Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สาระความรู้ชาวไทย
•
ติดตาม
12 ส.ค. 2020 เวลา 06:28 • ประวัติศาสตร์
"รำมาซิมารำ เรามารำกันให้สนุก"
นี่คือส่วนหนึ่งเนื้อร้องบทเพลง"รำมาซิมารำ" หนึ่งในบทเพลงรำวงมาตรฐาน
รำวงมาตรฐาน
รำวง เป็นการละเล่นโดยการรำเป็นวง จับคู่ชาย-หญิง เดินไปข้างหน้า วนไปมา
เป็นการแสดงที่มีวิวัฒนาการมาจาก "รำโทน" ซึ่งจะมีผู้รำทั้งชาย และหญิง รำกันเป็นคู่ ๆ รอบ โดยมีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ลักษณะการรำ และร้องเป็นไปตามความถนัด ไม่มีแบบแผนกำหนดไว้ คงเป็นการรำ และร้องง่าย ๆ มุ่งเน้นที่ความสนุกสนานรื่นเริงเป็นสำคัญ เช่น เพลงช่อมาลี เพลงยวนยาเหล เพลงหล่อจริงนะดารา เพลงตามองตา เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด ฯลฯ ด้วยเหตุที่การรำชนิดนี้มีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ จึงเรียกการแสดงชุดนี้ว่า รำโทน
การรำโทน โดยใช้ "โทน" เป็นเครื่องดนตรี
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการละเล่นรื่นเริงประจำชาติ และเห็นว่าคนไทยนิยมเล่นรำโทนกันอย่างแพร่หลาย ถ้าปรับปรุงการเล่นรำโทนให้เป็นระเบียบทั้งเพลงร้องลีลาท่ารำ และการแต่งกาย จะทำให้การเล่นรำโทนเป็นที่น่านิยมมากยิ่งขึ้น จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงรำโทนเสียใหม่ให้เป็นมาตรฐาน มีการแต่งเนื้อร้อง ทำนองเพลงและนำท่ารำจากแม่บทมากำหนดเป็นท่ารำเฉพาะแต่ละเพลงอย่างเป็นแบบแผน
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
รำวงมาตรฐาน ประกอบด้วยเพลงทั้งหมด ๑๐ เพลง กรมศิลปากรแต่งเนื้อร้องจำนวน ๔ เพลง คือ
เพลงงามแสงเดือน
เพลงชาวไทย
เพลงรำซิมารำ
เพลงคืนเดือนหงาย
ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม แต่งเนื้อร้องเพิ่มอีก ๖ เพลง คือ
เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ
เพลงดอกไม้ของชาติ
เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า
เพลงหญิงไทยใจงาม
เพลงบูชานักรบ
เพลงยอดชายใจหาญ
ส่วนทำนองเพลงทั้ง ๑๐ เพลง กรมศิลปากร และกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้แต่ง ท่ารำเพลงรำวงมาตรฐานประดิษฐ์ท่ารำโดย "นางลมุล ยมะคุปต์" "นางมัลลี คงประภัศร์" และ"นางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก" ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป์ ส่วนผู้คิดประดิษฐ์จังหวะเท้าของเพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ คือ"นางจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา" อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสังคีตศิลป ปัจจุบันคือ วิทยาลัยนาฏศิลป ปีพ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๔๘๖ เมื่อปรับปรุงแบบแผนการเล่นรำโทนให้มีมาตรฐาน และมีความเหมาะสม จึงมีการเปลี่ยนแปลงชื่อจากรำโทนเป็น “รำวงมาตรฐาน” อันมีลักษณะการแสดงที่เป็นการรำร่วมกันระหว่างหญิง-ชายเป็นคู่ ๆ เคลื่อนย้ายเวียนไปเป็นวงกลม มีเพลงร้องที่แต่งทำนองขึ้นใหม่ มีการใช้ทั้งวงปี่พาทย์บรรเลงเพลงประกอบ และบางเพลงก็ใช้วงดนตรีสากลบรรเลงเพลงประกอบ ซึ่งเพลงร้องที่แต่งขึ้นใหม่ทั้ง ๑๐ เพลง
การแต่งกาย
เครื่องแต่งกายของรำวงมาตรฐาน ประกอบด้วย ๔ แบบดังนี้
แบบที่ ๑ แบบชาวบ้าน
ชาย นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อคอพวงมาลัย เอวคาดผ้าห้อยชายด้านหน้า
หญิง นุ่งโจงกระเบน ห่มผ้าสไบอัดจีบ ปล่อยผม ประดับดอกไม้ที่ผมด้านซ้าย คาดเข็มขัด ใส่เครื่องประดับ
การแต่งกายแบบชาวบ้าน
แบบที่ ๒ แบบไทยพระราชนิยม
ชาย นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน ใส่ถุงเท้า รองเท้า
หญิง นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อลูกไม้ สไบพาดบ่าผูกเป็นโบ ทิ้งชายไว้ข้างลำตัวด้านซ้าย ใส่เครื่องประดับมุก
การแต่งกายแบบไทยพระราชนิยม
แบบที่ ๓ แบบสากลนิยม
ชาย นุ่งกางเกง สวมสูท ผูกเน็กไท
หญิง นุ่งกระโปรงป้ายข้าง ยาวกรอมเท้า ใส่เสื้อคอกลม แขนกระบอก
การแต่งกายแบบสากลนิยม
แบบที่ ๔ แบบราตรีสโมสร
ชาย นุ่งกางเกง สวมเสื้อพระราชทาน ผ้าคาดเอวห้อยชายด้านหน้า
หญิง นุ่งกระโปรงยาวจีบหน้านาง ใส่เสื้อจับเดรป ชายผ้าห้อยจากบ่าลงไปทางด้านหลัง เปิดไหล่ขวา ศีรษะทำผมเกล้า
การแต่งกายแบบราตรีสโมสร
และนี่คือเรื่องราวเล็กๆน้อยๆของรำวงมาตรฐานครับ
แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้า! "สวัสดี"
สาระน่ารู้ในสังคมไทย
บันทึก
6
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย