้ เช่นเราต้องกินอาหาร และอาหารที่เรากินได้ก็ต้องเป็นชีวิตของผู้อื่นไม่ว่าพืชหรือสัตว์
เรากินลมไม่ได้ กินก้อนดินก้อนหินก็ไม่ได้ เราจำเป็นต้อง “ฆ่า”ผู้อื่นแล้วกิน เราจึงจะอยู่ได้ ซึ่งไวรัสมันก็ต้องทำอย่างนั้น
2
เครดิตภาพ: http://www.cp-enews.com
ปัญหาว่าทำไมสิ่งต่างๆในโลก จึงถูกออกแบบมาอย่างนั้น เป็นปัญหาทางปรัชญาข้อหนึ่งที่ตอบยากมาก
ผมหมายความว่าทำไมสิ่งไม่มีชีวิตจึงมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสิ่งที่มีชีวิตในอนาคต และเมื่อมีชีวิตแล้ว แต่ละชีวิตก็พยายามอย่างเต็มเหนี่ยวที่จะรักษาตนเอาไว้ให้รอด ซึ่งดูเหมือนว่ากฎเพื่อความอยู่รอดที่ผู้สร้างสรรพสิ่งเขามอบให้พวกเรามีเพียงสั้นๆว่า
“ถ้าหากอยากอยู่รอดก็จงทำร้ายและเอาเปรียบผู้อื่น”
1
จะเห็นว่าใครก็ตามที่สลดใจ ในสภาพของตนและเพื่อนร่วมโลกที่ถูกสร้างมาให้ "ฆ่า"กันและกันเพื่อความอยู่รอด แล้วตัดสินใจเป็น "ขบถ" เดินหนีจากสภาพที่ออกแบบมาให้นั้น
คนเช่นนี้มีเป็นส่วนน้อย และก็จะมีวิถีชีวิตที่ไม่สะดวกมากกว่าผู้ที่ยอมรับกติกาที่เขาออกแบบให้
สรุปว่า "ใครทำตัวเป็นเด็กดี" ก็จะอยู่รอด แต่ถ้า"ใครทำตัวเป็นเด็กมีปัญหา" ก็จะถูกขจัดออกไปจากระบบ...
ในโลกของธรรมชาตินั้นเราจะเห็นพัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่า “จิตใต้สำนึกทางศีลธรรม” ในโลกของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันตามพัฒนาการของแต่ละสิ่งเช่นในโลกเรานี้ มนุษย์น่าจะเป็นตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตที่มีพัฒนาการสูงสุดกว่าสิ่งอื่น
1
ศาสนาหลายศาสนาในอินเดียนั้นมีจารีตในการไม่กินเนื้อสัตว์เพราะเห็นว่าเป็นบาป และในบรรดาศาสนาที่สอนเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังมีแนวคิดที่ซอยย่อยลงไปอีกว่า แม้กระทั่งกินพืชก็ยังบาปอยู่ เช่นศาสนาเชน (Jainism)
ดังนั้นถ้าหากยังจำเป็นต้องกินก็ควรเลือกกินผักชนิดที่ไม่ต้อง “ฆ่า” มันให้ตาย เพียงแต่ "เด็ดแขนขา" มันมากินเท่านั้นเพื่อให้บาปที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อความอยู่รอดของชีวิตน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เช่นเด็ดกระถินมากินต้นกระถินก็ยัง ไม่ตาย แต่ถอนผัดกาดมากินทั้งต้นก็เท่ากับฆ่าต้นผักกาด นี่คือตัวอย่างความรู้สึกในทางศีลธรรมที่พบในมนุษย์!
เครดิตภาพ: https://boongkee.makewebeasy.com
สัตว์พลายชนิดนั้นแสดงอาการว่ารัก ลูก รักครอบครัว รักพวกพ้อง ไม่ต่างจากมนุษย์ ผมเคยอ่านงานของ นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าพฤติกรรมทางสังคมของสัตว์บางคนเช่น Ed ward Wilson และ Richard Dawkins คนเหล่านี้เขียนเอาไว้ว่า สัตว์บางชนิดนั้นมีความรู้สึกในเรื่องการปกป้องพวกพ้องสูงกว่ามนุษย์เสียด้วยซ้ำ เช่น ผึ้ง เวลาที่ถูกรุกราน ผึ้งประเภทหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นทหารจะเข้าโจมตีศัตรู อย่างไม่คิดถึงชีวิตของตนเอง หากเราตีความว่าการเสียสละชีพของตนเพื่อชาติของสัตว์เหล่านี้ก็ไม่ต่างจากที่พบในมนุษย์ เราก็ต้องเรียกพฤติกรรมของผึ้งเหล่านี้ว่ามาจากความรู้สึกทางด้านศีลธรรมของพวกมันเช่นเดียวกับเรา
เครดิตภาพ: https://www.scholarship.in.th
บังเอิญว่าในเรื่องการเสียสละชีพตนนี้ สัตว์หลายชนิดมีมากกว่าเรา ในแง่นี้เราก็ต้องยอมถือว่าศีลธรรมบางด้านของสัตว์สูงกว่ามนุษย์ ผมเคยเห็นข่าวแม่หมายอมให้ลูกแมวกำพร้ามากินนมของตน นี่ก็เป็นตัวอย่างของความมีศีลธรรมของสัตว์เช่นกัน ในส่วนของพืชนั้นเรายังไม่พบตัวอย่างที่ชัดเจนของพฤติกรรมทางด้านศีลธรรมของมันอย่างที่พบในมนุษย์และสัตว์ เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากเรายอมรับว่าความรู้สึกทางด้านศีลธรรมของสิ่งมีชีวิตเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับข้อเท็จจริงว่าสิ่งมีชีวิตนั้นพัฒนามามากเพียงใด เมื่อเทียบกับคนและสัตว์ พืชนั้นพัฒนามาน้อยกว่าเขา ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่เราจะยังไม่พบว่าพวกมันสามารถแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนว่าพวกมันมีความคิดในเรื่องผิดชอบชั่วดี
เครดิตภาพ: https://www.smeleader.com
ชีวิตมนุษย์ โลก และจักรวาล ตามทัศนะทางปรัชญานี้ก็คือทุกสิ่งที่ปรากฏในการรับรู้ของมนุษย์ จักรวาลที่กว้างใหญ่นั้นนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องส่องกล้องดู เมื่อเขาถ่ายภาพมาให้เราดู เราก็ใช้ตาดู ดังนั้นไม่มีอะไรเลยที่อยู่นอกขอบเขตอายตนะของมนุษย์ เมื่ออายตนะคือ "คุก" ขังเราเอาไว้ โดยที่คุกที่ว่านี้เขาเปิดหน้าต่างเอาไว้เพื่อให้เราได้สัมผัสสิ่งที่อยู่ภายนอก เราไม่มีทางออกไปนอกคุกนี้เพื่อจะรู้ว่ามีอะไรอยู่บ้างในโลกข้างนอก เราก็ต้องยอมรับข้อจำกัดที่ว่านั้น
เมื่อยอมรับแล้วเราก็มาทำความเข้าใจเสียใหม่เวลาที่เห็นสิ่งต่างๆเช่นกำลังส่องกล้องดูดาวอังคารก็ต้องเตือนตัวเองว่าดาวอังคารที่เห็นนั้นคือ"ดาวอังคารตามที่ฉันเห็น" ดาวอังคารตัวจริงเสียงจริงจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ได้ ต่อให้มีหูทิพย์ตาทิพย์ก็ตามเถอะ
เหล่านี้มาเกี่ยวโยงกันก็คือ สิงที่พระพุทธศาสนาเราเรียกว่า "สังสารวัฏฏ์" นั้นอาจเข้าใจในอีกแง่มุมหนึ่งว่าคือ Biospheres ที่กว้างใหญ่ไพศาล รอบๆตัวเราเวลานี้มีเพื่อนร่วมทุกข์อยู่มากมายเต็มไปหมดผมกำลังหมายถึงสรรพชีวิตที่ก่อกำเนิดขึ้นมาในโลกซึ่งต้องดิ้นรนเพื่อให้ตนอยู่รอดอย่างเต็มที่ แล้ววันหนึ่งก็ต้องตายไปจากโลกนี้เสมอเหมือนกันนอกจากเพื่อนทุกข์ที่มองเห็นตัวตนอันได้แก่พืชและสัตว์นานาชนิด
เครดิต: https://www.vaughnbell.net
เรายังมีเพื่อนร่วมทุกข์ที่เล็กกระจิ๋วหลิวมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นอีกเป็นจำนวนมากอาจมากกว่าส่วนที่มองเห็นด้วยตาเปล่าเสียด้วยซ้ำ ผมคิดขึ้นมาแว่บหนึ่งว่า"ทำไมธรรมชาติจึงสร้างไวรัสที่ว่านี้ขึ้นเพื่อให้มันทำร้ายเผ่าพันธุ์มนุษย์แบบผมและท่านผู้อ่านกันล่ะ
บางสิ่งที่เราเห็นว่า "ชั่วร้าย" จากมุมมองเฉพาะของใครบางคนอาจเป็น "สิ่งดี" ในมุมมองที่กว้างกว่านั้น เราอาจสงสัยว่าทำไมพระเจ้าหรือธรรมชาติจะต้องสร้างความตายมาไว้คู่โลกด้วยนะ
1
ความสงสัยนี้มาจากมุมมองเฉพาะของเราซึ่งกำลังทุกข์ใจเนื่องจากสิ่งที่รักได้ตายไป แต่ถ้าคิดขยายกว้างไปกว่านั้น เราจะเข้าใจว่าหากไม่มีความตายเลย โลกก็คงไม่มีพื้นที่ให้คนหรือสัตว์เลี้ยงที่เรารักนั้นเกิดมา
ในแง่นี้ความตายก็จำเป็นสำหรับโลก เราต้องขอบคุณความตาย(ของผู้อื่น) ที่ได้ให้พื้นที่แก่เราและสิ่งที่เรารักได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อเราหรือสิ่งที่เรารักจะต้องตายไปบ้าง เราก็ควรจะทำใจได้ว่า...
1
"ตอนนี้ถึงคราวเราที่จะต้องทำประโยชน์แก่ผู้อื่นบ้าง"
1
เพื่อนร่วมสังสารวัฏฏ์ที่ตัวเล็กๆมองไม่เห็นเหล่านี้จำนวนมากคือต้นตอของความเจ็บป่วยและความตายของเรา
4
และเป้าหมายคือการดิ้นรนขยายเผ่าพันธุ์ ในขณะที่มนุษย์เราเองก็ต้องดิ้นรนเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ตนเองไว้ทุกวิถีทางเช่นกัน
เครดิตภาพ: https://www.deccanherald.com
ในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่และกำลังท่องเที่ยวไปเพื่อแจกจ่ายแสงสว่างทางปัญญาแก่เพื่อนมนุษย์นั้น เหล่าบรรพบุรุษเพื่อนตัวเล็กของเราเหล่านี้ก็มีอยู่เต็มท้องฟ้าพื้นดิน ทุ่งหญ้า ป่าเขา... ไปหมด
ส่วนหนึ่งก็เข้ามาเกาะพระวรกายของพระองค์เพื่อความอยู่รอดของพวกมัน ในช่วงเวลาที่ระบบกายของพระองค์ยังแข็งแรงอยู่ ยังมีแรงต้านอยู่
เจ้าตัวน้อยเหล่านี้ก็ไม่ทำให้พระองค์เจ็บป่วย แต่เนื่องจากทรงทำงานมาก พักผ่อนน้อย พระวรกายจึงสูญเสียความเข้มแข็งที่จะต้านทานเพื่อนตัวเล็กของเราเหล่านี้ไปมาก
พระพุทธเจ้าของเรานั้นอายุเพียง80 แต่พระสาวกหลายท่านอายุยืนกว่านี้ ปัจจุบันพระสงฆ์ไทยหลายท่านอายุยืนกว่าพระองค์เสียอีก!...
ดังนั้นตำนานเรื่องการสร้างบารมีแล้วร่างกายจะยืนยงนั้นก็เป็นเพียงตำนาน
ความเชื่อเรื่องปฏิบัติธรรม โปรโมชั่นแก้กรรม ปลุกเสก กินน้ำมนต์ เป่ากระหม่อมต่างๆนานา แล้วจะรักษาโรคได้ที่มีดาษดื่นอยู่เวลานก็เป็นเพียงความเชื่อ!...
เราเรียกตนเองว่ามนุษย์ เราเชื่อว่าเราเป็นสิ่งที่สูงส่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน อย่างหมาแมว ช้างม้าวัวควาย สัตว์ปีก สัตว์น้ำ แมลงทั้งหลายก็คงไม่ผิดหากจะมองอย่างนั้นเพราะเราน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวบนโลกนี้ที่สมองพัฒนามามากจนกระทั่งมี ความคิดอ่านที่ลึกซึ้งถึงขั้นเข้าใจตนเอง เข้าใจการที่ตนถูกสร้างมาพร้อมสัญชาตญาณบางอย่าง
2
และเข้าใจว่าตนไม่ต้องทำตามสัญชาตญาณนั้นเสมอไปก็ได้ในกรณีที่เห็นว่า
1
"การไม่ทำนั้นประเสริฐกว่า"
พระพุทธศาสนาสอนเรื่องไม่ฆ่าสัตว์ทั้งที่รู้ว่าเราดูเหมือนจะถูกสร้างมาเพื่อให้กินเนื้อสัตว์
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความเป็นสัตว์ที่ประเสริฐของมนุษย์ เราประเสริฐเพราะเราสามารถเลือกที่จะไม่ทำตามกลไกของสัญชาตญาณที่ถูกติดตั้งเอาไว้ให้พร้อมกับการเกิดของเรา...
แต่ที่สุดเราก็เป็นสิ่งเล็กน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราไม่รู้ในฐานะสิ่งที่ผลักดันให้พวกเราเผ่าพันธุ์ที่เรียกว่ามนุษย์ปรากฏขึ้นในโลกใบนี้
ก่อนวันที่ี14 ตุลาคม 2523 ผมไม่มีตัวตนอยู่ในโลกใบนี้เพราะนั่นคือวันเกิดของผม บางทีผมก็เคยคิดเหมือนกันว่าโลกก่อนวันที่ผมเกิดจะเป็นอย่างไร
เมื่อเกิดมาแล้วผมก็อ่านพบเหตุการณ์ต่างๆก่อนหน้านั้น ตามหนังสือ บทความประวัติศาสตร์ ซึ่งถูกตัดแปะตบแต่ง จริงเท็จมาอย่างไรบ้างก็ไม่อาจทราบได้!
ทั้งหมดเคยเกิดขึ้นในโลกใบนี้ ในประเทศเรียกว่าประเทศไทย แต่ตอนนั้นผมก็ไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้...
เครดิตภาพ: https://sites.google.com
เช่นเดียวกัน วันหนึ่งผมก็ต้องจากโลกนี้ไป กลับไปหาสภาพที่เคยเป็นอยู่ก่อนคือไม่มีตัวตนอยู่ ในโลกใบนี้ ท่านผู้อ่านทุกท่านก็เป็นเหมือนผม
เราทุกคนคือปรากฎการณ์ชั่วคราว
1
แม้การอุบัติขึ้นของมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างพระพุทธเจ้าผมก็เข้าใจว่าเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเช่นกัน
วันหนึ่งดวงอาทิตย์ดวงที่กำลังส่องแสงสุกสกาวมายังโลกของเราดวงนี้จะค่อยๆหมองลงๆ และดับไปในที่สุด ผมเคยคิดว่ามนุษย์ในยุคที่ดวงอาทิตย์กำลังจะดับมอดนั้นจะรู้สึกอย่างไร
ไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าผมจะได้ไปเกิดอีกครั้งในอนาคต
ดังนั้นมนุษย์ที่จะดิ้นรนเพื่อให้ตนอยู่รอดในวันที่ดวงอาทิตย์กำลังจะดับนั้นก็ไม่ใช่ผม ไม่ใช่ท่านผู้อ่าน เหมือนกับที่มนุษย์ที่ตายก่อนเราเมื่อหลายพันปีที่แล้วก็เป็นคนละคนกับพวกเราที่กำลังอยู่ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยพิษภัยอันเกิดจากมือของพวกเราเองเวลานี้
และเพื่อนตัวน้อยๆที่ดิ้นรนอยู่รอดของเผ่าพันธุ์โดยมีเงื่อนไขคือต้องฆ่าเผ่าพันธุ์มนุษย์เช่นเรา
คิดไปคิดมา จักรวาลนี้ก็เหมือนโรงละคร เป็นโรงละครที่มีฉากอยู่ฉากเดียวคือความมืด แสงสว่างนั้นมาที่หลังความมืด เมื่อดวงอาทิตย์และดาวที่มีแสงในตัวทุกดวงค่อยๆแก่และตายลงทีละดวงๆ โรงละครนี้ก็จะกลับไปสู่สภาพเดิมของมัน
สภาพก่อนที่การแสดงจะเริ่มต้นขึ้น
เครดิตภาพ: https://my.dek-d.com
ถ้าโรงละครแห่งชีวิตคือความมืด แต่ละชีวิตก็เหมือนแสงหิ่งห้อยที่ปรากฎขึ้น ดำรงอยู่ชั่วขณะแล้วก็ลับทายไป ท่านผู้อ่านกับผมเวลานี้กำลังบินไปมาท่ามกลางความมืดแห่งโรงละครของชีวิต มีทุกข์มีสุข
ได้หัวเราะได้ร้องไห้ ซึ่งทั้งหมดนั้นควรมองว่าเป็นประสบการณ์ของชีวิตที่มีค่าหมด ผมยังเคยคิดว่าหากวันหนึ่งผมแก่ชราลง ป่วยด้วยโรคมะเร็ง เป็น อัลไซเมอร์ หรืออาจประสบอุบัติเหตุอะไรกระทันหันซักอย่าง ผมควรจะเสียใจกับอุบัติเหตุของชีวิตนี้หรือไม่
ผมตอบไม่ได้ เพราะมันยังไม่ได้เกิดจริง แต่เวลานี้ผมเองก็พยายามเตรียมใจ เตรียมความรู้สึกว่า
(๑) ที่แน่ๆคือวันหนึ่งแสงหิ่งห้อยนี้จะต้องดับลงอย่างแน่นอน อย่าว่าแต่แสงหิ่งห้อยแห่งชีวิตเราที่เล็กเสียเหลือเกินนี้เลย แม้เจ้าแห่งแสงคือดวงอาทิตย์ก็ต้องดับ
(๒) ผมภาวนาขอให้ตนมีสุขภาพดีตามสมควรแก่อัตภาพ หากจะตายก็อย่าได้ทรมานมากนัก
(๓) จะอย่างไรก็ตามคำภาวนานั้นผมรู้ดีว่าไม่เกี่ยวเลยกับสิ่งที่จะเกิดกับผมจริงๆในวันข้างหน้า
ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดกับเราแบบวันต่อวันให้ดีที่สุด
พระพุทธศาสนานั้นในความรู้สึกของผมเป็นสิ่งประเสริฐเพราะสอนให้เราถามคำถามลึกๆกับชีวิต และคำตอบที่ให้ในนามของพระพุทธศาสนาก็คล้อยตามคำถามนั้นคือ ความจริงเป็นอย่างไรเราก็ต้องรับตามนั้น ไม่หลอกตนเองไม่ละเมอเพ้อพก ไม่หวังในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลรองรับว่าเราจะพึงหวังได้
ดังที่ผมกล่าวข้างต้น สังสารวัฏฏ์อาจมองได้อีกรูปหนึ่งว่าคือ Biospheres ขนาดมหึมาภายในสังสารวัฏฏ์ในความหมายนี้ ไม่มีใครที่เราสมควรมองว่าเป็นศัตรู...
เพราะทุกชีวิตล้วนแล้วแต่มีทุกข์ที่ต้องแบกรับเสมอเหมือนกันคือดิ้นรนเพื่อให้ตนอยู่รอด!
1
เครดิตภาพ: http://www.suandharm.com
ก่อนจะตบยุงที่กำลังเกาะอยู่ที่แขน มือที่เงื้อขึ้นจะตบนั้นอาจชะงักแล้วถูกวางลงก็ได้หากเราจะฉุกคิดว่า เจ้าสัตว์ตัวกระจ้อยที่กำลังดื่มเลือดเราอยู่นั้นเพิ่งพ้นจากอ้อมอกของพ่อแม่มันมาเมื่อสักชั่วโมงที่แล้วนี่เอง มันกำลังจะดิ้นรนเพื่อให้ตนอยู่รอดด้วยตัวมันเอง หากมันถูกตบตายตรงนั้น ทุกอย่างในชีวิตมันจะเป็นอันยุติ
2
เครดิตภาพ: https://www.chiangmainews.co.th
ผมไม่รู้ว่าหากเราเป็นพ่อแม่ยุง เราจะรู้สึกอย่างไรที่ลูกน้อยของเราซึ่งเพิ่งจะพื้นจากเราไปกลับต้องจบชีวิตลงอย่างง่ายดายเช่นนั้น ผมไม่รู้ เพราะผมไม่ใช่ยุง...
ไม่ทันไรก็เดือน7 ผ่านมาครึ่งปี งั้นก็มางดเศร้าเข้าพรรษากันอีกที.
ชีวิตยังไม่สิ้นก็ดิ้นรนกันต่อไป ชอบแบบไหน ถนัดทำอะไร เอาที่สบายใจ เพียงไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร เผื่อแผ่เจือจานแบ่งปันกันบ้าง ใช้ชีวิตที่มีนี้ให้คุ้มค่าและไม่ประมาทก็แล้วกัน...
ทิ้งท้ายด้วยคำคมนักปรัชญากรีกยุคเก๋าครับ
"We could not step twice into the same river."
"เราไม่สามารถก้าวเข้าไปในกระแสน้ำเดียวกันได้ถึงสองครั้ง"
เพราะกระแสน้ำไหลไปเรื่อยๆไม่หยุดหย่อน กระแสน้ำที่เราข้ามไปแล้วครั้งแรกย่อมไหลไปในทันทีไม่มีหยุดกระแสน้ำที่ข้ามครั้งที่สอง จึงเป็นกระแสน้ำใหม่เข้ามาแทน...
เฮราครีตุส (Heraclitus)
แหล่งข้อมูล.
Wisdom Magazine
-วิรุฬหก-
(อาสาฬหบูชา2563)
8 บันทึก
35
3
17
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ปรัชญาภาษา "Philosophy of Language"
8
35
3
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย