10 ก.ค. 2020 เวลา 03:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เกาะพิศวง! ‘บอลส์ พีระมิด’ (Ball's Pyramid) เกาะโดดเดี่ยวกลางทะเลลึก บ้านของแมลงพันธุ์หายาก 24 ตัวสุดท้ายบนโลก
WIKIPEDIA CC JILLBBRUCE
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
‘บอลส์ พีระมิด’ (Ball's Pyramid) คือเกาะที่เกิดจากการกัดกร่อนของภูเขาไฟเมื่อราว 700 ล้านปีที่แล้ว ตั้งอยู่ใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะลอร์ด ฮาว (Lord Howe Island) อยู่ห่างจากชายฝั่งประเทศออสเตรเลียราว 600 กิโลเมตร เกาะบอลส์ พีระมิดเป็นเกาะภูเขาหินที่สูงที่สุดในโลก มีความสูงอยู่ที่ 562 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ยาว 1,100 เมตร กว้าง 300 เมตร ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1788 โดย ‘เฮนรี ลิดจ์เบิร์ค บอล’ (Henry Lidgbird Ball) ทหารเรือชาวอังกฤษ
WIKIPEDIA CC JILLBBRUCE
เมื่อปี ค.ศ. 2001 ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียได้ค้นพบแมลงชนิดหนึ่งบนเกาะบอลส์ พีระมิด แมลงชนิดนี้คือ ‘ตั๊กแตนกิ่งไม้’ (Dryococelus australis) ซึ่งน่าแปลกใจตรงที่ว่า เจ้าแมลงชนิดนี้ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 1920 หลังจากนั้นก็ไม่มีบันทึกการพบเห็นพวกมันอีกเลย นักวิทยาศาสตร์ต่างลงความเห็นว่า พวกมันได้สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว โดยในครั้งนี้ทีมนักวิทย์จากออสเตรเลียค้นพบพวกมันจำนวน 24 ตัว บนต้นไม้ต้นหนึ่ง ที่ระดับความสูง 152 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล สร้างความตกตะลึงให้กับทีมผู้ค้นพบเป็นอย่างมาก
WIKIPEDIA CC GRANITETHIGHS
โดยเจ้า ‘ตั๊กแตนกิ่งไม้’ เป็นแมลงไม่มีปีก ตัวโตเต็มวัยจะมีขนาดลำตัวยาวกว่า 20 เซนติเมตร น้ำหนัก 25 กรัม พวกมันเป็นแมลงที่เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์จัดให้พวกมันเป็นแมลงประเภทปล้องที่มีน้ำหนักตัวมากที่สุดและหายากที่สุดในโลก จากการบันทึกพบว่า เดิมทีเจ้าตั๊กแตนกิ่งไม้พวกนี้มีถิ่นอาศัยเดิมอยู่ที่เกาะลอร์ด ฮาว ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะบอลส์ พีระมิด ราว 20 กิโลเมตร แต่พวกมันได้สูญพันธุ์ไปแล้วเพราะถูกหนูดำรุกราน จนกระทั่งมาพบพวกมันอีกครั้งที่เกาะบอลส์ พีระมิด คำถามก็คือพวกมันมาอยู่ที่เกาะบอลส์ พีระมิด ได้อย่างไร ในเมื่อพวกมันไม่มีปีกที่จะสามารถบินข้ามเกาะมาได้ จากข้อสันนิษฐานดังกล่าวมีความเป็นไปได้ว่า เจ้าตั๊กแตนกิ่งไม้พวกนี้อาจจะถูกนกคาบมาเพื่อเป็นอาหารให้ลูกนก แต่พวกมันอาจหนีรอดมาได้ จนสามารถขยายพันธุ์และมีจำนวนมากถึง 24 ตัว ตามที่ทีมนักวิทย์จากออสเตรเลียได้ค้นพบนั่นเอง
WIKIPEDIA CC PETER HALASZ
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี ค.ศ. 2016 สวนสัตว์เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการเพาะพันธุ์เจ้า ‘ตั๊กแตนกิ่งไม้’ (Dryococelus australis) กว่า 13,000 ตัว แล้วส่งไปยังสวนสัตว์ประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา เพื่อเลี้ยงดูพวกมันและป้องกันไม่ให้ตั๊กแตนสายพันธุ์นี้สูญพันธุ์ไปจากโลกอีกครั้งนั่นเอง
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
โฆษณา