5 ก.ค. 2020 เวลา 03:47 • ข่าว
MovieTalk มูฟวี่ตะลอน:
‘สกาลา’ ลาก่อน…เหลือไว้ให้จดจำ: ตอนที่ 1
จากความผูกพัน และความทรงจำของ...มูฟวี่
หลังจาก ‘ยื้อ’ มายาวนาน ในที่สุดวันที่ทุกคนไม่อยากให้มาถึง ก็เกิดขึ้น ‘วันสุดท้ายของสกาลา’
โรงภาพยนตร์ประเภท ‘สแตนอโลน’ แห่งสุดท้าย ‘สกาลา’ จะปิดตัวอย่างถาวรในวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2563 หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง Cinema Paradiso จบลง ในช่วงเวลาหลังสองทุ่ม ถือเป็นบทสุดท้ายของ ‘สกาลา’ ที่อยู่คู่กับสยามสแควร์ และคอหนังทุกเพศวัย
ในฐานะ ‘คอหนัง’ ผมมีความผูกพันกับสกาลามานับตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ที่นี่มีความทรงจำที่เต็มไปด้วยความสุข ผมเคยไปนั่งดูหนังกับก๊วนเพื่อน หัวเราะเฮฮา ตื่นเต้นไปด้วยกัน พออยู่มหาลัยก็ยังแวะเวียนไปดูหนังที่โรงแห่งนี้คนเดียวเพื่อทำรายงาน มาถึงช่วงแรก ๆ ที่เข้าทำงานก็ไปดูหนังฆ่าเวลารอแฟน ที่คุณเธอไปเดินช็อปปิ้งกับเพื่อน ๆ แม้จะไม่บ่อย แต่เวลาอยากดูหนังจอใหญ่ ๆ ที่นี่คือโรงหนังแรกที่ผมคิดถึง
กระทั่งการมาของโรงหนังมัลติเพล็กซ์ ผมเองก็ห่างหายไปจากสกาลายาวนานมาก แต่สกาลาก็ยังยืนหยัดต้อนรับแฟนหนังทุกเจนเนอเรชั่นเสมอ
จนวันหนึ่งที่ผมกลับมานั่งดูหนังที่สกาลาอีกครั้งในช่วงที่ชีวิตผ่านหลักสี่ไปแล้ว มันเหมือนการกลับมาพบกับเพื่อนเก่าอีกครั้ง เขายังคงเป็นเพื่อนคนเดิม ที่รอคอยการกลับมาของเพื่อนนักดูหนัง ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เริ่มตั้งแต่
เมื่อเราเดินขึ้นบันไดหินอ่อน และมองเห็นโคมไฟระย้าแชงกาเรียแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังหลงเหลืออยู่ และไม่มีอะไหล่ให้เปลี่ยนถ้ามันเกิดแตกเสียหาย
เมื่อเดินตรงไปที่บูธขายตั๋วหนัง ผังที่นั่งแบบกระดาษให้เราชี้ที่นั่งที่ต้องการ ก่อนที่มันจะถูกกากบาทลงไป และเราก็ได้รับตั๋วหนังแบบกระดาษ
หนังยังคงฉายเป็นรอบ 12.00, 14.00, 17.00, 20.00 และ 22.00 น. วันเสาร์อาทิตย์เพิ่มรอบเช้า 10.00 น.
ตู้ป็อปคอร์นโรงหนัง ยังคงราคาถูกที่สุด 40.- เท่านั้น! คุณจะไปหาข้าวโพดคั่วโรงหนังราคาถูกแบบนี้ได้ที่ไหนในโลกนี้?
รอยปูนปั้นยังปรากฎให้เห็นเด่นชัดบนผนัง
เมื่อเดินมาถึงหน้าทางเข้า พี่ ๆ พนักงานฉีกตั๋ว ยังคงอยู่ในชุดสูททักซีโด้สีเหลือง ผูกหูกระต่าย 2 คนด้านนอก ทำหน้าที่ฉีกตั๋วพร้อมรอยยิ้ม
และเมื่อเดินเข้าไปด้านในอีก 2 คน ที่ในมือถือไฟฉายคอยส่องไฟนำทางไปยังที่นั่งของเรา พวกเขายังคงทำหน้าที่อย่างแข็งขัน แม้ว่าทุกวันนี้ ดูเหมือนจะไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะทุก ๆ คนต่างก็มีไฟฉายในมือถือคอยส่องนำทางด้วยตนเอง
เก้าอี้ยังเป็นตัวเดิม ส่วนเบาะนั่งอาจจะปรับปรุงซ่อมแซมด้วยการอัดฟองน้ำเข้าไปใหม่ตามอายุการใช้งาน แต่นี่คือเก้าอี้โรงหนังแบบที่ผมโตมากับมัน ไม่ใช่โซฟาโรงหนังแสนนุ่มสบายแบบในโรงมัลติเพล็กซ์
เมื่อนั่งลงแล้วเหลียวมองไปรอบ ๆ เราจะเห็นผ้าม่านผืนใหญ่ด้านหน้า, ซ้ายและขวาของโรงหนัง งานฝีมือเย็บผ้าม่านที่ช่างเย็บล้มหายตายจากไปหมดแล้ว
โรงหนังขนาดใหญ่จากที่เคยความจุเกิน 1,000 ที่นั่ง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 700 กว่าที่นั่ง
เมื่อวัยรุ่นผมเคยสัมผัสบรรยากาศเหล่านี้ และวันนี้ผมก็ยังคงรู้สึกกับบรรยากาศที่คุ้นชินแบบเดียวกันไม่เปลี่ยนแปลง
สิ่งเดียวที่เปลี่ยนแปลงคือ ความรุ่งโรงจน์ของโรงหนังที่เคยคนดูเต็มทุกรอบ แต่เมื่อพฤติกรรมของคนดูเปลี่ยนไป การดูหนังไม่ต้องพึ่งพาความใหญ่ยักษ์ของจอหนังอีกต่อไป เพราะพวกเขาสามารถโหลดหนังมาดูในมือถือหรือแท็ปเล็ต ที่ขนาดไม่ได้ใหญ่เกินไปกว่านิตยสารเล่มหนึ่ง
ผมเคยพยายามรณรงค์ให้ผู้คนหันมาดูหนังที่สกาลา ผ่านทางบทความใน OKNation และที่ Blockdit เมื่อ 30 ก.ย. 62 ในคอนเทนต์ “ที่นี่…โรงหนัง”
แต่ในที่สุด...ทุกอย่างก็ต้องยุติลง
เพื่อนเก่าคนเดิมหมดแรงจะไปต่อแล้ว 51 ปีของการทำหน้าที่มอบความบันเทิงจากรุ่นสู่รุ่น เขาเหนื่อยและท้อเกินกว่าจะสู้ต่อไปแล้ว ถึงเวลาที่เพื่อนเก่าคนนี้จะพักผ่อนอย่างถาวรแล้ว
ผมตั้งใจจะเป็นส่วนหนึ่งของการอำลาสกาลา เลือกที่นั่ง S19 เพราะ S เป็นตัวอักษรตัวแรกชื่อจริงของผม ส่วน 19 คือ วันที่ผมเกิด และผมเลือกดูคือรอบ 15.00 น. เป็นหนังสารคดี 2 เรื่อง ได้แก่
La Scala หนังสารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ และร่วงโรยของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับโรงหนังสกาลา ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ทำงาน หากแต่เปรียบเสมือนบ้านของพวกเขา หนังสารคดีที่เราได้เห็นเบื้องหลังของพี่ ๆ ที่เราเคยเดินผ่านหน้าเขาไป ไม่รู้จักชื่อ แต่จำหน้าได้ ใบหน้าที่เปื้อนยิ้มให้กับทุกคนเสมอ
มันเป็นการดูหนังสารคดีที่ทั้งสนุก และหดหู่ไปพร้อม ๆ กัน เพราะคนดูในรอบนั้นต่างก็รับรู้ว่า ‘สกาลา’ จะไม่มีอีกต่อไปแล้ว
La Scala เป็นผลงานของ อาทิตย์ อัสสรัตน์ เป็นผลงานในโครงการเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เอเชีย ในเทศกาลหนังปูซาน ปี 2559
ส่วนหนังสารคดีอีกเรื่องคือ “นิรันดร์ราตรี Phantom of Illumination เป็นผลงานของ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย สารคดีเชิงทดลองที่เดินสายฉายตามเทศกาลหนังทั่วเอเชีย ว่าด้วยเรื่องราวของพนักงานประจำห้องฉาย ของโรงหนังชั้นสองในตำนาน ‘ธนบุรีรามา’ ที่กำลังจะปิดตัวลง
หนังสารคดีทั้งสองเรื่อง มีจุดร่วมเดียวกันคือ ‘โรงหนังที่ต้องปิดฉาก’ ตามกาลเวลา และกระแสความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังชั้นหนึ่ง หรือโรงหนังชั้นสอง สุดท้ายก็ต้องยุติลงเช่นเดียวกัน
คุณนันทา ตันสัจจา ผู้บริหาร APEX
เสียงปรบมือดังขึ้นทั้งโรงหนัง เสมือนการชื่นชม และอำลาเพื่อนเก่า ‘สกาลา’
ไม่มีอะไรจะกล่าว...นอกจากความเศร้าที่อบอวลอยู่ในความรู้สึก
"ใจหาย และ เสียดาย..."
ทั้งหมดนี้คือ ‘สกาลา’ ลาก่อน…เหลือไว้ให้จดจำ
***ขอเชิญชวนทุกท่าน แสดงความเห็นและบอกเล่าเรื่องราวที่มีกับ 'สกาลา'
ได้ในคอมเมนท์ด้านล่างนะครับ
### ในบทความต่อไป จะเป็นภาพบรรยากาศ วันก่อนอำลา 'สกาลา' 4 กรกฎาคม 2563
ซึ่งเป็นภาพบรรยากาศจริงครับ ขอได้โปรดติดตาม
***อ่านประวัติความเป็นมาของโรงหนัง ‘สกาลา’ ได้จากบทความตามลิงก์ด้านล่างนี้ครับ
ขอบคุณที่มาข้อมูล: Wikipedia, asaconservationaward.com, thairath.co.th
ขอบคุณที่มาภาพประกอบ: thairath.co.th, mgronline.com, sarakadee, matichon
Photo by มูฟวี่
Camera: FUJI X-T10, Samsung Note FE, Samsung A20S

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา