14 ก.ค. 2020 เวลา 07:30 • ความคิดเห็น
แชร์ประสบการณ์การจัดกิจกรรมในเรือนจำ
หายจากเพจไปนานจนทุกคนที่ตามเพจคงคิดว่าเลิกเขียนแล้ว
แต่สาเหตุที่หายไปเพราะหมดมุกที่จะเขียนครับ 555
วันนี้เพจกลับมาประจำการอีกครั้งเพราะผมคิดออกแล้วว่าจะเขียนแนวไหน
ผมทำงานด้านกิจกรรมมานานกว่า 15 ปี
ได้พบเจอผู้คนหลากหลายอาชีพ คิดว่าประสบการณ์ตรงนี้น่าสนใจจึงอยากนำมาแบ่งปัน
ความแตกต่างของคนเข้าร่วมกิจกรรมคือความท้าทายของนักกิจกรรม
จากนี้เพจจะนำประสบการณ์ที่ได้นำกิจกรรมกับองค์กรต่างๆมานำเสนอเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้ที่สนใจ
โดยตอนแรกขอเริ่มต้นที่การจัดกิจกรรมให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำก่อนเลย ผมว่าหลายคนคงไม่มีประสบการณ์แบบนี้
ผมจัดกิจกรรมให้เรือนจำต่างๆมาไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง
มีตั้งแต่ทัณฑสถานวัยหนุ่ม ทัณฑสถานหญิง
ซึ่งการจัดกิจกรรมในแต่ละครั้งก็ได้เจอกับผู้ต้องขังที่หลากหลาย ตั้งแต่แดนหนึ่งที่มีคดีอุจฉกรรจ์ต้องสวมโซ่ที่ข้อเท้า ไปจนถึงผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษ
การเข้าไปจัดกิจกรรมนั้น ผมได้รับโจทย์ที่หลากหลายมีตั้งแต่
1) จัดกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ตรงนี้ทางคลีนิคนิรนามในนามของสภากาชาดไทยได้เข้าไปให้ความรู้กับผู้ต้องขังในเรื่องนี้ โดยมีผมไปเป็นวิทยากรร่วม
เหตุที่ต้องให้ความรู้เรื่องนี้เพราะในเรือนจำมีการระบายความต้องการทางเพศที่หลากหลาย บางคนมีการร่วมเพศในลักษณะของชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ หรือแม้กระทั่งการสักในเรือนจำก็อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อผ่านทางเลือดหรือเข็มสักที่ใช้ร่วมกัน
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าการสักในเรือนจำเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
บางคนเข้าไปใหม่ๆไม่มีรอยสัก หลังผ่านการใช้ชีวิตในเรือนจำสักพัก รอยสักมาเต็มตัวเลย
.
ต้องบอกก่อนว่าในเรือนจำมีการฝึกอาชีพครับและจะมีคนมีฝีมือด้านการสักอยู่ ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้พวกเขาก็หาเอาง่ายๆจากอุปกรณ์ใกล้ตัวในห้องเรียนฝึกอาชีพ เช่นหัวปากกา หรือวัสดุอะไรต่างๆที่พอจะหาได้ในเรือนจำ
จริงๆแล้วการสักเป็นเรื่องต้องห้าม แต่เนื่องจากปริมาณของผู้ต้องขังที่มีมากและแออัด จนทำให้การดูแลเข้มงวดเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก
นอกจากจะเข้มงวดเรื่องนี้แล้วสิ่งสำคัญที่เรือนจำต้องทำก็คือการให้ความรู้ ในเมื่อห้ามไม่ได้ก็ควรทำให้ถูกสุขลักษณะเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ
ทางคลีนิคนิรนามจึงเข้ามามีบทบาทตรงนี้
ซึ่งการจัดกิจกรรมแบบนี้จะเน้นไปที่การสร้างความผ่อนคลายเพื่อทำให้ผู้เข้าอบรมรู้สึกคุ้นเคยกับทีมวิทยากรเป็นหลัก เพราะในการอบรมต้องมีการถามตอบหรือให้ข้อมูลบางอย่าง โดยเฉพาะช่วงตอบคำถามตอนท้าย พวกเขาต้องไว้ใจวิทยากรและกล้าถามปัญหาที่มี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องการป้องกันในการมีเพศสัมพันธ์หรือการใช้อุปกรณ์สักต้องเกิดความไว้ใจเสียก่อน พวกเขาจึงจะกล้าถาม
2) จัดกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ต้องขังให้พร้อมต่อการปรับตัวเมื่อพ้นโทษ
กิจกรรมลักษณะนี้จะจัดให้กับผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษ คือ เหลือเวลารับโทษในเรือนจำอีกไม่เกิน 1- 6 เดือน
กิจกรรมลักษณะนี้จะเน้นไปที่การสร้างคุณค่าให้กับผู้เข้าอบรม ให้พวกเขาเห็นคุณค่าในตนเอง อภัยให้กับความผิดพลาดในอดีต และเพิ่มกำลังใจเพื่อออกไปใช้ชีวิตอีกครั้งอย่างมั่นใจเป็นการป้องกันไม่ให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตที่ผิดพลาดอีก
ถ้าจะถามว่าได้ผลไหม ?
คำตอบคือออกได้ทุกหน้าครับ
บางคนอยู่ในเรือนจำมานาน ฝึกอาชีพจนเก่งและตกตะกอนทางความคิดแล้ว
พวกเขาก็หวังจะออกไปสร้างเนื้อสร้างตัว
แต่บางคนก็ยังหวังกลับไปรวยทางลัดและคิดแต่วิธีหาเงินง่ายๆอีกก็มี ตรงนี้เป็นกระบวนการที่ทางเรือนจำจะต้องปลูกฝังและแก้ไขความคิดต่อไป
ถามว่าทำไมผมจึงทราบเรื่องเหล่านี้ เพราะผมชอบคุยกับพี่ๆน้องๆที่นั่น
ช่วงกลางวันที่พวกเขาพัก หรือช่วงเบรคผมจะเข้าไปคุย หลายเรื่องเพราะเป็นสิ่งที่ผมไม่รู้ ส่วนหนึ่งที่เข้าไปคุยก็เพื่อสร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน เวลาจัดกิจกรรมจะได้ออกมาเป็นธรรมชาติ
3) จัดกิจกรรมเพื่อคลายเครียดให้กับผู้ต้องขัง อันนี้ไม่ได้ทำบ่อยแต่ก็เป็นส่วนเสริมที่ทำให้ต้องมีการจัดกิจกรรม แต่โดยวัตถุประสงค์ของการเขียนโครงการก็อาจมีการเพิ่มเรื่องของทักษะชีวิตเข้าไปด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่าผมกลัวบ้างไหมที่ต้องเข้าไปจัดกิจกรรมในเรือนจำ ?
คำตอบคือ ตอนเข้าไปทำครั้งแรกก็มีกลัวบ้าง แต่พอไปทำจริงๆไม่เหมือนอย่างที่คิดไว้เลยครับ พี่ๆน้องๆในนั้นเป็นกันเองมาก ชีวิตในนั้นพวกเขาอยู่โดยไม่มีภาระหรือเรื่องภายนอกรุมเร้า เราก็เข้าไปทำกิจกรรมด้วยความสุภาพ ให้เกียรติ เมื่อเราให้เกียรติเขา เขาก็ให้เกียรติเรา
ตอนทำกิจกรรม ผมจะเรียกทุกคนในนั้นว่าพี่ เป็นการให้เกียรติกับผู้อบรมและลดความห่างเหินที่ได้ผลดีทีเดียวครับ
ขั้นตอนและรูปแบบของกิจกรรม
การเข้าไปจัดกิจกรรมในเรือนจำ ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้
วิทยากรทุกคนต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบของเรือนจำอย่างเคร่งครัด
ทางเรือนจำจะให้ฝากของไว้ที่ล็อคเกอร์ด้านนอก ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าสตางค์ มือถือ พวงกุญแจ หรือเงิน
ทุกอย่างต้องเก็บไว้ที่ล็อคเกอร์เท่านั้น ห้ามนำเข้าไปเด็ดขาด มีการตรวจค้นตัวก่อนเข้าพื้นที่
อุปกรณ์ที่นำเข้าไปก็จะถูกตรวจค้นทั้งหมด
ของจำพวกกรรไกร คัตเตอร์หรือของมีคมถือเป็นสิ่งต้องห้าม
ถ้าจะจัดกิจกรรมที่มีการตัด ก็เตรียมและทำไปให้เรียบร้อยตั้งแต่ด้านนอก เราจะเน้นการใช้อุปกรณ์ที่ทำสำเร็จแล้วเป็นหลัก หรือถ้าต้องมีการตัดจริงๆเพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในกิจกรรมก็ลดทอนความเนี้ยบลงด้วยการให้ฉีกหรือใช้มือแบ่งออกได้เลย
ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนในพื้นที่ของเรือนจำ จะต้องมีเจ้าหน้าที่ของเรือนจำไปกับเราเสมอ
ข้อนี้เขาทำเพื่อป้องกันเหตุให้เราครับ จากที่เคยทำมาก็ไม่มีอะไรครับแต่เพื่อความไม่ประมาทก็ต้องรักษากฏข้อนี้อย่างเคร่งครัด
เรื่องเล่าที่ผมที่ได้พบในระหว่างจัดกิจกรรม
มีการใช้คำพูดที่อาจไม่สุภาพบ้าง ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้
ผู้เขียนไม่อาจดัดแปลงประโยคได้เพราะจะเสียอรรถรสไป
1) เรื่องแรกไม่ขำขันแต่เป็นเรื่องที่ทำให้ผมเขิน เวลาไปจัดกิจกรรมให้ผู้ต้องขังหญิง สาวน้อยสาวใหญ่ที่นั่นจะตื่นเต้น ผมเองก็ตื่นเต้นเพราะเป็นผู้ชายท่ามกลางสาวๆ พอพูดอะไรไปบางทีก็โดนแซว โดนแอ๊ว แล้วพวกสาวๆก็จะกรี้ดดีใจที่ได้แซวหนุ่ม ตรงนี้เป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้เจอบ่อยๆในชีวิตประจำวัน 555
เธอแอ๊วเราได้แต่เราห้ามแอ๊วเธอกลับนะครับ เพราะเราไปในนามวิทยากรของเรือนจำต้องไม่ให้เกิดประเด็นชู้สาวขึ้นเด็ดขาด ตรงนี้สำคัญมากครับ
2) มีครั้งหนึ่งผมไปจัดกิจกรรมให้ผู้ต้องขังชายและหญิง ตามปกติจะไม่ค่อยมีการจัดอบรมรวมแบบนี้ มักจะแยกชายและหญิงไปเลย ซึ่งตอนเจอกันประโยคทักทายที่นักโทษชายถามสาวๆในเรือนจำก็คือ " เธอๆ เพื่อนให้มาถามว่ามีสามีรึยัง ? " ขอใช้คำว่าสามีแทนนะครับเพื่อความสุภาพ ของจริงเขาใช้อีกคำหนึ่ง คือแซวกันขำๆนะครับอย่าดราม่า
3) มีครั้งหนึ่งผมใส่กางเกงขาเดฟแบบเข้ารูปเข้าไปจัดกิจกรรม มีผู้อบรมคนหนึ่งเดินเข้ามาถามผมในช่วงพักว่า " พี่ครับ ตอนนี้ข้างนอกเขาฮิตใส่แบบนี้กันหรือครับ ? " เป็นคำถามที่แปลกมาก ผมจึงตอบว่า " ใช่ " และก็ถามพี่เขากลับว่า ตอนพี่เข้ามาเขาฮิตแบบไหนกันครับ สรุปคือ ตอนพี่เขาเข้ามาเรือนจำยังเป็นสมัยที่ใส่กางเกงขาใหญ่ หลวมๆอยู่ ผมถามว่าพี่ติดมากี่ปีแล้ว พี่เขาตอบว่า " 30 ปีครับ " ตอนนั้นแกใกล้พ้นโทษแล้วผมก็แสดงความยินดีกับพี่แกด้วย
4) ในบรรดาผู้ต้องขัง จะมีคนที่ผู้คุมไว้ใจและได้แต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วย ซึ่งโดยมากจะเป็นผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดี ขยันและต้องเป็นคนที่ผู้ต้องขังคนอื่นๆให้ความเคารพ
ช่วงกลางวันพี่เขาเข้ามาช่วยปรับเครื่องเสียงให้ ระหว่างนั้นแกก็ควักคัตเตอร์ออกมาปอกสายไฟ ผมงงมาก เลยถามพี่เขาไปว่า " พกคัตเตอร์ได้ด้วยหรือครับ ? "
พี่แกยิ้ม ก่อนจะตอบผมว่า " ทำไม กลัวผมปาดคอหรือครับ ? " แล้วแกก็บอกเพิ่มเติมว่า " ผมเป็นผู้ช่วยครับ เป็นช่างไฟ ถ้าต้องใช้อุปกรณ์ก็ขอได้ "
ตรงนี้ไม่ใช่ทุกคนนะครับ เดี่ยวจะมีดราม่า ในตอนนั้นพี่คนนี้ใกล้จะพ้นโทษแล้วด้วย เขาคงไม่ทำอะไรแผลงๆที่ทำให้ต้องอยู่ต่อหรอก แกดูแลผมดีมากครับ ช่วยดูแล และตามเพื่อนๆมาร่วมกิจกรรมจนครบเลย ( มีการเช็คยอดก่อนเริ่มกิจกรรม)
5) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างที่วิทยากรของคลีนิคนิรนามให้ความรู้ วิทยากรได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อHIVสะสมในประเทศไทยประมาณ 1,000,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่ก่อนมากถึง 500,000 คน นั่นแสดงว่า (วิทยากรเว้นจังหวะไว้แค่นี้ เพื่อชงให้ผู้เข้าอบรมตอบว่า คนไทยติดเชื้อมากขึ้นเพราะไม่ป้องกัน)
.
แต่ผู้ต้องขังตอบกลับมาว่า "แสดงว่าคนไทยบ้ากามกันมากขึ้น" ก็คงจริง 555
6) เวลาผมไปจัดกิจกรรมในเรือนจำร่วมกับคลีนิคนิรนาม ผมต้องไปรอทีมงานที่คลีนิคตั้งแต่เช้า ซึ่งจุดที่ผมนั่งรอก็คือจุดรอตรวจของคลีนิค
.
ครั้งแรกก็ตื่นเต้นนะครับแต่ไปบ่อยขึ้นก็ชินแล้ว เป็นเรื่องปกติเสียด้วยซ้ำ ถ้าคุณเป็นกลุ่มเสี่ยงแทนที่จะเครียดและมโนไปเอง มาตรวจที่คลีนิคนิรนามดีกว่าครับ กลุ่มเสี่ยงในที่นี้หมายถึงมีพฤติกรรมเสี่ยงนะครับ
>>
เข้าเรื่องดีกว่า เวลาเดินทางกับคลีนิคนิรนามผมต้องใช้รถสาธารณะเพื่อเดินทางไปที่นั่น เพราะตรงนั้นหาที่จอดรถยาก ไม่มีการล็อคที่จอดรถให้เพราะเราไม่ได้ทำงานในอาคารแต่ไปอบรมที่เรือนจำ และเมื่อไหร่ที่ผมต้องไปอบรมในเรือนจำทุกคนที่บ้านจะทราบ เพราะผมต้องย้ำว่าจะโทรหาผมไม่ติดนะ เพราะต้องปิดเครื่องและฝากโทรศัพท์ไว้ด้านนอก
>>
และวันนั้นตอนเย็นระหว่างนั่งรถเมล์กลับบ้าน แม่ก็โทรมาผมรับสายและแม่ถามว่า " ออกมาจากเรือนจำกี่โมง ? โทรไปครั้งแรกไม่ติด " ผมก็ลืมตัวเผลอตอบออกไปด้วยน้ำเสียงปกติ แต่ก็ดังพอที่คนข้างๆจะได้ยิน
ผมตอบไปว่า " ออกมาจากเรือนจำตอนสี่โมงเย็น " ทันทีที่ตอบเสร็จ ผมก็สังเกตุได้ว่าคนบนรถเมล์ที่นั่งใกล้กันมองผมด้วยสายตาแปลกๆ
แต่ผมก็ไม่ได้สนใจอะไร แค่คิดในใจว่าเราอาจลืมตัวพูดเสียงดังไปหน่อย
ยังมีประสบการณ์อื่นๆอีกนะครับที่ไม่ได้เล่า บางเรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้ต้องมาอยู่ในเรือนจำ
ตรงนี้ผมไม่ได้คาดคั้นนะครับ ผมชอบชวนพี่ๆคุยตอนพัก บางทีก็เริ่มจากคำถามว่าอยู่มานานรึยัง ? อีกนานไหมกว่าจะพ้นโทษ จนไปถึงโดนคดีอะไร ? บางคนก็โดนคดีฆ่าคนตาย ผมก็รับฟังพวกเขา บางคนเขาก็อยากระบายให้เราฟังครับ
ชีวิตบางคนน่าสงสารนะครับ เขาถูกกดขี่ ถูกรังแก มีคนมาทำพ่อแม่เขาก่อนจนเขาคุมสติตัวเองไม่อยู่ เราจะไม่ตัดสินพวกเขาจากความคิดของเราครับ หน้าที่เรามีเพียงแค่รับฟัง เพื่อให้เขาได้ระบาย เพียงแค่นั้นครับ
ชีวิตในเรือนจำ พวกเขาดูผ่อนคลาย เพราะไม่มีภาระอะไรให้ต้องรับผิดชอบ
ไม่มีข่าวสารจากโลกภายนอกมาทำให้อารมณ์เสียแต่ก็ไม่ได้สุขสบายเพราะยังไงการอยู่ในเรือนจำก็ขาดอิสระ การใช้ชีวิตในนั้นมีสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน มีการฝึกอาชีพ มีการฟื้นฟูและเยียวยาเพื่อไม่ให้กลับมาทำผิดซ้ำอีก แต่บางคนพ้นโทษแล้วก็กลับเข้ามาอีก (จากคำบอกเล่าของผู้คุม) ก็แล้วแต่คนครับ คนที่คิดได้แล้วกลับตัวกลับใจก็มี
แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีในการทำกิจกรรมให้กับผู้ต้องขังคือ เราต้องตระหนักถึงคุณค่าในความเป็นมนุษย์ พวกเขาอาจจะเคยทำผิด แต่นั่นไม่ใช่เครื่องหมายที่จะติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต
ระหว่างทางในเรือนจำคือบทลงโทษที่พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง เมื่อพ้นโทษไปแล้วหากพวกเขาเลือกที่จะกลับตัวกลับใจและเดินทางต่อบนเส้นทางของชีวิตอย่างสุจริต ผมก็หวังว่าผู้คนในสังคมจะมีน้ำใจมากพอในการหยิบยื่นโอกาสให้กับพวกเขาและไม่ด่วนตัดสินคนใครเพียงเพราะเขาเคยทำผิดมาก่อน
เหรียญมีสองด้านฉันใด ชีวิตคนเราก็เป็นเช่นนั้น เราต้องรู้จักหาประโยชน์จากเรื่องร้ายๆ จดจำไว้เป็นบทเรียน รู้จักชื่มชมเรื่องดีๆ ดำเนินชีวิตด้วยสติและยึดมั่นในความสุจริตให้สมกับที่ได้เกิดมาบนโลกใบนี้
โฆษณา