10 ก.ค. 2020 เวลา 14:08
จิงโจ้ ที่ไม่ใช่แค่จิงโจ้
นกจิงโจ้
๏ จิงโจ้เอยมาโล้สำเภาหมาไล่เห่า
จิงโจ้ตกน้ำหมาไล่ซ้ำจิงโจ้ดำหนี
ได้กล้วยสองหวีรับขวัญจิงโจ้โห่ฮิ้ว ฯ
บทร้องใน ฉันท์เยาวพจน์ ของเปโมรา
2
สวัสดีค่ะ วันนี้ลองค้นหาสัตว์แปลกสัตว์ในตำนาน แต่เอ๊ะเจอคำว่าจิงโจ้ในหมวดหมู่สัตว์ในตำนาน เอแล้วมันคือจิงโจ้ที่เรารู้จักไหมนะ ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง กระโดดเหยงๆ จึงไปสืบค้นมา สืบมาได้ความว่า มันก็สัมพันธ์กันนะเออ
เดิมแล้ว จิงโจ้ เป็นชื่อของนกชนิดหนึ่ง ที่มีเสียงร้องว่า จิง....(ลากยาว)โจ้ และเวลาร้องมักส่ายหัวยืนยงโย่ยงหยก ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสืออิเหนาซึ่งแต่งสมัยรัชกาลที่ 1 ที่มีบทชมนกตอนหนึ่งว่า
1
กะลุมพูจับ กะลำภ้อ จิงโจ้ จับจิงจ้อแล้วส่งเสียว
พระยาอนุมานราชธน ได้อธิบายว่า กะลุมพู เป็นนกชนิดหนึ่งขนาดเท่าๆ นกพิราบ กะลำพ้อ เป็นไม้ยืนต้น ส่วน จิงจ้อ เป็นไม้เถาในสกุลผักบุ้ง คำว่า “จิงโจ้” จึงน่าจะหมายถึงนกด้วย
“จิงโจ้โล้สำเภา” ในจิตกรรมของวัดโพธิ์
แต่จิงโจ้ก็ยังถูกเรียกเป็นชื่อของสัตว์ประหลาด “จิงโจ้โล้สำเภา” ในจิตกรรมของวัดโพธิ์ด้วย โดยภาพจิงโจ้ที่ว่านี้อยู่ในพระอุโบสถที่ขอบล่างหน้าต่างซีกซ้ายมือของพระประธาน ช่างเขียนสมัยรัชกาลที่ 3 เขียนเป็นลายรดน้ำ มีรูปหมากำลังยืนอยู่บนเรือสำเภา ทำท่าเห่าสัตว์ประหลาดซึ่งเกาะอยู่ที่หัวเรือ จะตกแหล่ไม่ตกแหล่ ตามเรื่องราวในนิทานโบราณแต่งเป็นกลอนกล่อมเด็กที่เขียนมาในตอนแรกนั่นเองจ้า
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นพ้องต้องกันว่า ช่างในสมัยราชกาลที่ 3 เขียนรูปจิงโจ้ออกมาได้ประหลดครึ่งคนครึ่งนกแบบนี้ ถึงรู้แก่ใจว่าจิงโจ้เป็นนก แต่ถ้าเขียนรูปนกก็จะขัดกับบทกลอน จึงเอาผสมกันทั้งคนทั้งนกจนกลายเป็นตัวประหลาดดังภาพ
ผ่านมาจนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวไทยรู้จักแกงการู (สมัยนั้นเรียกว่า กังกูลู) สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องชนิดหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย จึงเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า "จิงโจ้" ด้วยเป็นสัตว์แปลก มักยืนยงโย่ยงหยก ตั้งแต่ พ.ศ. 2404–2439 เป็นต้นมา ปรากฏการใช้ชื่อ "จิงโจ้" สำหรับ "แกงการู" ในพจนานุกรม ศริพจน์ภาษาไทย์ ของบาทหลวงฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว แก้ไขเพิ่มเติมโดยบาทหลวงเวย์ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2439
ดังคำกราบทูลของพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2483 ความว่า "ข้าพเจ้าสืบได้ความมาอย่างนี้ จิ้งโจ้ เดิมเป็นชื่อนก คือ นกจีโจ้ โดยที่นกอย่างนี้มีอาการโยกไปย้ายมาไม่อยู่นิ่ง ไปเข้ากับคำว่า จิ้ง และ จี้ ในภาษาไทยใหญ่และไทยย้อย แปลว่า โคลง จึงเอาลักษณะนั้นมาตั้งให้ตัวแกงกะรู..."
ซึ่งตัวจิงโจ้ก็อาจจะเป็นตัวเดียวกันกับ อรหัน ซึ่งมักมีภาพตามจิตกรรมฝาผนังนั่นเอง
จิงโจ้ หรือ อรหัน
จิงโจ้หรืออรหัน
นอกจากจะเป็นสัตว์ในจินตนาการแล้วจิ้งโจ้ยังมีความหมายอีกหลายอย่างดังนี้
1. สิ่งที่ใช้ห้อย หรือแขวนเหนือเปลเด็กในสมัยโบราณ ทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นรูปแมลงที่กระโดดอยู่บนผิวน้ำ ที่เรียกกันว่า แมลงจิงโจ้
2. แมลงชนิดหนึ่ง มีขายาวหลายขา วิ่งบนผิวน้ำ ซึ่งเป็นพันธุ์แมลงมุมชนิดหนึ่ง
จิงโจ้น้ำ
3. เครื่องป้องกันใบจักรเรือ ไม่ให้สวะเข้าไปปะ และกันกระทบ กับช่วยไม่ให้เพลาแกว่ง
4. ทหารหญิง รักษาพระองค์สมัยรัชกาลที่ 4 ได้แก่ โขลน ที่แต่งตัวเป็นทหาร ในงานแห่โสกันต์ฝ่ายใน หรือเจ้านายผู้หญิงที่แต่งชุดทหารตามเสด็จรัชกาลที่ 4
เวลาบอกวันทยาวุธ ทหารพวกนี้ร้องว่า จิงโจ้กัด
ถ้าให้ เรียบอาวุธ ก็ร้องว่า จิงโจ้นอน
ถ้าแบกอาวุธ จะร้องว่า จิงโจ้หยุด
ทหารหญิงจิงโจ้ แต่งกายคล้ายทหารสก็อต สวมหมวก ใส่เสื้อแขนยาว นุ่งกระโปรง สวมถุงเท้าลาย และรองเท้าหนัง
โฆษณา