8 ก.ค. 2020 เวลา 14:07 • การศึกษา
สวัสดีครับ วันนี้เราจะเริ่มเข้าสู่เนื้อหาของ 'การวิเคราะห์วาทกรรมแนววิพากษ์" ซึ่งผู้เขียนบอกไว้เลยว่า ซับซ้อนมากๆ และจะยากขึ้นเรื่อยๆ ครับ หากผู้อ่านท่านใดต้องการทบทวนว่าตอนที่ 1 คืออะไร สามารถเลื่อนลงไปอ่านได้เลยนะครับ ถ้าพร้อมแล้ว เชิญอ่านกันได้เลยครับ
ตอนที่ 2 ///// การวิเคราะห์วาทกรรมแนววิพากษ์ คือ?
การวิเคราะห์วาทกรรมแนววิพากษ์ เป็นการวิเคราะห์ที่สนใจศึกษา "อำนาจทางสังคม" ที่ถูกแสดงออกผ่าน "ตัวบท และ การพูด" ในบริบททางสังคมและการเมือง โดยหัวข้อส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและการเมืองนั่นเองครับ
การศึกษาวาทกรรมแนววิพากษ์ จะมีการนำไปใช้ในหลายสาขาแต่มีการวิเคราะห์จุดเน้นที่แตกต่างกัน เช่น สัญวิทยา สังคมวิทยา ภาษา ชาติพันธุ์วรรณนาและจิตวิทยา แต่อย่างน้อยสาขาเหล่านี้ก็มีการวิเคราะห์ที่มีลักษณะร่วมกันอยู่ และผู้เขียนจะขอยก"การวิเคราะห์"ออกมาทั้งหมด 7 ข้อนะครับ
1.สนใจบริบทแวดล้อมของสถานการณ์การใช้ภาษา
2.ให้ความสนใจกับหน่วยที่ใหญ่กว่าคำและประโยค ได้แก่ การสนใจวิเคราะห์ในระดับตัวบท วาทกรรม การสนทนา วัจนกรรมหรือสถานการณ์ต่างๆ ของการสนทนา
3.การขยายขอบข่ายการศึกษาออกไปจากโครงสร้างทางประโยคทางภาษาไปสู่การศึกษา "การกระทำ และ การปฏิสัมพันธ์"
4.สนใจภาษาในเชิง "สัญญะ" กล่าวคือสนใจในสิ่งที่สร้างความหมายได้ เช่น ภาพ สัญลักษณ์ ภาษากาย เป็นต้น
5.มุ่งประเด็นที่ความเป็น "พลวัต" ของการ "ปฏิสัมพันธ์" และกลยุทธิ์ของการสร้างความหมายที่ไม่หยุดนิ่งตายตัว
6.ศึกษาการทำหน้าที่ของสภาพแวดล้อมที่ภาษาถูกใช้ นั่นคือ สังคม วัฒนธรรม เหตุการณ์และความรู้ความเข้าใจ
7.ประเด็นที่ไปไกลมากกว่าการวิเคราะห์ภาษา เช่น โครงสร้าง วัจนกรรม การปฏิสัมพันธ์ ข้อโต้แย้ง วาทศิลป์ สัญญะ และอื่นๆ ที่ประกอบขึ้นจากวาทกรรม
กล่าวมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางคนอาจจะยังเกิดความงงบ้าง ซึ่งไม่แปลกครับ เพราะการศึกษาวาทกรรมแนววิพากษ์ เป็นการศึกษาที่วิเคราะห์กันข้ามสาขาวิชาอย่างไม่จบไม่สิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิเคราะห์ทาง"ทฤษฎีทางภาษา" กับ "ทฤษฎีทางสังคม" ของแต่ละสาขา ซึ่งสามารถนำมาสังเคราะห์เป็นแนวคิด เป็นทฤษฎีใหม่ๆ ได้อีก!!! ซึ่งตัวอย่างของการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาที่มีความหลากหลายและซับซ้อนในปัจจุบัน นั่นก็คือ การวิจัยอัตลักษณ์ การเหยียดเชื้อชาติ ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่มีความซับซ้อนจนต้องใช้ความรู้จากหลายสาขาวิชานั่นเองครับ
และแน่นอนครับว่า ปัญหาที่ผมยกตัวอย่างขึ้นมาเนื่ย มันจะมีความเชื่อมโยงกับทางด้านสังคมและการเมือง ซึ่งในตอนที่ 1 ผมได้ทิ้งท้ายไว้ด้วย "วาทกรรมการเมือง" และ บทนำของตอนที่ 2 ผมเริ่มด้วย "อำนาจทางสังคม" ซึ่ง 2 หัวข้อใหญ่นี้แหละครับ ที่เป็นจุดกำเนิดของการวิเคราะห์ต่างๆ มากมายอย่างไม่จบไม่สิ้นนั่นเองครับ..... เจอกันใหม่ในตอนที่ 3 ครับ
สำหรับผู้อ่านท่านใดที่เกิดความสงสัย สามารถคอมเม้นมาได้เลยนะครับ และผู้อ่านท่านใดที่อยากให้ผู้เขียนวิเคราะห์เรื่องใด สามารถเขียนเข้ามาในคอมเม้นได้เลยนะครับ และอย่าลืมกดไลค์ กดแชร์และมาแสดงความคิดเห็นกันเยอะๆ นะครับ
โฆษณา