Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ให้เพลงพาไป
•
ติดตาม
11 ก.ค. 2020 เวลา 11:18 • ศิลปะ & ออกแบบ
เรื่องเล่าชมรมศิลป์ Ep.2 : นิทานก่อนนอน
[ Fra Filippo Lippi ]
เรื่องนี้เกิดขึ้น ณ คืนหนึ่ง ในห้องสมุดลับของชมรม
นอกเหนือจากหนังสือและบันทึกเก่า ๆ ที่สะสมไว้เต็มตู้ตามประสาห้องสมุดทั่วไปแล้ว ในห้องนี้ยังเก็บซ่อนความลับที่รู้กันเฉพาะในกลุ่มของหัวหน้าและสมาชิกระดับสูงของชมรมอีกด้วย
ว่ากันว่าพื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่บนจุดที่เชื่อมต่อกับมิติเวลาอื่น หรือจะเอาให้ชัดคือระหว่างตู้แถว J และ K
แต่นั่นก็เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ผมฟังมาจากหัวหน้าชมรมคนก่อน ซึ่งก็ฟังมาจากหัวหน้าชมรมคนก่อน ๆ เหมือนกัน
ภาพของหญิงสาว เด็กน้อย และเทวดาสององค์บนหน้าหนังสือที่ถูกพลิกขึ้นมาในบ่ายวันนั้น หากดูเผิน ๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากงานธีมเดียวกันของศิลปินร่วมยุค แต่กลับมีอะไรบางอย่างในภาพนี้ที่ให้ความรู้สึกที่ต่างออกไป และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมสาละวนอยู่กับการค้นคว้าจนมืดค่ำ
Madonna with the Child and Two Angels (1465)
สติสัมปชัญญะของผมร่วงหล่นไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบได้ แต่สิ่งที่ปลุกให้มันฟื้นกลับคืนมาคือเสียงกระแอมทุ้มต่ำของใครคนหนึ่ง
“อะแฮ่ม!”
เสียงที่ดังขึ้นในห้องที่เงียบสนิททำเอาผมสะดุ้งสุดตัว ห้องที่เคยมีผมคนเดียว บัดนี้ปรากฏร่างของชายผู้หนึ่งนั่งอยู่บนโซฟาบุหนังเก่าคร่ำคร่าที่อยู่ห่างไปเพียงสี่ฟุต ร่างนั้นสวมสูทสามชิ้น ผมบนศีรษะและหนวดเคราที่ปกคลุมบนใบหน้าล้วนเป็นสีขาวบ่งบอกถึงวัยที่ผ่านกาลเวลามาอย่างโชกโชน
ภาพของเขาที่นั่งอยู่ตรงนั้นดูช่างคุ้นตา ราวกับภาพบนปกหนังสือกวียุควิคตอเรียนที่ผมกำลังอ่านค้างอยู่
หรือว่าผมกำลังเจอกับความลับของชมรมเข้าซะแล้ว…
“โรเบิร์ต บราวนิ่ง”
ทันทีที่ชื่อนั้นหลุดออกมาจากปากของผม รอยยิ้มก็ปรากฏขึ้นให้เห็นจาง ๆ ผ่านหนวดเคราครึ้ม
“ดูเหมือนว่าเธอจะรู้จักฉันนะ พ่อหนุ่ม...แม้ว่าฉันจะไม่รู้ว่าเธอเป็นใครก็ตาม"
Robert Browning / Photo : Pixels
หลังจากที่ผมแนะนำตัวเองและเอ่ยถึงชมรมของเราให้เขาฟังคร่าว ๆ รวมถึงหนังสือของเขาที่ผมกำลังอ่านอยู่ ใบหน้าของเขาก็ดูผ่อนคลายลง
“แล้วเธอคิดอย่างไรกับบทกวีของฉันล่ะ”
คำถามที่จู่โจมของเขาทำเอาผมตั้งตัวไม่ถูก
“เอ่อ…ด้วยความสัตย์จริงนะครับ ผมยังอ่านไปไม่ถึงไหนเลย…”
เสียงหัวเราะของเขาดังกังวานขึ้น จนผมรู้สึกหน้าร้อนผ่าวด้วยความอาย
“เอาล่ะ ๆ ฉันเข้าใจแล้ว บางทีนั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราได้มาเจอกัน ฉันเองก็ไม่รู้หรอกนะ ว่านี่ฉันกำลังอยู่ในความฝันของเธอ หรือเธอที่กำลังอยู่ในความฝันของฉันกันแน่
แต่อย่างน้อยก่อนที่เราทั้งคู่จะตื่นขึ้นมาจากนิทราอันแสนประหลาดนี้ ฉันจะเล่าเรื่องจากบทกวีให้เธอฟังแทนก็แล้วกัน เธอว่ากำลังอ่านอะไรอยู่นะ Fra Lippo Lippi ใช่ไหม?”
ผมรับคำด้วยความตื่นเต้น คงจะไม่มีอะไรที่เจ๋งไปกว่านี้อีกแล้ว ไม่ต่างจากการที่ได้เจอซานตาคลอสและเขาก็เสนอให้ผมนั่งรถเลื่อนไปด้วยกันอย่างไรอย่างนั้น
‘คุณบราวนิ่ง’ เหลือบตามองดูกองหนังสือที่กางแผ่อยู่บนโต๊ะตรงหน้าผมแล้วพยักหน้า
“อา…Madonna with Child and two Angels…ฟรา ฟิลิปโป ลิปปี ภาพนี้ใช่ไหมที่ทำให้เธอมาอ่านงานของฉัน”
“จะว่าแบบนั้นก็ใช่ครับ มีบางอย่างที่ผมไม่ค่อยเข้าใจ เลยคิดว่าจะลองมาหามุมมองจากแหล่งอื่น ๆ ดูบ้างครับ”
เขามองตรงเข้ามาในตาของผม ก่อนจะเอ่ยคำถามออกมา
“เธอคิดว่าศิลปะ…ควรจะสะท้อนความจริงของชีวิต หรือเป็นภาพสะท้อนชีวิตในอุดมคติล่ะ”
“ผมว่าในยุคนี้ศิลปะจะเป็นอะไรก็ได้นะครับ แต่เข้าใจว่าในสมัยนั้นคงคิดไม่เหมือนกัน”
“อืม…นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคเรอเนสซองส์ตอนต้น ราว ๆ ศตวรรษที่ 15 เธอคงรู้ว่างานศิลปะในสมัยนั้นมักเกี่ยวข้องกับศาสนา โบสถ์ต่าง ๆ มักจะเป็นผู้ว่าจ้างศิลปินวาดภาพที่สามารถเชื่อมโยงความคิดของผู้คนเข้ากับจิตวิญญาณอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ เพื่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ภาพที่สะท้อนออกมาจึงมักจะเป็นไปในแบบอุดมคติ”
1
“แต่ภาพของฟิลิปโปดูเหมือนจะมีอะไรมากกว่านั้นนะครับ”
ร่างสูงใหญ่นั้นหัวเราะหึหึในลำคอ
“บางทีหากฟิลิปโป มาอยู่ในยุคของเธอ เขาคงจะใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยงเลยล่ะ”
Self-Portrait of Fra Filippo Lippi
“ถ้าเข้าใจไม่ผิด เขาน่าจะเป็นนักบวชใช่ไหมครับ ดูจากคำนำหน้าชื่อแล้ว Fra หรือ Friar น่าจะมีความหมายว่าภราดา แบบนี้ชีวิตน่าจะอยู่ในกรอบมากกว่านะครับ”
“การเข้าใจชีวิตของศิลปิน ก็อาจจะทำให้เธอเข้าใจงานของเขามากขึ้นนะ พ่อหนุ่ม ฮ่าๆๆ เอาเป็นว่าฟิลิปโปเติบโตมาในอารามและผ่านการปฎิญาณตนเป็นนักบวชจริง ๆ นั่นแหละ แต่ไม่ใช่เพราะเขาเลือกเส้นทางนี้หรอก บางครั้งชะตาชีวิตและความจนก็เลือกให้เราแทน
ฟิลิปโปกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่สองขวบ เมื่อป้าเลี้ยงดูไม่ไหว จึงนำเขาไปฝากไว้ที่คณะนักบวชคาร์เมลไลท์ นั่นคือที่มาของการเป็นภราดาของเขา”
“และที่นั่นก็ทำให้เขาได้เรียนรู้การวาดภาพจากปรมาจารย์ และฝึกปรือจนมีฝีมือเป็นที่ยอมรับ เช่นเดียวกับที่ฉันให้คำถามเรื่องศิลปะกับเธอไปเมื่อสักครู่ คำถามที่ขัดแย้งอยู่ในใจของฟิลิปโปคือ การวาดในสิ่งที่สะท้อนความเป็นจริง ไม่ทำให้มนุษย์เรารู้สึกใกล้ชิดกับจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นเช่นนั้นหรือ”
1
Madonna and Child (1440 - 1445)
“อ๋อ…ผมรู้แล้ว Paint the soul, not the flesh!”
เราหัวเราะออกมาพร้อมกัน ประโยคสั้น ๆ นี้ มาพร้อมกับเสียงพร่ำบ่นและคำสั่งแก้ไขงานจากผู้ว่าจ้างหลายต่อหลายครั้งที่เห็นภาพของฟิลิปโปด้วยเกรงว่าผู้ชมจะหลงไปกับรายละเอียดทางกายภาพมากกว่าวัตถุประสงค์ของมัน
1
“สำหรับผู้หลงใหลความสุขทางโลกอย่างฟิลิปโป สถานะนักบวชของเขาไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการหาความสำราญในชีวิตเลยสักนิด
บ่อยครั้งที่เขาทิ้งงานที่ทำค้างอยู่ไปเฉย ๆ เพราะเอาเงินที่ได้รับจ้างมาไปเที่ยวซื้อความสุขจนไม่มีทุนทรัพย์จะนำมาใช้เป็นค่าอุปกรณ์ หรืองานไม่เสร็จตามกำหนดเวลา จนถูกฟ้องร้องเอาโทษ
แต่เคราะห์ยังดีที่ผลงานของเขาเป็นที่ถูกใจของ คอสซิโม เดอ เมดิชี (Cosimo de’ Medici) ผู้ร่ำรวยและครองเมืองฟลอเรนซ์ จึงให้ความช่วยเหลือและรับฟิลิปโปไว้เป็นศิลปินในความอุปถัมภ์”
Cosimo de' Medici, Bronzino
“แบบนี้ก็สบายแล้วนะครับ มีผู้ทรงอิทธิพลหนุนหลังซะอย่าง”
คุณบราวนิ่งหัวเราะเบา ๆ ดวงตาของเขามีแววระยิบระยับเหมือนเด็กที่กำลังนึกเรื่องซุกซนบางอย่างขึ้นมาได้
“พ่อหนุ่มเอ๋ย…จิตวิญญาณอิสระของฟิลิปโป แม้แต่ผู้ยิ่งใหญ่อย่างคอสซิโมก็ไม่สามารถฉุดรั้งไว้ได้ คอสซิโมให้เขาย้ายเข้ามาอยู่ในวังเพื่อทำงานศิลปะให้กับตระกูลเมดิชี โดยมีทหารยามเฝ้าเพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะไม่ทิ้งงาน แต่เพียงคืนที่สอง ทหารยามก็พบแต่เพียงเชือกที่ทำจากผ้าปูที่นอนห้อยออกมาจากหน้าต่างห้องของฟิลิปโปที่อยู่ชั้นบน โดยที่ร่างของเจ้าตัวนั้นไม่ปรากฎ”
1
“แม่เจ้า! นี่มันราพันเซลรึเปล่าครับนี่”
“ราพันเซล…นิทานเรื่องนั้นสินะ ฮ่ะๆๆๆ เธอนี่ก็ช่างเปรียบเทียบ แต่เรื่องของเขาก็ผจญภัยไม่แพ้กัน ในที่สุดคอสซิโมก็สั่งให้คนตามหาตัวเขากลับมาได้ และต่อจากนั้นก็ไม่มีคำสั่งให้เฝ้าเขาอีกต่อไป มันคงจะดีกว่าหากปล่อยให้เขาออกไปเที่ยวตามอำเภอใจบ้าง แทนที่จะเจอเขาแข้งขาหักหรือหนักกว่านั้นเพราะกระโดดหนีออกมาจากหน้าต่าง”
“ผมเข้าใจแล้วครับว่าทำไมภาพของเขาถึงดูมีชีวิตชีวามากกว่าศิลปินในยุคเดียวกัน ราวกับเขาใส่จิตวิญญาณของผู้คนเข้าไปในภาพวาดศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเลยนะครับ”
ร่างสูงใหญ่นั่นลุกขึ้นมาจากเก้าอี้ที่นั่งอยู่ มือที่ถือไม้เท้าอยู่นั้นชี้มาที่ภาพของพระแม่ กุมารและเทวดาสององค์ ที่เปิดกางอยู่บนโต๊ะ
“ภาพนี้เธอเห็นอะไร”
“เทวดาสององค์กำลังยื่นพระกุมารให้กับแม่พระครับ แต่ที่ผมรู้สึกแปลกใจคือเทวดาองค์ด้านหน้านี่แหละ ผมไม่เคยเห็นภาพเทวดาในยุคสมัยนั้นที่ดูขี้เล่น ซุกซนแบบนี้เลย แถมเทวดาองค์หลังที่โผล่มาแบบนิด ๆ นั้น ช่างเป็นมุมมองที่ประหลาดจริง ๆ
ส่วนพระแม่เองนั้นงดงามมาก ดูอ่อนโยนต่างจากภาพวาดพระแม่ในยุคโกธิคแบบลิบลับ ผมว่าบอตตีเชลลีที่เป็นลูกศิษย์ของเขา ได้รับอิทธิพลการถ่ายทอดความงามแบบนี้มาเต็ม ๆ เลยนะครับ”
1
“พ่อหนุ่ม…ถ้าฉันบอกเธอว่านี่อาจจะไม่ใช่เป็นเพียงภาพครอบครัวศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่เป็นครอบครัวจริง ๆ ของฟิลิปโปด้วย เธอจะว่าอย่างไร”
ไม้เท้าชี้มาที่ภาพหญิงสาว ‘มาดอนนา’ และเทวดาที่อยู่ด้านหน้า
“ว่ากันว่าผู้ที่เป็นแบบของภาพนี้น่าจะเป็น ลูเครเซีย บูติ (Lucrezia Buti) และนั่นคือลูกชายนอกสมรสของเขาและเธอ ฟีลิปีโน ลิปปี (Filipino Lippi)”
ผมแทบจะไม่เชื่อหูตัวเอง ถึงแม้จะรู้ว่าฟิลิปโปรักความสุขทางโลก แต่ถึงขั้นนี้เชียวหรือ
เจ้าของไม้เท้าร่างสูงดูขบขันไปกับท่าทางที่ประหลาดใจของผม ดวงตาของเขากระพริบด้วยความสนุกสนาน
“และที่สำคัญกว่านั้น เธอน่าจะเป็นแม่ชีเสียด้วยสิ”
นี่ผมอยู่ในดราม่ายุคเรอเนสซองส์รึเปล่านะ
"เมื่อครั้งที่อยู่ในเมืองปราโต ฟิลิปโปได้รับการว่าจ้างให้วาดรูปพระแม่เพื่อนำมาประดับโบสถ์ ซานตามาเกอริตา ซึ่งเป็นที่ ๆ เขาได้พบกับลูเครเซีย บูติ ซึ่งตามบันทึกน่าจะเป็นแม่ชีฝึกหัด หรือครอบครัวของเธอฝากให้เข้ามาอยู่ในคอนแวนต์ ทันทีที่เขาเห็นเธอก็เอ่ยปากขอให้เธอผู้นี้มาเป็นแบบให้กับภาพวาดของเขา
เรื่องราวหลังจากนั้นที่เรารู้คือ เขาหลงใหลในตัวของเธอมากเสียจนลักพาตัวมาอยู่ด้วยกัน โดยไม่สนใจแม้ผู้เป็นพ่อของเธอหรือคอนแวนต์จะเรียกร้องขอตัวเธอกลับคืนมา และในปีถัดมานั้นเธอก็ให้กำเนิดบุตรชายของเขา อันเป็นที่รู้จักกันในนาม ฟิลิปีโน ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นศิลปินนักวาดภาพเช่นเดียวกับพ่อของเขา"
Madonna with Child
ผมพูดอะไรไม่ออก ได้แต่เพียงพยักหน้ารับ เรื่องราวทั้งหมดนี้ดูช่างน่าเหลือเชื่อราวกับนิยาย ยิ่งมองดูภาพวาดของฟิลิปโป ลิปปีเท่าไร ผมก็ยิ่งเห็นความเป็นสัจนิยม (Realism) ในภาพวาดของเขามากขึ้นเท่านั้น
