11 ก.ค. 2020 เวลา 09:41 • ธุรกิจ
Agile คืออะไร? ฉบับปี 2020
ในปัจจุบัน คำว่า Agile กลายเป็นคำฮิตติดลมบนในแวดวงธุรกิจไปแล้ว ยิ่งมีเหตุการณ์ COVID-19 เข้ามา ยิ่งทำให้ Agile ยิ่งเป็นที่กล่าวถึง แทบจะในทุกๆเวทีใหญ่ๆ ดู Live ไหน ฟัง podcast อะไร ก็จะมีคำว่า Agile ให้ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ แต่ผมก็ยังได้ยินคำถามที่ว่า แล้วตกลง Agile คืออะไร อยู่เสมอ
ถ้าว่ากันด้วยตัวคำศัพท์แล้ว Agile แปลว่าคล่องแคล่วหรือปราดเปรียว แต่ถ้าพูดถึงบริบทที่เราพูดถึงกันบ่อยๆในปัจจุบัน
Agile คือแนวคิดในการสร้างความคล่องตัวในการทำงาน โดยยอมรับความจริงที่ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน แทนที่จะมาทุกข์ใจว่าทำไมอะไรก็ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เรามาวางอีโก้ลงแล้วหันมาร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา ให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานจะดีกว่า
ความต้องการจะสร้างความคล่องตัว (Agility) ในการทำงานนี้ เป็นประเด็นขึ้นมาก่อนในแวดวงอุตสาหกรรมการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่มักใช้ คนเยอะๆ มาทำงานใหญ่ๆ โดยใช้เวลานานๆ ทำให้กว่าจะรู้ตัวว่าที่ทำมานั้นใช้ไม่ได้จริง ก็สายเกินแก้ กลายเป็นเรื่องทะเลาะเบาะแว้งระหว่างคนจ้างกับคนทำ จนไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็จะเห็นกำแพงสูงลิบระหว่างฝ่ายธุรกิจกับฝ่ายไอทีอยู่เสมอๆ
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเรามักจะหลงผิด ไปคิดว่า เรารู้แน่นอน เราจะวางแผนควบคุมทุกอย่างได้ แค่ต้องลงรายละเอียดอีกหน่อยให้รัดกุม ระบุหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจนและก็แยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตน แล้วทุกอย่างก็จะเป็นไปตามแผน หนำซ้ำเรายังพยายามจะวัดความสำเร็จของการทำงานด้วยการสร้างตัววัดเช่น เราทำได้ตามแผนที่วางไว้ไหม ทำได้ทันตามเวลาที่ระบุไว้ไหม ทำได้อยู่ในงบที่วางไว้ไหม ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมของคนทำงานมุ่งไปที่การให้ “เสร็จ” เพื่อบรรลุตามตัววัดผล มากกว่าทำให้ “สำเร็จ” และแก้ปัญหาได้จริงๆ
การทำงานแบบ Agile มักจะใช้ คนน้อยๆ มาทำงานเล็กๆ ในเวลาสั้นๆ เพื่อเร่งให้เกิดการเรียนรู้ที่รวดเร็ว จึงจะสามารถปรับตัวได้ตามสถานการณ์และสร้างความคล่องตัวในการทำงานให้เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญการทำงานแบบ Agile จะมุ่งเน้นที่ความพึงพอใจของทั้ง ผู้ใช้ ลูกค้า และคนทำงาน จึงส่งผลให้พฤติกรรมของคนทำงานมุ่งไปที่การทำแล้วได้ผล “สำเร็จ” มากกว่าได้ทำแค่ให้มัน “เสร็จ” ไป
🟢 แก่นของ Agile
ในปี 2001 มีการประกาศ “ค่านิยม 4 ประการของ Agile” ในบริบทของการพัฒนาซอฟต์แวร์ (Agile Manifesto for Software Development) ซึ่งก็คือหัวใจหรือแก่นของ Agile ออกมาโดยมีใจความว่า
1️⃣ เครื่องมือและกระบวนการทำงานนั้นมีความสำคัญ แต่คนทำงานและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นสำคัญกว่า
2️⃣ เอกสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้นมีความสำคัญ แต่ส่ิงที่ส่งมอบและใช้ได้จริงในมือลูกค้านั้นสำคัญกว่า
3️⃣ การต่อรองให้เป็นไปตามสัญญานั้นมีความสำคัญ แต่การร่วมไม้ร่วมมือกับลูกค้านั้นสำคัญกว่า
4️⃣ การทำตามแผนที่วางไว้นั้นมีความสำคัญ แต่การปรับแผนไปตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสำคัญกว่า
แต่เป็นที่น่าเศร้าว่า หลายคนที่นำ Agile ไปใช้ มักจะนำไปแต่เปลือก โดยไม่ได้เข้าใจแก่นของ Agile เราจึงมักพบเห็น Agile สายพิธีกรรม ที่ทำ Daily Standup Meeting ทุกวันให้กลายเป็นที่ไล่บี้งานของหัวหน้า หรือ Vendor ที่จับมือลูกค้าเซ็น Sign Off รับรอง Acceptance Criteria ของ User Story เหมือนแต่ก่อนที่ทำกับ Requirement Spec
ในปัจจุบัน Agile ได้เติบโตออกจากบริบทของไอที ไปยังสายงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานพัฒนาบุคลากร งานขาย งานการตลาด งานโรงงาน งานบริหาร งานการศึกษา และอีกสารพัด เรียกว่าแทบจะแทรกซึมไปทุกวงการ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า เปลือก Agile สายพิธีกรรม ก็แผ่ขยายตามไปด้วย และถ้าโชคร้ายหน่อย ก็จะไปเจอ Agile สาย Reorganization ที่มอง Agile ไม่ต่างจาก Buzz Word อื่นๆที่ใช้ในการลด Cost ในอดีต
การที่เราจะหลุดพ้นจากการนำ Agile ไปใช้แต่เปลือกได้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าค่านิยมของ Agile นั้นเกิดจากความเชื่อเรื่อง
😇 Instability — โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน
😇 Unpredictability — แทนที่จะมาทุกข์ใจว่าทำไมอะไรก็ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
😇 Collaboration — เรามาวางอีโก้ลงแล้วหันมาร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานจะดีกว่า
เมื่อเราเชื่อถึงธรรมชาติของงานแบบนี้และเข้าใจถึงค่านิยมของ Agile เราจะสามารถนำวิธีปฏิบัติต่างๆไปใช้ให้เกิดผลได้จริง
🟢 ปฏิบัติทำ Agile
ไม่ว่าจะเป็น Agile ค่ายไหนๆ ถ้าเรามามองดูที่ Practice หรือวิธีปฏิบัติ จะเห็นว่ามีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือเรื่องการทำงานร่วมกัน (Interaction) และการทำให้เห็นภาพร่วมกัน (Visualization)
Interaction — การทำงานร่วมกัน
ลองดูตัวอย่างของวิธีปฏิบัติอย่างเช่น Daily Standup Meeting ซึ่งทีมงานจะมายืนประชุมกันเพื่อคุยกันว่า เมื่อวานทำอะไรสำเร็จ วันนี้จะทำอะไรให้สำเร็จ และกำลังแก้ปัญหาอะไรอยู่ ที่ต้องมาคุยกันบ่อยๆ ก็เพราะว่าสถาณการณ์จริงอาจจะไม่เป็นไปตามแผน จึงอาจจะต้องมาช่วยกันปรับแผนให้ตอบรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จะเห็นว่าถ้าเรานำ Daily Standup ไปใช้แต่เปลือก มันก็จะไม่ต่างอะไรกับ Daily Status Update ซึ่งแต่ก่อนนานๆจะโดนหัวหน้าตามงานที แต่ตอนนี้โดนทุกวัน
แต่หากเราเข้าใจถึงแก่นของ Agile แล้ว เราจะเข้าใจว่าสิ่งที่คาดว่าจะเกิดเมื่อวานนี้ วันนี้อาจไม่เป็นไปตามแผน แทนที่จะมามัวหาว่าใครผิด เราควรมาร่วมมือกันปรับแผนและหาทางออก เราจะสามารถใช้ Daily Standup เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยกันปรับแผนได้ จริงๆแล้ว Jim Coplin กูรูในแวดวง Agile ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า จุดประสงค์ของ Daily Standup นั้นจริงๆแล้ว ก็คือการทำ Daily Re-Planning
Interaction รูปแบบอื่นๆที่เรามักใช้กันก็มีเช่น Planning Meeting, Demo หรือ Retrospective ซึ่งแล้วแต่เป็นการมาปฏิสัมพันธ์เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งสิ้น
Visualisation — การทำให้เห็นภาพร่วมกัน
อีกวิธีปฏิบัติหนึ่งที่พบเห็นกันบ่อยๆคือการทำ Kanban Board ซึ่งก็มีรูปแบบหลากหลายกันออกไป แต่ถ้าผู้ใช้ไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ของ Agile บอร์ดเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการประจานกลางที่สาธารณะเพื่อบี้เอางาน เพราะเรายังเชื่อว่าทุกอย่างยังต้องเป็นไปตามแผน เราจะเอา Milestones มาปักหมุดไว้อย่างเด่นชัด บนบอร์ดว่างานเหล่านี้ต้องเสร็จในเดือนนั้นเดือนนี้ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการเอาแผนงานบน MS Project มาแปะไว้บนข้างฝา
แต่ถ้าหากเราเข้าใจในแก่นของ Agile เมื่อเราเริ่มพบว่างานบนบอร์ดเกิดปัญหาและไม่เป็นไปตามแผน เราจะเห็นมันตามความเป็นจริง และจะเข้าใจได้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เราจะไม่มัวมาเสียเวลาหาคนผิด หรือมัวแต่ชี้นิ้วโทษกัน แต่เราจะร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาให้ลุล่วงไป
🟢 Agile Mindset
ว่ากันว่าเราจะเข้าใจแก่นของ Agile ได้ ก็เมื่อเรามี Agile Mindset ซึ่งก็คือการเชื่อใน Instability, Unpredictability และ Collaboration ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่กระนั้นเราก็อาจเกิดคำถามว่าแล้วอยู่ดีๆเราจะมี Agile Mindset นี้ได้อย่างไร แล้วถ้ามันแต่ต้องรอให้มี Agile Mindset ก่อน ต้องรอให้พร้อมกัน เมื่อไหร่จะได้เริ่มกันเสียที
จริงๆแล้ว Agile Mindset มีติดตัวเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไร ลึกๆแล้วเราก็เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ และเราต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา แต่การอยู่ใต้กรอบของการศึกษาที่มุ่งเน้นป้อนคนเข้าสู่อุตสาหกรรม การทำงานที่บริหารด้วยลำดับชั้นและระบบเจ้าขุนมูลนาย ทำให้เราถูกฝึกจนชินว่าเราต้องพยายามควบคุมให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่เราวางแผนไว้ แต่โลกในปัจจุบันก็เริ่มแสดงให้เราเห็นมากขึ้นทุกวันแล้ว ว่าเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้สักเท่าไหร่
ปัญหาในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่ตัวเปลือกของ Agile แต่อยู่ที่การเอาเปลือกไปใช้โดยไม่มีแก่น สุดท้ายก็ไม่สามารถผลิดอกออกผลอย่างที่คาดหวังไว้ได้ ผมกับเพื่อนๆกลุ่มหนึ่ง จึงกำลังปั้นโครงการใหม่ของ Profundus โดยเป็นคอร์สอบรมที่ชื่อว่า Agile Culture ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นติดอาวุธให้กลุ่มผู้กล้า ที่มีภาระกิจต้องไปสร้าง Agile Organization อย่างเช่นชาว HR หรือทีม Transformation ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างปลูกฝัง Agile Mindset และสร้าง Agile Culture ในองค์กรแต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มอย่างไร
ข่าวร้ายคือเราไม่สามารถนำ Agile Mindset ไปฝังอยู่ในหัวใครต่อใครที่เราอยากเขามีได้ เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนใครได้ คนที่จะเปลี่ยน Mindset ได้มีแต่ตัวของเขาเอง และเขาจะเปลี่ยนเมื่อเขาพร้อม แต่ข่าวดีคือสิ่งที่เราอาจจะช่วยเร่งปฏิกริยาได้โดยการสร้างสภาพแวดล้อมให้เขาสามารถเปลี่ยนมันได้ง่ายๆ และต่อต้านที่จะไม่เปลี่ยนได้ยากๆ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เราจะมาคุยกันในคอร์ส Agile Culture
ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดอะไรมากไปกว่าชื่อคอร์สว่า Agile Culture แต่ถ้าใครสนใจก็ฝากชื่อไว้ก่อนได้โดยกดลิงค์ "เรียนรู้เพิ่มเติม" ด้านล่าง ถ้ามีรายละเอียดเพิ่มเติมเราจะติดต่อไปนะครับ
โฆษณา