5 ก.ค. 2020 เวลา 10:26 • ธุรกิจ
การวางแผนเกษียณ>>>
1
เราเคยคิดกันเล่น ๆ มั้ยคะ ว่า หลังจากที่เราเดินทางไปถึงจุดที่เรียกว่า "เกษียณอายุ" แล้ว (โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน) ซึ่งปกติจะอยู่ในช่วงวัย 55 หรือ 60 ปี เราจะเอาเงินที่ไหนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ Internet ค่ารักษาพยาบาล ค่าท่องเที่ยวและอื่น ๆ
1
การเริ่มต้นออมเงินเพื่อวัตถุประสงค์ในวัยเกษียณ เราควรพิจารณาอะไรบ้าง
1. ลองถามตัวเองก่อนว่า เรา ต้องหรือจะเกษียณตอนอายุ 55 ปีหรือ 60 ปี
2. ระยะเวลานับจากปัจจุบัน ไปจนถึง วันเกษียณ เหลืออีกกี่ปี
3. หลังจากเกษียณแล้ว เราคิดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกกี่ปี
4. หลังจากเกษียณแล้ว เราต้องการจะใช้เงินกี่บาทต่อเดือน
1
"พระอาทิตย์ กำลังจะลับขอบฟ้า ที่แหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต"
สมมุติ ปัจจุบัน เราอายุ 30 ปี คาดว่าจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และหลังจากเกษียณ คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ถึงอายุ 80 ปี และต้องการมีรายได้ไว้ใช้เดือนละ 50,000 บาท (อาจดูเยอะเมื่อเทียบกับมูลค่าเงินในปัจจุบัน แต่ สำหรับ ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ถือว่าไม่เยอะมาก)
วิ ธีคำนวณ (ตามตัวอย่างสมมุติ) (แบบยังไม่คำนึงถึงอัตราผลตอบแทนและอัตราเงินเฟ้อ)
1. หลังเกษียณอยู่ต่อไปอีก 20 ปี เราต้องมีเงินเท่ากับ 12 ล้านบาท (50,000 บ.ต่อเดือน * 12 เดือน * 20 ปี)
2. เหลือเวลาทำงานอีก 30 ปี (60 ปี-30ปี) เท่ากับต้องออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ เดือนละ 33,333.33 บาท (12 ล้าน หาร 30 ปี หาร 12 เดือน)
จากการคำนวณตามข้อสมมุติ เราต้องออมเงินเดือนละ 33,333.33 บาท เพื่อให้มีเงินไว้ใช้เดือนละ 50,000 บาท ในวัยเกษียณ (ไหวมั้ยคะ?)
บางคนบอกว่า "สบายมาก" บางคนบอกว่า "มันเยอะไป" สำหรับคนที่มองว่า "มันเยอะไป" เราจะพอมีเครื่องมืออะไรมาทำให้การออมเงินในแต่ละเดือนมันน้อยลง แต่ยังได้ผลปลายทางตามที่ตั้งใจไว้ สิ่งนั้น คืออะไร สิ่งนั้น ก็คือ "การลงทุน"
1
การลงทุนที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ ประกอบด้วย
1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เราออม และ นายจ้างช่วยสมทบตามอายุงานและกองทุนฯ ก็นำเงินออมทั้งในส่วนของเรา และนายจ้างไปออกดอกออกผล (เงินกองทุนฯ ในส่วนที่เราออม สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และไม่เกิน 5 แสนบาท)
2. RMF (Retirement Mutual Fund) มีให้เลือกหลากหลายประเภทกองทุน ไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้ ตราสารทุน ตราสารหนี้ผสมตราสารทุน หรือ แม้แต่การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ (เงินออมส่วนที่เราจ่ายซื้อกองทุน RMF สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้และไม่เกิน 5 แสนบาท เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป)
3. SSF (Super Saving Fund) มาใหม่ เพื่อทดแทนสิทธิลดหย่อน LTF (เดิม) สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 2 แสนบาท โดยต้องถือไว้ให้ครบ 10 ปี (ซื้อได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 - 31 ธันวาคม 2567)
4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (ออมเงินตามระยะเวลา และ รอรับบำนาญตามเงื่อนไข) เงินออมที่ส่งเป็นค่าประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และ ไม่เกิน 2 แสนบาท
(รวมเงินออมตามข้อ 1-4 สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 5 แสนบาท)
4
"ทะเลภูเก็ต ช่างสวยงาม ควรคู่กับการพักผ่อนในวัยเกษียณ"
ดังนั้น หากเรานำเงินออมที่มีอยู่ไปลงทุน (แบบต่อเนื่อง) และได้อัตราผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอทุกปี เช่น 3% 5% 8% ต่อปี แบบอัตราทบต้นทบดอก บวกกลับระยะเวลาในการลงทุนที่ยาวนาน (ยิ่งนานยิ่งดี) จะทำให้ยอดเงินออมในแต่ละเดือนน้อยกว่า 33,333.33 บาท (ตามตัวอย่างสมมุติ) เช่น หากเราสามารถนำเงินออมไปลงทุนได้ผลตอบแทนปีละ 8% เราอาจจะออมเงินเพื่อการลงทุนเพียงเดือนละ 20,000 บาท เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การออมในแต่ละเดือนลดน้อยลง
แล้วใครกันที่ควรเริ่มต้นวางแผนเกษียณอายุ เอาจริง ๆ ก็คือ ทุกคนควรเริ่มออมตั้งแต่เรียนจบและเริ่มมีรายได้ ซึ่งหากออมเร็วออมนานและรู้จักนำเงินออมไปลงทุน จะทำให้เป้าหมายในวัยเกษียณเป็นจริง บทความนี้ผู้เขียนจะเน้น การออม การลงทุนเพื่อวัยเกษียณ และการมีชีวิตที่สุขสบายหลังวัยเกษียณแบบที่ถูกกำหนดให้ต้องหยุดทำงานตอนอายุ 55 ปี หรือ 60 ปี นะคะ แต่ สำหรับบางคนที่มีการประกอบธุรกิจเพิ่มเติมเรียกได้ว่า ไม่มีกำหนด วันเกษียณ แบบนี้จะยังมีรายได้เข้ามาตลอด ไปจนกว่า เราจะหยุดและเกษียณตัวเองค่ะ
3
ผู้เขียนเอง ก็เป็นคนหนึ่ง ที่เก็บออมเงินเพื่อวัยเกษียณ ถึงแม้จะไม่ได้เริ่มต้นทันทีตั้งแต่ตอนเรียนจบและเริ่มมีรายได้ แต่ก็เรียกว่า ยังไม่สาย ที่จะเริ่มต้นลงมือทำ และถึงแม้ บริษัทฯ ที่ผู้เขียนทำงานอยู่จะกำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 60 ปี แต่ผู้เขียนก็จะพยายามสร้างธุรกิจของตัวเองควบคู่กันไป เพราะผู้เขียนมองว่า 60 ปี ก็ยังแจ๋วอยู่ แจ๋วเกินกว่าที่จะหยุดทำงาน หรือ หยุดทำอะไรดี ๆ ต่อไปค่ะ
เรามาวางแผนเกษียณและสร้างธุรกิจ ไว้ทำหลังเกษียณกันนะคะ ช่วงนี้ แม้มันจะยากลำบากหน่อย กับการมีเงินออมเหลือเก็บ ในสถานการณ์ โควิด แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ซักวันนึงมันจะต้องผ่านไป และ ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นค่ะ สู้ ๆ กันต่อไปนะคะทุกคน✌✌
เพจและ Photo by VI Style by MooDuang
โฆษณา