7 ก.ค. 2020 เวลา 10:19 • ครอบครัว & เด็ก
W SITTING 🗯
เชื่อว่าถ้าสังเกตดีๆจะเจอเด็กหลายๆคนที่ติดการนั่งในท่า W จากที่เห็นคือเด็กตั้งแต่ประมาณ 10เดือนไปจนถึง 6ปี นั่งท่านี้กันเยอะมาก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่บางท่านก็รู้ว่าท่านั่งนี้ไม่ควรให้ลูกนั่ง แต่ก็ยังจัดการปัญหานี้ไม่ได้สักทีเพราะเจ้าตัวเล็กก็ดูจะชอบนั่งท่า W นี้เหลือเกิน หรือบางบ้านคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ทราบถึงผลเสียที่อาจจะเกิดกับเด็กๆที่นั่งท่า W ได้ วันนี้เลยคิดว่าจะมาพูดถึงเรื่องท่านั่ง W กันค่ะ สำหรับบางท่านที่ยังนึกภาพไม่ออกว่าเป็นท่าทางประมาณไหน ก็คือท่านั่งงอเข่าแนบระนาบไปกับพื้น ส้นเท้าทั้งสองข้างอยู่แนวเดียวกับสะโพก (ก้นของเด็ก) เมื่อเด็กนั่งในท่านี้ขาก็จะดูคล้ายตัว W นั่นเองค่ะ
ทำไมเด็กถึงนั่งท่านี้ ?
1. เพราะกล้ามเนื้อแนวกลางลำตัวไม่แข็งแรง จึงนั่งท่า W ที่มีฐานกว้าง มีสะโพกเป็นจุดรับน้ำหนัก จะช่วยให้เด็กนั่งได้มั่นคงขึ้น ไม่ล้ม ไม่เอียง นั่งทำกิจกรรมได้ง่าย
2. เป็นท่านั่งที่สบายสำหรับเด็ก
3. เด็กในช่วงหัดคลาน หรือกำลังฝึกลงน้ำหนักในท่าคลาน หลังจากคลานเสร็จแล้วมีการเปลี่ยนท่าเป็นท่านั่ง การที่เด็กดึงตัวเองมาด้านหลังจะทำได้ง่ายกว่าเปลี่ยนไปนั่งท่าขัดสมาธิ หรือเหยียดขา ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหลังจากเด็กคลานเด็กจะนั่งท่า W เพราะง่ายกว่าท่าอื่นๆ
ผลเสียของการนั่ง W sitting
1. การที่เด็กนั่งท่า W ทำให้ลดการเคลื่อนไหวของลำตัว เพราะเอี้ยวบิดตัวยาก จึงถ่ายเทน้ำหนักจากข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งได้ยากมากขึ้นด้วย ความสามารถในการทรงตัวของกล้ามเนื้อลำตัวลดลง ดังนั้นกล้ามเนื้อส่วนลำตัวจะไม่ได้ใช้งานในการทรงท่าอย่างเต็มที่ถ้าเด็กนั่งอยู่ในท่านี้
2. เนื่องจากเอี้ยวบิดตัวยาก จึงเป็นการลดโอกาสที่เด็กจะเอื้อมมือไปจับสิ่งของด้านซ้ายและด้านขวามือของเด็ก นอกจากมีปัญหาเริ่องกล้ามเนื้อในการทรงตัวอาจทำให้เกิดปัญหากล้ามเนื้อมัดเล็กในเรื่องของการใช้มือร่วมด้วย
3. การนั่งในท่า W ทำให้กระดูกขาท่อนบนบิดหมุนเข้าด้านในมากกว่าปกติ เพิ่มแรงกดบนสะโพก หัวเข่า ข้อเท้า ทำให้ข้อสะโพกบิดเข้าด้านในมากกว่าปกติ (Internal Femoral Torsion) และกระดูกส่วนน่องหมุนเข้าด้านใน ทำให้ปลายเท้าของเด็กหมุนเข้าหาตัวเอง เรียกว่า pigeon-toed การที่ปลายเท้าอยู่ในท่านี้ทำให้เด็กเดินเหมือนเป็ด ดูทรงตัวไม่ค่อยดีเหมือนจะล้มขณะที่เดิน และทำให้ความสามารถในการยืน เดินและทรงท่า หรือการทำกิจกรรมลดลงจากการที่เท้าบิดหมุนเข้าด้านใน เช่น การยืน เดิน กระโดด ปีนป่าย ปั่นจักรยานเป็นต้น
4. เมื่อนั่งในระยะยาวอาจทำให้เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อขาบางมัด ทำให้มีท่าทางที่ผิดปกติและเกิดการปวดหลังได้
5. และข้อสุดท้ายในการนั่งท่า W นานๆทำให้ข้อสะโพกหลวมหรือมีความยืดหยุ่นเกินไป ทำให้มีโอกาสที่สะโพกจะหลุดออกจากเบ้า
** มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่แสดงว่าเด็กก่อนวัยเรียนที่นั่งท่า W sitting มีโอกาสเกิดเท้าแบนทั้ง 2 ข้างในเด็กด้วย แนบลิงค์ไว้เผื่อสนใจค่ะเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้นะ 👉🏼 https://link.springer.com/article/10.1007%2Fs00431-010-1380-7 **
การจัดการกับปัญหา W sitting
1. นั่งอยู่ในท่าเหยียดขาตรงออกมาด้านหน้าขณะเล่นหรือทำกิจกรรม
2. นั่งขัดสมาธิเวลานั่งเล่นบนพื้น
3. นั่งท่าวงแหวน (เหมือนท่าเหยียดขาตรงแต่เท้าประกบกัน)
4. นั่งเก้าอี้/นั่งห้อยขา
5. นั่งพับเพียบ .. ดีกว่า W sitting แต่ถ้าเด็กสะดวกนั่งใน 3ท่าข้างบนที่แนะนำไป ให้นั่ง3ท่านั้นเป็นหลัก เพราะถ้านั่งพับเพียบนานๆก็อาจทำให้เกิดปัญหาหลังคดได้อีกในอนาคตค่ะ
⭐️ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สังเกตเห็นลูกๆนั่งท่าW บนพื้น ควรให้เค้าเปลี่ยนท่าด้วยค่ะ ซึ่งยังไม่ควรไปจับเปลี่ยนท่าเด็กในทันที ควรสะกิดหรือแตะที่ขาของเด็กเพื่อให้เด็กรู้ตัวก่อน แล้วบอกว่า “นั่งสวยๆค่ะ” หรือ “นั่งดีๆครับ” เมื่อเด็กมองที่ขาตัวเองแล้ว ก็ค่อยจับเปลี่ยนท่าให้อยู่ในท่านั่งเหยียดขา หรือขัดสมาธิ ทำซ้ำๆบ่อยๆเด็กก็จะรู้ว่าต้องเปลี่ยนท่านั่ง จากช่วงแรกที่ต้องคอยแตะ ให้ดูขาตัวเองก่อนเปลี่ยนท่าตลอด ถ้าทำบ่อยจนเด็กเรียนรู้ช่วงหลังๆแค่ชี้ไปที่ขาหรือบอกเด็กก็จะรู้ว่าเด็กต้องเปลี่ยนท่าไปนั่งยังไง ช่วงแรกอาจจะต้องใช้เวลานานนิดหน่อยในการบอกให้เค้าสังเกตและรู้ตัวเอง แต่สุดท้ายเค้าก็จะเรียนรู้ได้ว่าควรนั่งยังไง แต่ในทางกลับกันถ้าผู้ปกครองเปลี่ยนท่านั่งให้ทันทีโดยที่เด็กยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังนั่งในท่าอะไรอยู่ สุดท้ายเค้าก็ยังนั่งตามความเคยชินเหมือนเดิม และอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อข้อต่อที่เกิดจากการนั่งท่า W ได้ ⭐️
WELL KIDS 👶🏻
โฆษณา