7 ก.ค. 2020 เวลา 17:02 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Warfarin: เมื่อยาพิษร้ายกลับกลายมาเป็นยา
เกร็ดความรู้ทางการแพทย์ประจำวันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับที่มาของยาชนิดหนึ่งที่ปัจจุบันแทบจะไม่มีแพทย์คนไหนไม่รู้จัก เพราะเป็นยาที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเพื่อแก้ไขปัญหาการแข็งตัวของเลือดที่ง่ายกว่าปกติ (hypercoaglable state) และเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดเกิดการแข็งตัวในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ่มเลือดอุดตันที่สมอง หรือที่ปอด เป็นต้น ยาที่ว่านี้มีชื่อว่า Warfarin หรือ coumarin นั่นเอง
ในปี 1939 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญขึ้นในมลรัฐ North Dakota และ Canada นั่นคือมีการตายของวัวและปศุสัตว์จำนวนมาก และมีลักษณะการตายคล้ายกันคือเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ อย่างรุนแรง เมื่อสืบค้นหาสาเหตุ ก็พบได้ว่า เกิดจากการที่สัตว์เหล่านี้ได้กินพืชชนิดหนึ่งคือ Sweet Clover เข้าไป ปะปนกับหญ้าและพืชอื่น ๆ
ต้น sweet clover
นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามค้นหาสารออกฤทธิ์ในพืชชนิดนี้ และได้ตั้งชื่อสารนี้ว่า dicoumarol (ซึ่งอยู่ในกลุ่ม coumarin)
หลังจากพบว่าสารนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการออกฤทธิ์ของ vitamin K ก็ได้มีการผลิตสารนี้ออกมาเพื่อใช้เป็นยาฆ่าหนู (สมัยก่อนถ้าใครเกิดทัน มียาฆ่าหนูยี่ห้อหนึ่งในท้องตลาดด้วยนะครับ ชื่อ ราคูมิน เม็ดสีฟ้า และสีชมพู)
ตัวอย่างยากำจัดหนู "ราคูมิน" ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด
ด้วยคุณสมบัติที่สารนี้สามารถป้องกันการแข็งตัวของเลือดได้ จึงมีความพยายามที่จะนำเอายานี้มาใช้รักษาโรคในกลุ่มเลือดแข็งตัวง่ายผิดปกติหรือ thrombotic disease อยู่เป็นระยะ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยม จนกระทั่ง ประธานาธิบดี Dwight D Eisenhower เกิดอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และได้ใช้ยานี้เพื่อการรักษาจนดีขึ้น จึงเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยานี้ในทางการแพทย์อย่างจริงจัง ภายใต้การสนับสนุนให้ทุนจากสถาบัน Wisconsin Alumni Research Foundation จึงทำให้ในปัจจุบันยานี้เป็นยาที่ถูกใช้มากเป็นอันดับที่ 14 ของยาทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ชื่อปัจจุบันของยา Coumarin คือ Warfarin นั้น ก็ได้มาจากชื่อของสถาบันที่ทำวิจัยเกี่ยวกับยานี้อย่างจริงจังเป็นสถาบันแรก นั่นคือ Wisconsin Alumni Research Foundation (W-A-R-F-arin) นั่นเอง
โฆษณา