"เรื่องตลกร้ายก็คือ แม้ภายหลังคอสซิโมจะไปขอให้พระสันตะปาปาอนุญาตให้ฟิลิปโปสามารถแต่งงานกับลูเครเซียได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ฟิลิปโปต้องการ เขาเพียงแต่มีความสุขกับการใช้ชีวิตแบบเจ้าสำราญไปเรื่อย ๆ เท่านั้นเอง"
"เท่าที่ฉันเห็นนะพ่อหนุ่ม...ความจริงและอุดมคติเป็นถนนคนละเส้นฉันใด ศิลปะก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นกระจกที่สะท้อนภาพของศีลธรรมฉันนั้น"
ดวงตาที่ดูซุกซนของเทวดาตัวน้อยในภาพที่มองตรงมาที่ผมดูเหมือนจะขยิบให้กับคำพูดสุดท้ายของกวีเอกแห่งยุควิคตอเรีย
ก่อนที่ภาพทั้งหมดจะเลือนหายไป
ในห้องสมุดลับแห่งนี้...
"Be proud, to wear the colours
that you call your own
Be loud, speak out when you want
the world to know
Be strong, hold the flame for everyone to see
Be weak, if you want to love..."
🎵 ฟังเพลง "Light and Shade" (1987)
โดย Fra Lippo Lippi ได้ที่นี่ 👇
youtube.com
Light And Shade
Provided to YouTube by Universal Music Group Light And Shade · Fra Lippo Lippi Light And Shade ℗ 1987 Virgin Records Ltd Released on: 1987-01-01 Associated P...
หมายเหตุ :
- "Fra Lippo Lippi" คือวงดนตรีนิวเวฟในยุค 80s จากประเทศนอร์เวย์ ชื่อของวงมาจากชื่อของบทประพันธ์ในแบบบทพูดคนเดียว (Monologue) ของโรเบิร์ต บราวนิ่ง กวีชาวอังกฤษในยุควิคตอเรียที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1855 เล่าถึงชีวิตของฟรา ฟิลิปโป ลิปปี ศิลปินนักวาดภาพในยุคต้นเรอเนสซองส์
- เนื้อหาในบทความนี้เป็นข้อมูลจริงผสมส่วนที่แต่งขึ้นเพื่ออรรถรสในการนำเสนอ
แล้วพบกันใหม่ในชมรมศิลปะนอกเวลาครั้งหน้าครับ
References :
https://en.wikipedia.org/wiki/Fra_Lippo_Lippi_(poem)
https://en.wikipedia.org/wiki/Filippo_Lippi
https://www.britannica.com/biography/Fra-Filippo-Lippi
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Robert_Browning
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Fra_Lippo_Lippi_(band)
https://www.sparknotes.com/poetry/browning/section6/
Photo : Wikimedia commons
7 บันทึก
64
109
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เรื่องเล่าชมรมศิลป์
7
64
109
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย