14 ก.ค. 2020 เวลา 07:30 • สุขภาพ
"โรคซึมเศร้า" ... จะไม่ทำร้ายเรา...
"โรคซึมเศร้า" เป็นโรคทางจิตเวชที่มีผู้ป่วยพบมากพอสมควรในปัจจุบัน บางคนเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว คิดว่าตัวเองคิดมากไปเอง ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
"โรคซึมเศร้า" คืออะไร??
โรคนี้เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวังหรือการสูญเสียมากกว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บจากร่างกาย ถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นานโดยไม่มีทีท่าจะดีขึ้น หรืออาจรุนแรงมีอาการอื่นๆตามมา เช่น นอนหลับๆตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป อาการเหล่านี้ก็อาจจะเข้าข่ายของโรคซึมเศร้าแล้ว
การรักษานั้นขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วย มีทั้งการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง การให้คำปรึกษาทางจิตแพทย์ ระยะเวลาการรักษากำหนดไม่ได้แน่นอนเนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีความรุนแรงของอาการต่างกันไป การปรับตัวและการตอบสนองต่อการรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ
"อารมณ์และจิตใจ" เป็นเรื่องสำคัญในการรักษาโรคซึมเศร้ามากที่สุด ผู้ที่ป่วยและคนรอบข้าง สามารถปฏิบัติดังนี้
** การออกกำลังกาย ** นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจก็ยังจะดีขึ้นด้วย การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับการบำบัดจิตใจ คือ การวิ่ง การเดิน การว่ายน้ำ ส่งผลให้ร่างกายมีระบบขับถ่ายดี นอนหลับสนิท ทานอาหารได้ดีขึ้น และการออกกำลังกายยังทำให้เราได้พบปะผู้คนทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
**ไม่ควรคาดหวังสิ่งต่างๆที่ทำมากจนเกินไป**  เช่นเรื่องงาน เรื่องครอบครัว เรื่องรายได้ เพราะหากการคาดหวังในสิ่งที่จะเกิดขึ้นและไม่ได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ จะเพิ่มความกดดันความเครียดวิตกกังวลมากขึ้นไปอีก เพราะช่วงที่รับการรักษาควรงดการกระตุ้นทางความคิด
**หากิจกรรมทำเพื่อทำให้เกิดการผ่อนคลาย**  โดยส่วนใหญ่ควรได้ไปท่องเที่ยวกับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ทะเล น้ำตก สวนสาธารณะต่างๆ หรือการดูหนังฟังเพลง อ่านหนังสือ ทำอาหาร ทำกิจกรรมที่มีคนอยู่รอบข้างชวนคุยและสร้างความสนุกสนานแก่ผู้ป่วย จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
**อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญกับชีวิต** ในขณะที่เราเครียดหรือซึมเศร้า อย่าตัดสินใจ เช่น การลาออกจากงาน การหย่าร้าง การหนีออกจากบ้าน การฆ่าตัวตาย หากผู้ป่วยนั้นอยู่ลำพัง แล้วมีอาการเครียดวิตกกังวล ไม่ควรคิดหรือไตร่ตรองอะไรเพียงคนเดียว พยายามหาคนที่รับฟังความรู้สึกของเรา เช่น พ่อ แม่ เพื่อนสนิท พูดคุย หากการตัดสินใจที่ผิดอาจส่งผลทางอารมณ์มากไปกว่าเดิมนั้นเอง
โรคซึมเศร้า รักษาหายได้ ก็อาจจะกลับมาเป็นได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วย และบุคคลรอบข้าง พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนร่วมงานของผู้ป่วย ต้องช่วยกันดูแลและเข้าใจในสิ่งที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญ  "รักษาให้เป็น ชีวิตจะยืนยาว" อย่ามองข้ามโรคอันตรายนี้เด็ดขาด
โฆษณา