Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อาจวรงค์ จันทมาศ
•
ติดตาม
8 ก.ค. 2020 เวลา 12:50 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
น้ำลายสุนัข กระดิ่ง และการปลูกความหวาดกลัว
การทดลองที่เปลี่ยนแปลงโลกจิตวิทยา
การเรียนรู้ (Learning) เป็นคำที่เราคุ้นเคยและพูดถึงกันบ่อยๆในชีวิตประจำวัน ความหมายของคำๆนี้กว้างขวางมาก แต่ในบทความนี้จะเน้นอธิบายความหมายของการเรียนรู้ในแง่มุมของจิตวิทยา ซึ่งหมายถึงกระบวนการที่ทำให้สิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยระยะเวลาที่ยาวนานพอ (ไม่ใช่เปลี่ยนปุบปับ แล้วก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม)
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นสามารถส่งผลอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ทั้งในแง่ของปัจเจกและสังคม มันจึงเป็นหัวข้อทางจิตวิทยาที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านการศึกษา ไปจนถึง การตลาด
หนึ่งในการทดลองที่โด่งดังที่สุดในโลกจิตวิทยาการเรียนรู้ คือการทดลองของอีวาน ปัฟลอฟ (Ivan Pavlov) เรื่องการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical conditioning) ซึ่งส่งผลกระทบต่อโลกจิตวิทยาอย่างมาก
หลายคนอาจเคยได้ยินการทดลองของอีวาน ปัฟลอฟ
ที่มีการสั่นกระดิ่ง แล้วนำมาอาหารมาให้สุนัขกิน ในครั้งแรกๆสุนัขจะน้ำลายไหลก็ต่อเมื่อเห็นอาหาร แต่เมื่อทำเช่นนี้หลายๆรอบ ต่อมาเมื่อสุนัขได้ยินเสียงกระดิ่ง โดยไม่มีอาหารมาให้ มันกลับแสดงอาการน้ำลายไหล
นั่นเป็นเพราะสุนัขเกิดการเรียนรู้ว่าเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งแล้ว อาหารจะตามมา การเรียนรู้ในรูปแบบนี้เรียกว่า การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical conditioning)
การทดลองนี้ดูตรงไปตรงมา แต่จริงๆแล้วอีวาน ปัฟลอฟ ออกแบบการทดลองอย่างชาญฉลาด
เริ่มจากการเลือกใช้เสียงกระดิ่งที่ปกติแล้วจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกัประสาทสัมผัสด้านอาหารเลย
อีกประการหนึ่งคือ ช่วงเวลาระหว่างเสียงกระดิ่งและการมองเห็นอาหารจะต้องเหมาะสม ซึ่งเขานำอาหารมาให้หลังจากสั่นกระดิ่งราว 2-3 วินาที
1
อีวาน ปัฟลอฟ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี ค.ศ. 1904 จากการศึกษาระบบย่อยอาหารของสุนัขอย่างละเอียดยิบ ตั้งแต่ระบบประสาท การเคลื่อนไหวของลำไส้ จนถึงการหลั่งของเอนไซม์ ซึ่งกลายเป็นต้นแบบสำหรับการศึกษามากมายในยุคต่อมา
1
คำถามคือ การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค เกิดขึ้นกับมนุษย์ได้หรือไม่? ในปี ค.ศ. 1920 นักจิตวิทยา จอห์น บี. วัตสัน (John B. Watson) และ โรซาลี เรย์เนอร์ (Rosalie Rayner) ผู้ร่วมวิจัย ทำการการทดลองที่ลือลั่นและกลายเป็นตำนานด้านมืด ที่แสดงให้เห็นรากแห่งความหวาดกลัว
พวกเขานำเด็กทารกวัย 11 เดือนมาทำการทดลอง เด็กน้อยคนนี้ถูกเรียกว่า อัลเบิร์ต (Little Albert experiment)
การทดลองเรียบง่ายมาก นั่นคือ เมื่ออัลเบิร์ต จับหนูขาวขนนุ่มๆ จะมีการตีเหล็กทำเสียงดังให้ทารกน้อยตกใจกลัวจนร้องไห้จ้า ทารกโดยทั่วไปจะตกใจและหวาดกลัวเสียงดังๆอยู่แล้ว แต่จะไม่กลัวหนูตัวเล็กๆ
ทว่าเมื่อเขาทำเสียงดังให้เด็กตกใจแบบนี้ไปไม่กี่ครั้ง
ผลลัพธ์คือ ทารกน้อยอัลเบิร์ตแสดงอาการกลัวหนูขาวตัวเล็กๆ โดยเมื่ออัลเบิร์ตมองเห็นหนูขาว เขาจะร้องไห้หวาดกลัว ที่น่าสนใจคือ เมื่อเวลาผ่านไป ความหวาดกลัวนั้นเติบโตลุกลามไปยังสิ่งอื่นเช่น กระต่ายสีขาวขนปุกปุย เสื้อโค้ตสีขาวที่ดูนุ่ม จนถึงเคราสีขาวของซานตาคลอส
การทดลองนี้ส่งผลประทบต่อโลกจิตวิทยาหลายแง่
อย่างแรกคือ การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ และมันอาจเป็นต้นกำเนิดของอาการกลัวแบบโฟเบีย (Phobia) ซึ่งเป็นความหวาดกลัวอย่างรุนแรงโดยไม่มีเหตุผล (เช่น กลัวในสิ่งที่ไม่มีอันตรายใดๆกับชีวิต)
อย่างที่สองคือ การทดลองนี้กลายเป็นกรณีศึกษาว่าด้วยจริยธรรมในการทดลอง ซึ่งในปัจจุบัน ไม่สามารถทำการทดลองที่โหดร้ายในลักษณะนี้ได้ (ชะตากรรมของ เด็กน้อยอัลเบิร์ตนั้นเป็นปริศนา ไม่มีใครรู้ว่าเขาเติบโตมาแล้วเป็นอย่างไร)
นักจิตวิทยาพบว่าไม่เพียงแต่ทารกเท่านั้น ที่มีการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไข พฤติกรรมหลายอย่างของมนุษย์เราถูกอธิบายได้ด้วยการวางเงื่อนไข กลิ่นบางกลิ่น เพลงบางเพลง อาจกระตุ้นให้เรารู้สึกบางอย่างขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม การวางเงื่อนไขอาจถูกทำให้หายไปได้ (Extinction) อีวาน ปัฟลอฟ ทำการทดลองเพิ่มเติมโดยนำสุนัขที่ถูกวางเงื่อนไขไว้กับการสั่นกระดิ่ง มาทดลองต่อโดยคราวนี้เขาให้มันได้ยินเสียงกระดิ่งแต่ไม่ได้รับอาหารใดๆ ในช่วงแรกสุนัขจะยังมีอาการน้ำลายไหล แต่เมื่อให้มันได้ยินเสียงกระดิ่งโดยไม่ได้รับอาหารระยะเวลาที่ยาวนานพอ มันจะค่อยๆลดอาการน้ำลายไหลลงจนเมื่อถึงจุดหนึ่ง พอได้ยินเสียงกระดิ่งแล้ว อาการน้ำลายไหลหายไปได้ในที่สุด
ความน่าสนใจคือ แม้สุนัขตัวนั้นจะไม่มีอาการน้ำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งแล้ว แต่เมื่อทิ้งช่วงไประยะหนึ่ง แล้วจู่ๆก็กลับมาสั่นกระดิ่งอีก สุนัขตัวนั้นจะกลับแสดงอาการน้ำลายไหลได้อีก แม้จะไม่ได้ถูกวางเงื่อนไขเพิ่มเติม การที่พฤติกรรมการวางเงื่อนไขเก่าแสดงขึ้นมา เรียกว่า Spontaneous recovery
นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่อธิบายได้ว่าเหตุใดเลิกยาเสพย์ติดเป็นเรื่องยาก(มากๆ) นั่นเพราะแม้ผู้ติดยาจะเลิกยาได้แล้ว แต่อาการอยากยาหรือความรู้สึกสุขเมื่อไดรับยาอาจกลับมาได้อีก เมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าต่างๆ เช่น เมื่อเห็นผงแป้ง
การทดลองของอีวาน ปัฟลอฟ แสดงให้โลกได้เห็นรูปแบบของการเรียนรู้ ซึ่งในเวลาต่อมานักจิตวิทยาทดลองต่อยอดเพิ่มเติมก็ได้เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวมีความซับซ้อนมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "คน"
อ้างอิง
https://www.verywellmind.com/learning-study-guide-2795698
https://www.nobelprize.org/prizes/medicine/1904/pavlov/facts/
15 บันทึก
67
3
16
15
67
3
16
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย