Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Econ 101 เศรษฐศาสตร์ฉบับย่อ
•
ติดตาม
8 ก.ค. 2020 เวลา 15:16 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วิกฤตหลายระลอกของอุตสาหกรรมกุ้งไทย
ในอดีตประเทศไทยเคยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกกุ้งของโลก อย่างเช่น ปี 2552 ไทยผลิตกุ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก ผลิตได้ถึง 600 พันตัน มีมูลค่าการส่งออก 1 แสนล้านบาท ปี 2554 มูลค่าการส่งออกกุ้งของไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอมเริกา จีน และ ญี่ปุ่น
โรค EMS จุดกำเนิดของวิกฤต
ปลายปี 2555 เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยประสบปัญหาโรคระบาดกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome) หรือ EMS ส่งผลให้ผู้เลี้ยงกุ้งประสบภาวะขาดทุน ผลผลิตในปี 2556 ลดลงเหลือเพียง 250 พันตัน ลดลงจากปี 2555 ถึงร้อยละ 54 ปัจจุบันถึงแม้ว่าสถานการณ์โรคระบาด EMS มีแนวโน้มคลี่คลาย แต่ผลของการแพร่ระบาดของโรค EMS ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งลดความเสี่ยงของการติดโรค โดยลดความหนาแน่นของการเลี้ยงกุ้งจากเดิมประมาณ 20-30% ทำให้ต้นทุนการผลิตกุ้งสูงขึ้น ประกอบกับผลของค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้ราคากุ้งของประเทศไทยแพงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันการส่งออกของไทยลดลง ผลของการแพร่ระบาดของโรค EMS และ การแข็งขึ้นของค่าเงินบาททำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดการส่งออกให้กับประเทศคู่แข่ง อย่าง อินเดีย อินโดนิเซีย เวียดนาม และประเทศแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในปี 2562 มูลค่าการส่งออกกุ้งทะเลแช่แข็งของไทยลดลงเหลือเพียง 22,473.8 ล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดเหลือเพียง 3.8 % อยู่อันดับที่ 6 รองจาก อินเดีย (ส่วนแบ่งตลาด 24.9%) เอลกวาดอร์ (21.1%) เวียดนาม (11.1%) อินโดนิเซีย (7.3%) และ อาร์เจนตินา (6%)
วิกฤตซ้ำเติมจากโควิด-19
ผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศคู่ค้าสำคัญ อย่าง จีน สหรัฐเอมริกา และญี่ปุ่น ต่างเป็นกลุ่มประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงติดอันดับต้นๆของโลก ความต้องการจากตลาดต่างประเทศลดลง ส่งผลให้สถานการณ์การส่งออกกุ้งของไทยยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ขณะที่กลุ่มลูกค้าหลักในประเทศ อย่าง ธุรกิจร้านอาหาร ท่องเที่ยวและโรงแรม ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด ต้องปิดกิจการชั่วคราว ทำให้เกิดปัญหาอุปทานส่วนเกินหรือปัญหากุ้งล้นตลาด เกษตรกรประสบปัญหากุ้งล้นบ่อ ราคากุ้งลดลง อย่างเช่น ราคาของกุ้งขาวในต้นปี 63 จาก 145 บาทต่อกก. ลดลงเหลือ 130 บาทต่อกก.
มาตการเยียวยาของรัฐบาลและความท้าทายในอนาคต
โครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งเป็นมาตรการเยียวยาของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง อย่าง ธุรกิจห้องเย็นและโรงงานแปรรูป โดยวิธีชดเชยส่วนต่างของราคาตลาดและราคารับซื้อ (เฉลี่ยอยู่ที่ 30-50 บาทต่อกก.) อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินโครงการเพียง 3 เดือน มาตรการนี้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบได้ระดับหนึ่งและเพียงชั่วคราวเท่านั้น และถึงแม้ว่ามาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์จะกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือน ธุรกิจอาหาร ท่องเที่ยวและโรงแรม จะเริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคไม่เหมือนก่อนเกิดโควิด ทำให้ความต้องการบริโภคกุ้งอาจจะยังไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก โจทย์ท้าทายสำคัญ คือ ข้อเสียเปรียบด้านราคาที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง ภาคเอกชนและภาครัฐบาลต้องหานโยบายร่วมกันในการยกระดับอุตสาหกรรมกุ้งของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น
12 บันทึก
68
14
17
12
68
14
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย