Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เจาะเวลาหาอดีต
•
ติดตาม
13 ก.ค. 2020 เวลา 12:00
ความลับของ "ตำราพิชัยสงครามไทยโบราณ"
ตำราพิชัยสงครามเป็นวิทยาการที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกสงครามโดยเฉพาะ เรามักจะได้ยินคุ้นชินหูกับคำที่ว่า "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" ใน "ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ" ซึ่งเป็นตำรายุทธศาสตร์ทางทหารที่มีอิทธิพลมากของประเทศจีน และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของตำราพิชัยสงครามและถูกนำไปดัดแปลงปรับใช้กันทั่วโลก
ภาพเขียนไพร่พล
สำหรับตำราพิชัยสงครามในประเทศไทย ถูกค้นพบเป็นหลักฐานครั้งแรกบนพงศาวดารในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้โปรดเกล้าฯให้ชำระปรับเปลี่ยนและรวบรวมใหม่ปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมและการเมืองในยุคนั้น โดยจัดทำขึ้นเป็นตำราพิชัยสงครามฉบับหอหลวงครั้งแรก
1
ต่อมาตำราพิชัยสงครามถูกชำระเป็นครั้งที่ 2 ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้ชีวิตในแดนข้าศึก มีโอกาสร่ำเรียนศาสตร์หลากหลายของทางฝั่งพม่าและมอญมาก จึงได้นำความรู้ใหม่ๆ ในตำราพิชัยสงครามทางฝั่งพม่าและมอญ มาประยุกต์กับฉบับหอหลวงฝั่งอยุธยา เพื่อให้การศึกสงครามพัฒนาขึ้นและก้าวทันข้าศึก
ครั้นเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ตำราพิชัยสงครามต้นฉบับได้สูญหายไปมาก ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้นำฉบับของผู้ที่ได้คัดลอกไว้มาเก็บรวบรวมส่วนหนึ่ง และแต่งขึ้นอีกส่วนหนึ่งเพื่อรักษาไว้มิให้หายสาปสูญ
ต่อมาการชำระตำราพิชัยสงครามครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล การชำระครั้งนี้ถือว่าเป็นการชำระครั้งใหญ่ที่สุดเพื่อให้ตำราพิชัยสงครามมีความสมบูรณ์แบบ
รูปแบบการจัดทัพตามตำราพิชัยสงครามไทยโบราณ
อย่างไรก็ตามตำราพิชัยสงครามแบบโบราณของไทย ได้ถูกลดคุณค่าลงไป ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ลงมา เนื่องจากการเข้ามาของชาติตะวันตกนำกระบวนยุทธวิธี อุปกรณ์ แบบสมัยใหม่เข้ามา ประเทศไทยจึงเปลี่ยนไปใช้ตำรายุทธศาสตร์แบบตะวันตกซึ่งเชื่อว่าทันสมัยกว่าแทน ตำราพิชัยสงครามโบราณของไทยจึงค่อยๆถูกลืมไป
วิทยาการจากตำราพิชัยสงครามโบราณของไทยมีท่าทีว่าจะจางลงไปทุกขณะ อาจเพราะปัจจัยของบริบททางสังคมในยุคเก่า มักจำกัดวิทยาการเหล่านี้ไว้กับชนชั้นสูง ดั่งเช่น พระมหากษัตริย์ ขุนนาง และแม่ทัพ
เมื่อตำราพิชัยสงครามโบราณถูกจำกัดการเข้าถึง โอกาสศึกษาตำราพิชัยสงครามจึงมีน้อยคนนัก การส่งต่อความรู้จึงแคบลง นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตำราพิชัยสงครามโบราณของไทยนั้นไม่ได้รับความนิยมและกล่าวถึงเท่าฝั่งจีน
แต่อาจจะมีนัยยะบางอย่างแฝงเร้นอยู่ในสังคมชั้นสูง เพื่อรักษาความลับของตำราพิชัยสงครามโบราณ ไม่ให้ข้อมูลออกไปสู่ชาติมหาอำนาจที่ต่างกำลังเล็งมาที่สยาม ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ยุคแห่งการล่าอาณานิคม
เรื่องของตำราพิชัยสงครามของไทยจึงถูกเก็บเป็นความลับ เพื่อการนำพาประเทศเล็กๆ อย่างสยามให้รอดพ้นจากภัยล่าอาณานิคมจากมหาอำนาจ
จึงกล่าวได้ว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน การบริหารประเทศให้พ้นภัยโดยปราศจากตำราสำคัญ
ในโอกาสนี้ผมขออนุญาตนำตำราพิชัยสงครามโบราณที่สำคัญ เป็นตัวอย่างเล็กๆ ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบเบื้องต้น หากใครเข้าใจแก่นแท้ อาจสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตได้เช่นเดียวกัน
ขอนำเรื่อง รูปศึก 8 ประการ ที่ปรากฎอยู่ในตำราพิชัยสงคราม มาพูดถึงและวิเคราะห์ให้เข้าใจสั้นๆ ง่าย ๆ ลงในบทความนี้
รูปศึก 8 ประการ มีดังนี้
1.หัวศึก 2.มือศึก 3.ตีนศึก 4.ตาศึก 5.หูศึก 6.ปากศึก 7.เขี้ยวศึก 8.กำลังศึก
หัวศึก
หัวศึก คือ ผู้นำหรือแม่ทัพใหญ่ หากเปรียบในสงคราม หัวศึกคือส่วนที่สำคัญที่สุดของการบริหารการจัดการเปรียบเหมือนศูนย์กลาง
พระยารามณรงค์ มือศึก หรือแม่ทัพรอง
มือศึก คือ เหล่าแม่ทัพรองที่รับคำสั่ง นำคำสั่งไปลงมือปฎิบัติ ให้ได้นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ตีนศึก
ตีนศึก คือ ยวดยานพาหนะ ช้าง มา วัว ควาย ตลอดจนความอุดมมั่งคั่งของอาวุธและเสบียง
ตาศึก
ตาศึก คือ โหราจารย์ โหราธิบดี หรือ ผู้เชี่ยวชาญวิชาทางโหราศาสตร์ตลอดจนเชี่ยวชาญทางด้านฤกษ์ยาม วิชาเมฆฉัตร(การดูเมฆ) และศาสตร์ตำราอื่นๆ เปรียบเหมือนฝ่ายวิเคราะห์ มันสมองของกองทัพ
หูศึก
หูศึก คือ หน่วยข่าวกรอง หรือ สายลับแทรกซึมหาข่าว เพื่อให้ทันต่อการตระเตรียมพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์
ราชทูต หรือ ปากศึก
ปากศึก คือ ราชทูต ใช้วาทะให้เกิดประโยชน์มากที่สุด วาทะเป็นดั่งอาวุธ และน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจ หากฝ่ายไหนใช้วาทะวุธได้เชี่ยวชาญ อาจจะชนะได้โดยไม่ต้องก่อสงคราม ตรงกันข้ามหากฝ่ายไหนมีวาทะวุธไม่ดีอาจเป็นฝ่ายนำพาสงครามหรือสถานการณ์ให้แย่ลงกว่าเดิม
3
เขี้ยวศึก
เขี้ยวศึก คือ ขุนศึกที่ฉกาจ ขุนศึกที่ฉกาจนั้นเปรียบดั่งเขี้ยวศึก ทัพใดมีเขี้ยวศึกมาก ก็ยิ่งน่ากลัว สร้างความน่าเกรงขาม และเพิ่มโอกาสความสำเร็จผสานเข้าไปอีก
กำลังศึก
กำลังศึก คือ จำนวนกำลังพลรบทั้งหมดที่มี ทั้งทางเรือและทางราบ หากใครมีกำลังพลมากก็เสมือนชนะไปหนึ่งก้าว
ในการศึกกองทัพที่ดีควรจะมีครบทั้ง 8 ประการดังที่กล่าวมาข้างต้น การทำศึกคือการนำพาคนไปตายหากพลาดพลั้งก็ถูกยึดเมืองยึดบ้านช่อง ตำราพิชัยสงครามจึงมีขึ้นเพื่อการนี้
หากเข้าใจในรูปศึกทั้ง 8 ประการนี้ และหากสามารถนำไปปรับใช้กับกลยุทธ์การดำเนินชีวิตได้ ท่านผู้อ่านลองนึกเล่นๆดูครับ ว่าในชีวิตของเรา รูปศึกทั้ง 8 ประการสามารถต่อยอดไปใช้กับอะไรได้บ้าง
ผมคิดว่าตำราพิชัยสงครามโบราณของไทยเราก็ไม่ด้อยไปกว่าของชาติอื่น อย่างไรก็ตามนี้เป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งที่กระผมได้นำมาเขียนยังมีกลศึกและอื่นๆมากมายในตำราพิชัยสงครามโบราณของไทยได้บอกไว้
และกลศึกต่างๆ ที่ปรากฎในตำราพิชัยสงครามไทยโบราณนี้ หลายกลศึกได้ถูกใช้จริงโดยประเทศมหาอำนาจในปัจจุบัน จากเหตุการณ์ต่างๆรอบโลก
หากมีโอกาสจะนำเรื่องการรบทางพงศาวดารและเหตุการณ์ปัจจุบัน มาเล่าและเปรียบเทียบให้เห็นกับตำราพิชัยสงครามของไทย ว่าแต่ละศึกใช้กลยุทธ์แบบใด และการศึกษาพงศาวดารไทยอาจจะสนุกไม่น้อยไปกว่าการอ่านนิยายสามก๊กของฝั่งจีน
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง:
- การทหารของไทยสมัยอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133-2147) หอมรดกไทย กระทรวงกลาโหม
- กำสรวลสมุทรเป็นพระราชนิพนธ์ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา หรือกำสรวลศรีปราชญ์ โดย ล้อม เพ็งแก้ว
31 บันทึก
94
35
31
31
94
35
31
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย