Post 31 : ภาษาไทย ในโรงเรียนเยอรมันและในบ้านของเรา
ชื่นชมจากใจจริง กับความสำเร็จของ
"โรงเรียน กอ ไก่ โรงเรียนเพื่อเด็กไทยในเยอรมนี"
ที่ผลักดันจนทำให้ภาษาไทย ถูกบรรจุเป็นอีกหนึ่งภาษาทางเลือก อย่างเป็นทางการในหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนเยอรมัน ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา สายสามัญและสายอาชีพแห่งเมือง Düsseldorf
คุณพ่อบ้านเยอรมันเขียนรายละเอียด รวมถึงแจกแจงข้อดีสารพัดสำหรับความสำเร็จก้าวใหญ่ ๆ ในครั้งนี้
ใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเชิญที่เพจคุณพ่อบ้านเลยค่ะ
.
สำหรับภาษาไทยในครอบครัวเรา ..
ความที่เราทั้งสามคนเป็นคนไทย พ่อแม่ลูก เลยคุยกันเป็นภาษาไทยมาแต่ไหนแต่ไร
ส่วนปุญถึงแม้คลังศัพท์ภาษาแม่นี้จะไม่มากเท่าเด็กไทยที่โตที่ประเทศไทย แต่ก็ถือว่าทักษะการพูดภาษาไทยของปุญ อยู่ในระดับเอาตัวรอดได้ดี ไม่มีปัญหา
.
ส่วนภาษาพูดภาษาที่ 2 ของปุญคือภาษาเยอรมัน ..
ว่าไปปุญก็ฝึกพูดเยอรมันหลังจากพูดไทยได้ไม่นาน เพราะเราย้ายมาเยอรมนีตั้งแต่ปุญ 2 ขวบครึ่ง พูดไทยยังไม่ชัดเท่าไร ก็เริ่มเข้าอนุบาล
ได้ฝึกพูดภาษาเยอรมันกับเพื่อน กับครูเวลาอยู่โรงเรียน และฝึกพูดไทยกับแม่และพ่อเวลาอยู่บ้าน .. ภาษาแม่ทั้ง 2 ภาษาของปุญเลยถูกพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน
.
ส่วนทักษะการอ่าน ..
ก็คงต่อเนื่องมาจากทักษะการฟัง .. เพราะแม่ป๋อมอ่านนิทานภาษาไทยให้ปุญฟังตั้งแต่เด็ก ๆ เป็นประจำทุกคืน และเจาะจงเลือกนิทานที่ใช้ภาษาดี เหมาะสมกับวัย เพื่อให้ปุญได้เรียนรูปประโยคที่ถูกไวยกรณ์ แบบภาษาเขียนไม่ใช่ภาษาพูดที่ใช้อยู่เป็นประจำ
อีกทั้งยังต้องการให้ลูกได้รู้จักวัฒนธรรม วิถีชีวิต และเพิ่มคลังศัพท์ใหม่ ๆ เพื่อการใช้ภาษาของลูกในอนาคต ผ่านนิทาน และเรื่องเล่าแบบไทย ๆ
.
แม่ป๋อมอาจโชคดีตรงที่ ตัวปุญเองก็เป็นเด็กชอบฟังนิทาน และสนใจหนังสือมาแต่ไหนแต่ไร ..
ช่วงเป็นเด็กจิ๋ว ๆ สนามเด็กเล่นกับห้องสมุดเลยเป็นที่ที่แม่พาลูกไปได้บ่อย ๆ ..
แม่ยืมหนังสือเด็กมาเรียนภาษาเยอรมัน ส่วนปุญ ถึงจะยังอ่านไม่ออกก็หาหนังสือมาพลิกดูรูป .. ใช้เวลาที่ห้องสมุดนาน ๆ อย่างมีความสุขทั้งสองคน
บันทึกเล่าเรื่องปุญกับความชอบหนังสือไว้หลายคร้้งในเฟซบุ๊กส่วนตัว และเอามาลงใหม่ในเพจของเรา .. ยกตัวอย่างเช่นบันทึกนี้
.
จำได้ว่าเริ่มสอนอ่านภาษาไทยให้ปุญ ตอนที่ปุญขึ้น ป. 2 แล้ว และเรียนเขียนอ่านภาษาเยอรมันไปได้ระยะหนึ่ง
สอนภาษาไทยให้ปุญ โดยเริ่มจากให้ลูกรูปจักพัญชนะ สระ กลุ่มที่ใช้บ่อย ๆ และวิธีผันวรรณยุกต์ตามมา เพื่อให้ลูกอ่านคำง่าย ๆ ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้จักตัวอักษรไทย ท่องให้ได้ทุกตัวก่อนแบบการเรียนปกติในโรงเรียน
ปุญเลยมีโอกาสรู้จัก มานะ มานี ชูใจ สีเทาและครูไพลินเหมือนเด็กไทยคนอื่น ๆ จากการที่แม่ใช้เป็นหนังสือต้นแบบสอนอ่านภาษาไทยให้ลูก
ถึงแม่กับลูกจะมีบางช่วงที่ขี้เกียจเรียน ขี้เกียจสอนอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าทักษะการอ่านของปุญพัฒนาไปเรื่อย ๆ ในระดับที่แม่พอใจ
จนตอนนี้ปุญอยู่ ป. 5 และขยับจากมานะมานี เป็นการอ่านหนังสือ "เมือคุณตาคุณยายยังเด็ก" มาได้ระยะนึงแล้ว
.
สำหรับแม่ป๋อม นอกจากความเป็นไทยในแบบอื่น ๆ ที่ลูกได้รับจากพ่อและแม่ .. ภาษาไทย ก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ปุญจะต้องเรียน และได้รับสืบทอดจากเรา
เพราะเห็นว่า ภาษาเป็นสมบัติชิ้นสำคัญที่เราไม่จำเป็นต้องซื้อหามาให้
แค่ค่อย ๆ ส่งต่อไปแบบธรรมชาติ ใช้วิธีการพูดคุยตั้งแต่ลูกยังเล็ก เมื่อโตขึ้นก็ค่อยสอนทักษะด้านอื่น ๆ ของการใช้ภาษาตามความสนใจ ในช่วงวัยที่เหมาะสม
วันหนึ่ง เมื่อลูกโต ไม่ได้อยู่ในวัยเรียน แต่เป็นวัยทำงาน .. เชื่อแน่ว่า สมบัติชิ้นนี้ที่แม่ให้ไว้ จะเพิ่มค่าด้วยตัวของมันเอง ทำประโยชน์ให้ลูกในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน
.
.
โพสต์นี้จบแค่นี้ 🥰
🌸ขอบคุณที่ติดตาม
🌸ขอให้ทุกวันเป็นวันดี ๆ ของทุกคนค่ะ
.
.
📚 บันทึกอื่น ๆ ที่แม่ป๋อมเขียนถึงปุญ
BD แม่ป๋อม: ปุญ's Diary by แม่ป๋อม