4 ก.ค. 2020 เวลา 15:54 • ปรัชญา
"ขนาดกล้วยหวีเดียวกันยังสุกไม่พร้อมกัน แล้วทำไมเราต้องสำเร็จพร้อมคนอื่น"
ที่มาภาพ https://mobile.twitter.com/pandanusoso/status/971243163036930049?lang=bn
🤔 เคยสงสัยมั้ยครับว่าทำไมกล้วยที่อยู่ในหวีเดียวกันถึงไม่สุกพร้อมกัน?
การสุกของผลไม้จะเกิดขึ้นอย่างปกติ เมื่อผลไม้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เช่น ผลแก่จัดเต็มที่ อุณหภูมิพอเหมาะ ความชื้นสัมพัทธ์พอเหมาะ มีออกซิเจนเพียงพอ ผลไม้จึงจะเกิดการสุกขึ้นได้
🍌กล้วยนั้นจัดว่าเป็นผลในกลุ่ม climacteric fruit ( ได้แก่ ทุเรียน กล้วย มะม่วง ละมุด มะละกอ มังคุด ) ผลไม้พวกนี้จะมีการหายใจสูงมากในช่วงที่ผลสุก และในช่วงนี้จะมีการสร้างเอทิลีน( ฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการสุกของผลไม้ นำมาใช้บ่มผลไม้ได้ ) ขึ้นภายในผลเป็นจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้นอัตราการหายใจและปริมาณเอทิลีนจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อมีเอทิลีนสูงจะเร่งให้มีการหายใจมากขึ้น ซึ่งจะเร่งให้มีกระบวนการสุกเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์
กล้วยในหวีเดียวกันนั้น ถึงแม้จะอยู่ในสภาวะแวดล้อมเดียวกัน แต่ก็ไม่ 100% บางลูกอาจได้รับแสงแดด ความชื้นและออกซิเจนมากกว่าลูกอื่นจึงเกิดการสุกก่อน ต่อมาเมื่อมีการสุกขึ้นก็จะสร้างเอทิลีนออกมามากขึ้น
เอทิลีนมีคุณสมบัติเป็นแก๊ส ก็จะแพร่ไปให้ผลที่อยู่ข้างเคียง กระตุ้นให้มีการหายใจมากขึ้นและสุกเร็วขึ้นตามๆกันมา
แล้วผมเรียนรู้อะไรจากเรื่องกล้วยสุก?
🎯 1) คุณและผมไม่จำเป็นต้องสุก (ประสบความสำเร็จ) พร้อมๆคนอื่น
📌แม้คนอื่นๆจะอายุเท่าคุณ
📌 เรียนโรงเรียนเดียวกับคุณ
📌 เรียนมหาวิทยาลัยและคณะเดียวกับคุณ
📌 ทำงานที่เดียวกับคุณ
📌 พ่อแม่เค้าเป็นเพื่อนกับพ่อแม่คุณ
📌 บ้านเค้าอยู่ใกล้คุณ
และอื่นๆอีกมากมาย
เพราะคนอื่นๆเค้าไม่ได้มีสภาวะแวดล้อมที่เหมือนกับเรา ไม่ได้มีประสบการณ์ และอะไรก็ตามเหมือนกับเรา ดังนั้นไม่มีมาตรวัดอะไร จะมาบอกได้ว่า อายุเท่านี้ต้องมีอะไรบ้าง เรียนจบที่นี่ต้องเข้ามหาวิทยาลัยนี้ได้ จบคณะนี้ต้องรวยกว่าคณะอื่น
เรื่องนี้อาจจะเปรียบเทียบได้กับเรื่องการผลิบานของดอกไม้ก็ได้ด้วยนะครับ ถ้าเปรียบคนแต่ละคนเป็นต้นไม้แต่ละชนิด ต้นไม้คนละชนิดกันออกดอกตอนอายุไม่เท่ากันหรอกครับ ขนาดต้นไม้ชนิดเดียวกันโตคนละบ้าน ยังออกดอกไม่พร้อมกันเลยนะ ( แนวคิดนี้แอดปรับมาจากเนื้อหาบางส่วนในหนังสือเพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด)
🎯 2 ) การอยู่ใกล้คนที่สุก ( ประสบความสำเร็จ ) เราอาจจะสุกได้เร็วขึ้น
ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องกล้วยสุก จะใกล้เคียงกับกฏค่าเฉลี่ยของ Jim Rohn ได้ แต่มันก็มีความน่าเชื่อถือในเหตุและผล เวลาที่เราอยู่ใกล้กับใคร เราก็มักจะเลียนแบบเค้า ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว
ดังนั้น ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น เราอาจต้องหาใครสักคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว เป็นต้นแบบให้เราทำตามได้ แม้เราจะไม่สามารถเข้าใกล้ตัวเค้าได้ แต่เราเรียนรู้แนวคิด กระบวนการใช้ชีวิตของเค้าแทนก็ได้ครับ
เป็นไงกันบ้างครับ เทรนด์การประสบความสำเร็จไว ตั้งแต่อายุยังน้อย กดดันคนหลายคนให้มุ่งทำแต่งาน หรือหาแต่เงิน จนบางครั้งก็ลืมไปว่าแต่ละคนมีต้นทุนไม่เท่ากัน อยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน รู้จักคนในระดับต่างกัน ดังนั้น การที่เรายังไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะเป็นเพราะเราอาจจะยังรอเวลาที่เราจะสุกเต็มที่ก็ได้นะครับ 😁
#Mindset
#blockdit
โฆษณา