13 ก.ค. 2020 เวลา 02:30 • สิ่งแวดล้อม
เข้า "หน้าฝน" แล้ว แต่ทำไมหลายพื้นที่ยัง "แล้ง" หนัก 4 เขื่อนหลัก เหลือน้ำใช้ 5%
ไขข้อข้องใจ.. ทำไมเข้าสู่ "ฤดูฝน" แต่หลายพื้นที่ในประเทศไทยกลับจัดว่า "แล้งหนัก" โดยสถานการณ์ "น้ำใช้การ" ของ 4 เขื่อนหลัก เหลืออยู่ราว 5% เท่านั้น
1
นับตั้งแต่ 18 พ.ค. 63 ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศให้ไทยเข้าสู่ "ฤดูฝน" ประจำปี 2563 ซึ่ง นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้อธิบายว่า ในระยะแรกของการเข้าสู่ฤดูฝน ปริมาณและการกระจายตัวของฝนจะยังไม่สม่ำเสมอ แต่จะมีปริมาณฝนมากขึ้นช่วงปลายเดือนมิถุนายน และจะสิ้นสุดฤดูฝนในช่วงกลางเดือน ต.ค.2563
พร้อมทั้งระบุเพิ่มเติมว่า ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.2563 ถึงกลาง เดือน ก.ค.2563 จะมีปริมาณฝนน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการทำการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเขตนอกชลประทาน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้สะท้อนภาพแบบที่อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน
อย่างเช่นปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวมทั้งหมด 447 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 31,997 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือราว 42% ของความจุอ่างทั้งหมด ขณะที่ปริมาณ "น้ำใช้การได้" อยู่ที่ 8,347 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 16% ของความจุน้ำใช้การ
ขณะเดียวกันพบว่าราว 30 แห่งของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% เช่น จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ขุนด่านปราการชล ตลองสีนัด ประแสร์ ฯลฯ
สถานการณ์ "แล้ง" ในประเทศไทย ปี 2563
ยิ่งพอเจาะลึกไปที่ "4 เขื่อนใหญ่" ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 9 ก.ค.2563 สถานการณ์น้ำใช้การมีอยู่ราว 5% ขอความจุดน้ำใช้การเท่านั้น หรือ 837 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อย่างเช่น ภาพของแม่น้ำยม บริเวณจังหวัดพิจิตร ที่ปรากฏภาพของความแห้งขอด เห็นผืนทรายในท้องน้ำ ทั้งที่ปัจจุบันเข้าฤดูฝนแล้ว แต่ปริมาณฝนที่ตกลงมากลับไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนที่ต้องขาดแคลนน้ำอุปโภคและทำการเกษตรริมสองฝั่งของแม่น้ำยม หรือในพื้นที่จังหวัดยโสธร เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ต้องเร่งขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อหาน้ำมาใช้สำหรับทำการเกษตร หลังจากต้องประสบภาวะขาดแคลนหนัก
สถานการณ์ "แล้ง" ในประเทศไทย ปี 2563
ผลกระทบเหล่านี้สะท้อนว่า แม้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ปริมาณน้ำฝนกลับไม่แปรผันตาม ขณะเดียวกันกลับทำให้เกิดวิกฤติภัยแล้งขึ้นในหลายพื้นที่ด้วย “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปไขข้อข้องใจประเด็นนี้กันว่า
..เพราะเหตุใดเข้าสู่ “ฤดูฝน” แต่บางพื้นที่ยัง “แล้ง”?
ในมุมมองด้านอุตุนิยมวิทยา อธิบาย "ภัยแล้ง" ที่เกิดขึ้นในไทยไว้ว่า
สามารถเกิดขึ้นได้ 2 ช่วง ได้แก่
1.ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อน หรือราวๆ ครึ่งหลังของเดือน ต.ค.เป็นต้นไป โดยประเทศไทยตอนบน ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีปริมาณฝนลดลงตามลำดับ ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
2. ช่วงกลางฤดูฝน ประมาณปลายเดือน มิ.ย.-ก.ค. ซึ่งก็คือช่วงเวลานี้ จะเกิด "ภาวะฝนทิ้งช่วง" ซึ่งหมายถึงช่วงฤดูฝนที่มีปริมาณฝนตกไม่ถึงวันละ 1 มิลลิเมตร ติดต่อกันเกิน 15 วัน โดยเดือนที่มีโอกาสฝนทิ้งช่วงสูงสุดคือ มิ.ย.-ก.ค.
ซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นหรือบางพื้นที่ แต่บางครั้งอาจครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างเกือบทั่วประเทศ โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง เนื่องจากเป็นบริเวณที่อิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้าไปไม่ถึง และหากปีใดที่ไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านในแนวนี้เลย จะยิ่งทำให้ภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น
โฆษณา