13 ก.ค. 2020 เวลา 03:13 • กีฬา
ไม่ต้องสงสัยเลย นี่คือเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนโลกกีฬาของเกาหลีใต้มากที่สุดในรอบปีนี้ มันรุนแรงขนาดประธานาธิบดีของประเทศต้องออกมาสั่งสืบสวนคดี เรื่องราวจะเป็นอย่างไร นำไปสู่บทสรุปแบบไหน วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟัง
26 มิถุนายน 2020 เลยเวลาเที่ยงคืนมาเล็กน้อย ชเว ซุค-ฮยอน นักไตรกีฬาสาวดีกรีเยาวชนทีมชาติ วัย 22 ปี หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา แล้วส่งแมสเซจไป 2 ข้อความ
1
ข้อความแรก เธอส่งให้เพื่อนสนิทที่อยู่ชมรมไตรกีฬาว่า ฝากดูแลน้องหมาที่เธอเลี้ยงหน่อยตอนที่เธอไม่อยู่ จากนั้นเธอส่งข้อความที่สอง คราวนี้ส่งหาคุณแม่ของตัวเอง โดยมีเนื้อความว่า "แม่คะ หนูรักแม่มากนะคะ และแม่ต้องสัญญานะ ว่าทั้งโลกจะต้องได้รู้ ว่าพวกมันทำอะไรกับหนู"
1
เมื่อส่งข้อความเสร็จ ชเว ซุค-ฮยอน ฆ่าตัวตายที่ห้องพักของตัวเอง
5
เด็กสาวอายุน้อยที่มีอนาคตไกล ทำไมถึงจบชีวิตตัวเอง นี่เป็นเรื่องที่สังคมมึนงงมาก เพราะหน้าฉากเธอก็ดูปกติดี นักกีฬาชเว เคยเป็นตัวแทนทีมชาติไปแข่งรายการเยาวชนชิงแชมป์เอเชียและได้เหรียญทองแดงกลับมา ดูจากเส้นทางแล้ว เธอมีโอกาสก้าวไปติดทีมชาติชุดใหญ่ และไปแข่งโอลิมปิกเกมส์ในอนาคตด้วย
6
หลังเธอเสียชีวิต คุณแม่ได้นำ "ไดอารี่" ที่ชเว เขียนบันทึกเอาไว้ มาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมคลิปเหตุการณ์บางอย่างที่เธอแอบถ่ายเก็บไว้ มันเป็นหลักฐานที่ทำให้โลกรู้ว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เธอโดนอะไรมาบ้าง
4
และนี่คือเรื่องราว ที่เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ อันดับหนึ่งของเกาหลี ถึงขนาดประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ยังต้องออกมาพูดถึงประเด็นนี้
ซึ่ง ณ เวลานี้ เรื่องราวทุกอย่างเปิดเผยออกมาหมดแล้ว เราไปลำดับเรื่องราวทั้งหมดด้วยกัน
1
ชื่อเสียงของชเว ซุค-ฮยอน เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการกีฬาเกาหลีตั้งแต่เมื่อ 11 ปีก่อน โดยวันที่ 9 มิถุนายน 2009 ชเวที่ขณะนั้นอายุ 11 ปี ลงแข่งไตรกีฬาเยาวชนแห่งชาติ โดยโปรแกรมการแข่งนั้น เธอเริ่มจากว่ายน้ำ 400 เมตร จากนั้นปั่นจักรยาน 10 กิโลเมตร ก่อนปิดท้ายด้วยการวิ่ง 2.5 กิโลเมตร ซึ่งสุดท้าย ชเว เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 คว้าเหรียญทองได้สำเร็จ
1
ชเว ถูกเรียกว่าเป็น "Iron Girl" หรือเด็กสาวจอมพลัง แวดวงกรีฑาเริ่มจับตามองเธอนับจากนั้น
ชเว พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ ด้วยการฝึกฝนของชมรมกรีฑาในโรงเรียน เวลาต่อมาอีก 6 ปี ในปี 2015 เธอถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนทีมชาติเกาหลีใต้ ไปแข่งรายการเยาวชนชิงแชมป์เอเชียที่ไต้หวัน ก่อนสุดท้ายจะคว้าเหรียญทองแดงมาครอง
1
"ความฝันของฉัน คืออยากลงแข่งขัน รายการไตรกีฬาชิงแชมป์โลก" ชเว ยุค-ฮยอน ในวัย 17 ปีกล่าวเอาไว้ด้วยความสุข
1
ที่บ้านของชเว มีฐานะยากจน พ่อแม่เป็นชาวนา ดังนั้นเธอเองก็ตั้งใจว่า จะใช้การเป็นนักกีฬาในการสร้างรายได้ให้ครอบครัว อนาคตถ้าเธอได้ไปแข่งเอเชียนเกมส์ หรือ โอลิมปิก ก็อาจทำให้พ่อแม่ได้สบายมากขึ้นกว่านี้
4
หลังจบมัธยมปลายในปี 2017 เพื่อเป้าหมายในการเป็นนักกีฬาทีมชาติ เธอจึงต้องหา "สังกัด" อยู่ ซึ่งก็ได้แก่สโมสรกรีฑามืออาชีพ
1
ในเกาหลีใต้ถ้าคุณอยากติดทีมชาติ วิธีดีที่สุดคือเข้าไปสังกัดกับสโมสรใหญ่ๆ คือจะมาซ้อมเองลำพังคนเดียว โอกาสทำสถิติให้ดีขึ้นมันก็ยาก ยิ่งไปกว่านั้น คุณอาจต้องทำงานพาร์ทไทม์อย่างอื่นเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองไปด้วยระหว่างที่ฝึกซ้อมกรีฑา คือชีวิตจะดูลำบากมาก แต่ถ้าหากคุณหาสังกัดอยู่ได้ นอกจากจะมีอุปกรณ์การซ้อมที่ครบเครื่องแล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆ สโมสรก็จ่ายให้หมด และยังมีเงินเดือนให้นักกีฬาอีกต่างหาก ดังนั้นมันก็จะดีกว่า ถ้ามีสโมสรคอยซัพพอร์ท
1
ชเว จึงตัดสินใจเลือกเซ็นสัญญากับกวางจู ซิตี้ฮอลล์ ที่เป็นสโมสรที่มีชื่อเสียงแถวหน้าของประเทศ โดย จาง ยุน-ยอง นักไตรกีฬาหญิงเจ้าของเหรียญทองแดง เอเชียนเกมส์ 2010 ที่กวางโจว ซึ่งเป็นนักไตรกีฬาคนแรกในประวัติศาสตร์เกาหลีที่ได้เหรียญเอเชียนเกมส์ ก็อยู่สังกัดนี้ด้วย
4
เมื่อย้ายไปอยู่ ชเว คาดหวังว่าจะได้รับคำแนะนำที่ดีจากรุ่นพี่จาง การได้เทคนิคดีๆ จากคนที่เคยได้เหรียญเอเชียนเกมส์มาแล้ว น่าจะทำให้เธอพัฒนาขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่ชเว ไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลย คือรุ่นพี่จาง ไม่ได้คิดว่าเธอเป็นรุ่นน้อง แต่กลับมองว่าเป็น "ภัยคุกคาม"
ตอนย้ายมาอยู่ทีมกวางจู ชเว อายุ 19 ปี เธอเต็มไปด้วยพลัง มีความสดใหม่ และพร้อมจะขึ้นไปเป็นราชินีคนต่อไปของวงการไตรกีฬา แต่ถ้ามองอีกมุม นั่นแปลว่าชเว ต้องโค่นบัลลังก์จากราชินีคนปัจจุบัน นั่นคือจาง ยุน-ยอง ซึ่งตัวจาง ยุน-ยอง ก็อายุแค่ 28 ปี เธอยังสามารถเป็นอันดับหนึ่งต่อไปได้อีกนาน และ แน่นอนว่าเธอจะไม่ยอมให้ใครก้าวมาแย่งตำแหน่งได้
3
คนทั่วไป ถ้าอยากยึดมือหนึ่งต่อไปนานๆ คงเลือกใช้วิธีพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นไปอีก แต่วิธีที่รุ่นพี่จาง เลือกจะทำคือกดชเวลงมาไม่ให้โงหัวได้ด้วยการ "บุลลี่"
2
รุ่นพี่จาง กลั่นแกล้งชเวเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ทั้งทางร่างกายและทางวาจา ที่เกาหลี เรื่องความเคารพรุ่นพี่รุ่นน้องยังเหนียวแน่นมาก ดังนั้นชเวก็ต้องก้มหน้าก้มตาโดนกระทำไป จะมาทำตัวอ่อนแอให้เห็นไม่ได้เด็ดขาด
ครั้งหนึ่ง รุ่นพี่จาง เรียกชเวมา แล้วชี้ไปที่ต้นขา พร้อมตะโกนหัวเราะกับคนในทีมว่า "ร่างกายแบบนี้ถามจริงเถอะ ว่าเธอเป็นผู้ชายแปลงเพศมาหรือเปล่า" ส่วนอีกครั้งหนึ่งเธอบอกว่า "นี่แกเป็นกะเทยที่นัดผู้ชายไม่เลือกหน้าหรือเปล่าเนี่ยะ"
รุ่นพี่จางเดินๆอยู่เอามือมาตบหัวเธอเปรี้ยง แล้วก็หัวเราะ บางทีก็ต่อย ก็ผลัก และทุกคนในทีมก็คิดว่าเป็นเรื่องสนุกไปด้วย เธอโดนแกล้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายปีติดกัน
1
ตอนแรกเธอก็พอทนได้ แต่เมื่อโดนกระทำซ้ำๆมา 1 ปี ในที่สุดเธอทนไม่ไหวเอาเรื่องนี้ไปฟ้องโค้ชของทีม ที่ชื่อ คิม คโย-บอง ปรากฎว่าโค้ชเรียกทั้งคู่มา แล้วสั่งให้ชเว คุกเข่าลงขอโทษรุ่นพี่จาง ไม่มีการปกป้องใดๆเกิดขึ้น
3
ไปๆมาๆ การใช้กำลังไม่ได้มีแค่รุ่นพี่จางเท่านั้น แต่โค้ชคิมก็ร่วมวงด้วย ชเวได้บันทึกไว้ในไดอารี่โดยระบุว่า ครั้งหนึ่งที่ทีมไปเก็บตัวที่นิวซีแลนด์ ทีมงานสั่งให้นักกีฬาไดเอ็ท แต่ชเว ไปเผลอกินลูกพีช 2 ชิ้น ปรากฏว่าโค้ชคิม เอารองเท้ามาตบหน้าเธอ จากนั้นบอกว่าอยากกินนักใช่ไหม ได้ โค้ชคิมไปซื้อขนมปังที่ร้านค้า มูลค่า 2 แสนวอน (5,200 บาท) แล้วสั่งให้ชเวกินเข้าไปเรื่อยๆ กินอย่าหยุด พอเธอกินไม่ไหวอ้วกออกมา ก็บังคับให้กินต่อจนอ้วกอีกรอบ จนถึงเช้า
4
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชเวโดดเดี่ยวเกินไป เธอเป็นเป้าหมายการเล่นงานของสตาร์ในทีมและเฮดโค้ช ซึ่งเพื่อนร่วมทีมคนอื่นก็เห็นเหตุการณ์ แต่ไม่มีใครกล้าพอจะทำอะไร ทุกคนแค่กลัวว่าตัวเองโดนเล่นงานไปด้วย ดังนั้นจึงเงียบไว้ และเฝ้าดูชเว โดนกระทำซ้ำๆไปเป็นปี
4
ด้วยสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ ทำให้เธอฟอร์มตกแบบน่าใจหาย ก่อนที่จะขอพักการเล่นกีฬาไปก่อน 1 ปี เพื่อพักใจที่บ้านเกิด
มันเป็นปัญหาที่เธอไม่รู้จะแก้ยังไง เพราะวัฒนธรรมการซ้อมกีฬาที่เกาหลีมันเป็นแบบนี้มาตลอด คือโค้ชดุ โหด และนักกีฬาก็ต้องทำตามทุกอย่างที่โค้ชสั่งอย่างเคร่งครัด นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ก็ต้องข้ามขีดจำกัดของตัวเองกันทั้งนั้น
2
ทางเลือกอื่นจริงๆก็มี นั่นคือเธอสามารถย้ายไปอยู่สโมสรอื่นได้ แต่คุณภาพของอุปกรณ์การซ้อม และสวัสดิการต่างๆก็จะไม่ดีเท่ากวางจู ซิตี้ฮอลล์ ที่ถือเป็นทีมใหญ่
2
และอีกอย่างถ้าเธอย้ายทีมสายตาคนนอกจะมองอย่างไร จะมองว่าเธอเป็นพวกไม่มีน้ำอดน้ำทนหรือเปล่า ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ใครจะอยากร่วมงานด้วย ในมุมของชเว เธอเองสับสนว่ามันเป็นการบุลลี่ หรือมันเป็นเรื่องปกติที่นักกีฬาก็ต้องโดนกันทุกคน
1
ในช่วง 1 ปีที่ชเวหายไป รุ่นพี่จาง ไม่มีคู่แข่ง เธอกวาดเหรียญแชมป์ทุกรายการในประเทศ ก่อนจะได้เป็นตัวแทนทีมชาติอีกครั้ง ไปแข่งเอเชียนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย และคว้าเหรียญเงินมาครองได้สำเร็จ
2
สถานะของจาง จุน-ยอง ในสโมสรกวางจู ซิตี้ฮอลล์ ไม่มีใครแตะต้องได้จากผลงานที่ประจักษ์ชัดแบบนั้น
2
รุ่นพี่จาง
1 ปีผ่านไป ชเว ซุค-ฮยอนรวบรวมความกล้า และกลับมาที่สโมสรกวางจู ซิตี้ฮอลล์อีกครั้ง
เธอเพิ่งอายุ 21 ยังอยู่ในวงการนี้ได้นาน ตอนนี้เธอคิดว่าจิตใจแข็งแกร่งพอแล้ว และหลังจากเว้นว่างไป 1 ปี อะไรๆมันก็น่าจะดีขึ้นบ้าง
มกราคม 2019 เธอเขียนข้อความในไดอารี่ว่า "เอาล่ะ นี่คือการเริ่มต้นใหม่ ฉันสามารถคัมแบ็กกลับสู่ฟอร์มสุดยอดอีกครั้งได้น่า ฉันทำได้! ลุยเลย!"
ชเว เดินทางไปที่นิวซีแลนด์เพื่อเก็บตัวกับทีมอีกครั้ง โดยตอนนี้ใกล้ได้เวลาคัดตัวแทนทีมชาติไปแข่งโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวแล้ว ถ้าเธอมีฟอร์มดีหน่อย ก็อาจสร้างประวัติศาสตร์ติดทีมชาติเลยก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม แม้ชเวจะมองโลกในแง่ดี แต่ความจริงก็คือเธอยังโดนเล่นงานต่อ และคราวนี้ไม่ใช่แค่รุ่นพี่จางและโค้ชเท่านั้น แต่ยังมีแพทย์ประจำทีม อาห์น จู-ยุน และ รุ่นพี่นักกีฬาชาย คิม โด-วาน ร่วมวงในการทำร้ายเธออีกด้วย
"เราเห็น ชเวโดนทำร้ายตอนซ้อมอย่างน้อยเดือนละ 3-4 ครั้ง" เพื่อนร่วมทีมรายหนึ่งเผย "ทีมของเราเคร่งครัดเรื่องกฎรุ่นพี่รุ่นน้องมาก และดูเป็นปกติมากที่รุ่นพี่จะอัดรุ่นน้องในทีม"
เรื่องการทำร้ายร่างกายและบุลลี่เป็นเรื่องแปลก นั่นคือคนที่ชอบบุลลี่คนอื่น ก็จะทำไปเรื่อยๆแบบไม่มีขีดจำกัด มันไม่จบสิ้นง่ายๆ เวลาที่ชเวพยายามฮึดขึ้นสู้ เธอกลับยิ่งโดนเล่นหนักกว่าเดิม จนต้องทรุดลงไปอีกครั้ง
เธอโดนตบ โดนเตะ โดนถีบ สารพัดจะทำร้ายร่างกาย และแน่นอน เมื่อโดนเล่นแบบนี้ จะเอาสมาธิที่ไหนไปซ้อม ผลงานของเธอห่างไกลกับการติดทีมชาติมาก
"โค้ช และหมอประจำทีมบอกว่า ชเวเป็นผู้หญิงโรคจิต และชอบทำตัวมีปัญหา" เพื่อนร่วมทีมรายหนึ่งกล่าว คือนอกจากทำร้ายร่างกายแล้ว ยังสร้างภาพลักษณ์เป็นแง่ลบอย่างสมบูรณ์ให้กับชเวอีกต่างหาก
2
ในที่สุด ชเวก็ฟิวส์ขาด เธอทนไม่ไหวแล้ว จึงส่งเรื่องไปแจ้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสมาคมไตรกีฬาของเกาหลีใต้ รวมถึงสถานีตำรวจกวางจู เพราะการกระทำแบบนี้ มันคือการทำร้ายร่างกายกัน มันไปไกลกว่าการฝึกซ้อมมากแล้ว
1
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เธอไปแจ้งกับสมาคมสุดท้ายก็เงียบหายไป ไม่มีรีแอ็กชั่นอะไรเลย ขณะที่ตอนเธอไปแจ้งความ ตำรวจระบุว่า "คุณจะเอาอะไรไปฟ้องกับการฝึกซ้อมกีฬา อย่างมากก็ปรับเงิน 200,000-300,000 วอน แค่นั้น" ตำรวจไม่ได้สนใจอย่างจริงจัง ก็แค่เรื่องปกติของการซ้อมกีฬา ใครๆก็ซ้อมหนักกันอย่างนี้ไม่ใช่หรือ จะดราม่าอะไรขนาดนั้น
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ชเว ตัดสินใจว่าเธอต้องมีหลักฐานในมือ โดยนอกจากไดอารี่ที่เธอเขียนเป็นประจำแล้ว เธอยังทำการแอบบันทึกเสียงเหตุการณ์เอาไว้ด้วยตอนที่เธอโดนทำร้าย
มีนาคม 2019 ชเวบันทึกเสียงในมือถือ เป็นเหตุการณ์ที่เธอโดนแพทย์ประจำทีม กับโค้ช กำลังลงโทษหลังจากเธอไม่สามารถลดน้ำหนักได้ตามเกณฑ์ที่สโมสรวางไว้
1
"มันคือความผิดของแกนั่นแหละ แกต้องไปอดอาหารสามวัน" เสียงของแพทย์ประจำทีมพูดขึ้น "ถ้าแกไม่สามารถทำตามที่สั่งได้ แกก็ต้องอดอาหาร จงรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองทำซะ เอาล่ะ กัดฟันแน่ๆ"
1
จากนั้นก็เป็นเสียงตบหน้าดังผัวะ ดังขึ้นมาจากในคลิปเสียง ชเวโดนตบหน้าอย่างรุนแรง ตามด้วยเสียงการโดนชกต่อยอีกนับครั้งไม่ถ้วน
1
ในเหตุการณ์นั้น ชเวบันทึกในไดอารี่ว่า เธอโดนตบ ตามด้วยต่อย และเตะมากกว่า 20 ครั้ง จนซี่โครงร้าว ตามด้วยข้อความที่สะเทือนใจว่า "ฉันอยากตาย จะโดนรถชน โดนโจรเอามีดแทงหรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น ฉันไม่อยากอยู่ในโลกนี้แล้ว
6
จุดแตกหักที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้น ตอนที่เธอออกจากแคมป์เก็บตัวของสโมสรที่จังหวัดกยองซัง เพื่อไปทำธุระให้ที่บ้าน ซึ่งถ้าเธอขอโค้ช ก็คงไม่สามารถไปได้แน่ เธอจึงแอบหลบออกมา และปรากฏว่าโดนจับได้
2
ในวันนั้นโค้ชคิมโทรเรียกพ่อแม่ของชเว ให้มาหาที่แคมป์ที่จังหวัดกยองซัง เมื่อเจอหน้ากันโค้ชบอกว่า "ลูกสาวของพวกคุณทำเรื่องเลวร้าย และคุณในฐานะแม่ต้องลงโทษเธอ ตบหน้าเธอแรงๆให้ผมเห็นตรงนี้"
1
แม่ของชเวไม่ยอมทำร้ายลูกสาวตัวเอง ดังนั้นโค้ชคิมจึงตบหน้าชเวไปหนึ่งที และสั่งให้แม่ตบชเวเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นเขาจะไล่ออกจากทีม ซึ่งชเวจึงบอกแม่ว่าไม่เป็นไร ตบมาเถอะ หนูโอเค สุดท้ายแม่ต้องยอมตบหน้าลูกต่อหน้าโค้ช ซึ่งทั้งเธอและลูกสาวต้องร้องไห้ไปพร้อมกัน
1
"แกกล้าดียังไง ถึงหนีออกไปจากแคมป์เก็บตัวของฉัน" โค้ชคิมกล่าวอย่างเดือดดาล
1
ในครั้งนั้น ชเวยังอยู่กับทีมต่อ ไตรกีฬาคือความฝันเดียวของเธอ เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ที่บ้านลืมตาอ้าปากได้ อย่างไรก็ตาม ฟางเส้นสุดท้ายกำลังจะทำให้เธอหลังหักแล้ว
2
และสุดท้ายเธอก็ไม่ไหวจริงๆ ในช่วงปลายปี 2019 เธอโดนซ้อมอีกครั้ง คราวนี้ชเวโดนแพทย์ของทีมตะคอกใส่ว่า "จริงๆแล้วเธอก็มีฝีมือดีนะ แต่เธอมันพวกหนอนบ่อนไส้ เธอเอาเรื่องเราไปบอกตำรวจใช่ไหม เธอคิดจริงๆหรอว่าจะมีใครสนใจ เรื่องโค้ชกับนักกีฬาแบบนี้"
4
ถึงจุดนั้น ชเวจึงหมดความอดทน เพราะเธอรู้ว่าอยู่กับทีมนี้ไป เธอก็ไม่ได้โอกาสอะไรเลย อนาคตก็ไม่มี แถมยังเจ็บตัวอีกต่างหาก ทำไมเธอต้องมาทนกับชีวิตบัดซบแบบนี้ด้วย ชเวจึงขอลาออกจากทีมกวางจู ซิตี้ฮอลล์ในที่สุด
1
หลังจากลาออกจากทีม ก็เป็นอย่างที่เธอคิด คือที่เกาหลีจะมีความเชื่อว่า คนที่ลาออกจากทีมเป็นพวกไม่มีน้ำอดน้ำทน ไม่มีทางจะปั้นขึ้น ทำให้ไม่มีทีมใหญ่กล้ารับเธอไปอยู่ด้วย สุดท้ายเธอได้มาอยู่กับทีมกรีฑาเล็กๆในเมืองปูซาน ซึ่งก็ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะส่งเธอกลับไปติดทีมชาติ
2
เมื่อความหวังทั้งหมดพังทลาย เธอคิดถึงอดีตอันสวยงาม เธอเคยเป็นดาวรุ่งของประเทศ มีความหวัง มีความฝัน ผู้คนบอกว่าเธอมีโอกาสได้ไปโอลิมปิก แต่ช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ด้วยความที่ต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวในทุกวัน ทำให้เธอหยุดพัฒนาตัวเองไปแล้ว ในการแข่งครั้งล่าสุดเธอทำเวลาจบอันดับ 14 ของประเทศ เวลาแย่ขนาดนี้อย่าไปฝันเลยว่าจะได้ติดทีมชาติ ฟอร์มแบบนี้ไม่มีวันชนะใครได้หรอก
5
ชเว ซุค-ฮยอน อยู่ในความทุกข์ เธอเองก็ไม่คิดว่าตัวเองจะกลับไปเก่งกาจเหมือนตอนอยู่มัธยมได้อีก
2
ในหัวเธอมีแต่ความเครียด จากนี้ไปเธอทำอะไร เธอเรียนจบแค่ ม.6 ถ้าเอาดีทางกีฬาไม่ได้ ก็จะเป็นภาระให้ครอบครัว เธอทำให้ที่บ้านผิดหวัง เธอเสียใจที่สุดท้ายคนที่ทำร้ายเธอ ต่างมีชีวิตอย่างปกติสุขทุกคน มีแต่เธอที่ต้องทรมานอยู่คนเดียว
5
ดังนั้น 26 มิถุนายน 2020 ชเว จึงตัดสินใจเด็ดขาดที่จะปลิดชีวิตตัวเอง และหวังว่าความตายของเธอ จะช่วยล้างแค้นให้เธอได้
2
โดยเธอฝากฝังไดอารี่ และคลิปเสียงทั้งหมดไว้กับคุณแม่ และช่วยจัดการเรื่องนี้ต่อหลังจากเธอไม่อยู่ในโลกแล้ว
ในมุมของชเว ความตายจะแลกมาด้วยความสนใจจากสื่อมวลชน มันเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่เธอคิดได้ ณ เวลานั้น
คุณแม่ของชเวเอาไดอารี่ และคลิปเสียงไปให้สื่อมวลชน เพื่อทำการเผยแพร่ 4 ปี แห่งความทรมานของนักกีฬาชเว คือน่าแปลกที่ก่อนหน้านี้ ไม่มีใครสนใจ ก็คิดว่ามันเป็นแค่การซ้อมทั่วไปในวงการกีฬา แต่เมื่อชเวเสียชีวิตไปแล้ว สื่อมวลชนจึงได้เข้าใจว่า มันไม่ใช่แค่ "เรื่องปกติ" แต่มันเป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดที่ใครสักคนยอมตายได้เลย
11
หลังเสียชีวิตได้ไม่นานนัก ในงานศพของชเว ปรากฏว่าโค้ชคิมไม่ไปร่วมงานด้วย นอกจากนั้นเขายังส่งข้อความให้นักกีฬาในทีมทุกคนให้พูดตรงกันด้วยว่า "ชเว ซุค-ฮยอน ไม่สามารถเอาชนะปัญหาได้เอง ทุกคนอย่าไปบอกคนนอกว่ามันเกิดอะไรขึ้นในทีม"
1
ถึงตรงนี้ นักกีฬาในทีมมีความหวาดผวา ว่าตัวเองก็อาจเป็นเหยื่อรายต่อไปของโค้ช แพทย์สโมสร และรุ่นพี่ได้เหมือนกัน ดังนั้นแต่ละคนจึงเริ่มเปิดปากเป็นครั้งแรก ถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับชเว
2
ทั้งไดอารี่ ทั้งคลิปเสียง ทั้งข้อมูลต่างๆ ที่หลั่งไหลมาจากสมาชิกในทีม ตอนนี้สื่อมวลชนนำเสนอข่าว จนกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ มีการดีเบทกันว่า สังคมเกาหลีทำไมถึงมองเรื่องการซ้อมโหดเป็นเรื่องปกติ และเพื่อความสำเร็จนักกีฬาต้องยอมแลกทุกอย่างในชีวิตขนาดนี้เลยหรือไง
1
ประชาชนในเกาหลีใต้มากกว่า 120,000 คน ยื่นเรื่องต่อรัฐบาลให้ทำการสืบสวน ซึ่งนั่นทำให้ประธานาธิบดี มุน แจ-อิน อยู่เฉยไม่ได้ ต้องรีบเทกแอ็กชั่นทันที ก่อนเหตุจะบานปลาย โดยผู้นำเกาหลีใต้ได้กล่าวว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะปล่อยผ่านได้ การใช้ความรุนแรง และปฏิบัติการอย่างโหดร้ายมันตกยุคไปนานแล้ว มันล้าหลัง และเราไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้นอีก ที่สำคัญมันน่าผิดหวังมาก ที่หน่วยงานรัฐไม่ยอมเข้าไปทำอะไรเลย ทั้งๆที่ นักกีฬาชเวร้องเรียนเรื่องมาตั้งนานแล้ว แต่กลับถูกมองข้าม จนเกิดเหตุการณ์สลดขึ้น"
5
มุน แจ-อิน สั่งให้มีการสืบสวนอย่างเร่งด่วนทันที นั่นทำให้ทั้งตำรวจ และสมาคมกีฬา อยู่กันไม่สุข รีบจัดการหาหลักฐานมาสืบคดีที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอน พวกเขาเจอหลักฐานง่ายมาก เพราะชเว เก็บทุกอย่างเอาไว้หมด เธอพยายามจะบอกมาตั้งนานแล้ว ว่าเธอโดนอะไรบ้างแต่ในครั้งนั้นไม่มีใครฟังเธอเลย
3
ตำรวจเรียก โค้ชคิม คโย-บอง , แพทย์สโมสรอาห์น จู-ยุน, รุ่นพี่จาง จุน-ยอง และ รุ่นพี่คิม โด-ฮวาน เข้ามาสอบปากคำ และจากการคุยกัน 7 ชั่วโมงเต็ม ก็ได้ข้อสรุปว่าทั้งหมดคือเรื่องจริง มีการทำร้ายทางวาจา และจิตใจ ยาวนานหลายปี
1
คณะกรรมการโอลิมปิกเกาหลีใต้ และ สมาคมไตรกีฬาแห่งชาติ สั่งแบน คิม คโย-บอง ตลอดชีวิต เช่นเดียวกับ รุ่นพี่จาง ยุน-ยอง ที่เป็นคนนำบุลลี่ แม้จะมีเกียรติประวัติเคยคว้าเหรียญเงินเอเชียนเกมส์ให้ประเทศมาแล้ว ก็โดนแบนตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน
2
รุ่นพี่คิม โด-ฮวาน ที่มีส่วนช่วยเหลือการบุลลี่โดนแบนจากการแข่งขันกีฬา 10 ปี ขณะที่แพทย์อาห์น จู-ยุน มีการไปสืบค้นปรากฏว่าไม่มีชื่อลงทะเบียนในสมาคมไตรกีฬา ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่มีใบประกอบโรคศิลป์อีกต่างหาก เป็นแพทย์ปลอมที่มั่วมาทำงานอยู่นานหลายปี โดยไม่มีใครจับได้
10
กระบวนการแบนเกิดขึ้นแล้วจากฝั่งสมาคมไตรกีฬา ขั้นตอนต่อไป เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินหน้าสืบสวนต่อ เพื่อหาบทสรุปว่าผู้เกี่ยวข้องกับการบุลลี่ทั้ง 4 คน ต้องมีโทษถึงขั้นจำคุกหรือไม่
ความตายของชเว ซุค-ฮยอน ทำให้สังคมเกาหลีต้องกลับมาทบทวนเรื่องความรุนแรงในวงการกีฬาว่ามัน ควรโหดได้ถึงแค่ไหน
1
วัฒนธรรมเรื่องการซ้อมโหดของเกาหลีเป็นที่เลื่องชื่อ ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมามันใช้ได้ผล การซ้อมเกินขีดจำกัดทำให้นักกีฬาหลายคนพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และการที่เกาหลีใต้สามารถปั้นนักกีฬาระดับเหรียญทองเอเชียนเกมส์ หรือโอลิมปิกได้อย่างมากมาย ก็มีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดนี้
1
เมื่อใช้ได้ผล และมีเหรียญรางวัลแบบจับต้องได้ ก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อลงไปซ้ำๆ ว่ามันคือวิธีที่ถูกต้อง สายตาคนนอกก็คิดเช่นกันว่า ถ้าเป็นนักกีฬาก็ต้องทนได้สิ แม้แต่ตัวนักกีฬาเองก็ต้องยอมรับการโดนบุลลี่ทั้งกายและใจไปโดยปริยาย
2
อย่างไรก็ตาม คำถามก็คือการซ้อมสุดโหดมันเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้วงการกีฬาประสบความสำเร็จหรือเปล่า เพราะดูอย่างสหรัฐฯ หรือชาติในยุโรป ก็ไม่ได้ซ้อมกันเกินขีดจำกัด แต่นักกีฬาก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
จากนี้ไป วงการกีฬาเกาหลี ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญแน่นอน และโค้ชก็อาจไม่ใช่พระเจ้าเหมือนเดิมแล้ว
สำหรับ ชเว ซุค-ฮยอน หนึ่งชีวิตที่เธอจบลงไป เธอคงไม่ได้คาดหวังว่ามันจะส่งผลกระทบต่อทั้งวงการขนาดนี้ เธอเพียงแค่ตั้งใจจะแลกชีวิต กับความยุติธรรมที่เธอหวังจะได้มันมาตลอดแค่นั้น ซึ่ง ณ เวลานี้ คนที่บุลลี่เธอก็หมดหนทางในการไปทำร้ายคนอื่นต่อแล้ว
1
อย่างไรก็ตามที่น่าเสียใจก็คือ เรื่องนี้ไม่ควรจบลงที่ความตายของชเว
เพราะถ้าหากมีคน "ฟังเธอ" ตั้งแต่แรก และมองเห็นว่าการบุลลี่มันไม่ใช่เรื่องปกติ ความยุติธรรมก็อาจได้มา โดยที่เธอยังมีชีวิตอยู่
2
สุดท้ายแล้ว ความยุติธรรมก็เกิดขึ้นจริงๆ เพียงแต่น่าเสียดาย ที่เธอไม่มีโอกาสได้เห็นมันด้วยตัวเอง
#KOREA
โฆษณา