15 ก.ค. 2020 เวลา 03:30 • การเกษตร
เจาะดราม่า “ตะไคร้หอม” ทำไมถึงถูกขึ้นทะเบียน “วัตถุอันตราย”
"ตระไคร้หอม" หนึ่งใน พืชสมุนไพร 13 ชนิด ถูกขึ้นทะเบียน "วัตถุอันตราย" ชนิดที่ 2 และกำลังจะปลดล็อคให้เป็นชนิดที่ 1 เนื่องจากถูกใช้ประโยชน์ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช
"ตะไคร้" สมุนไพรพื้นบ้านของไทยที่มีสรรพคุณหลากหลาย ตั้งแต่การใช้เป็นส่วนประกอบของเมนูอาหารประจำชาติอย่าง ‘ต้มยำ’ ไปจนถึงการนำมาผลิต ‘น้ำมันหอมระเหย’ จากตะไคร้หอม สำหรับการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ให้ประโยชน์แก่วงการเกษตรกรรมไทยมากมาย
ทั้งนี้ข้อถกเถียงเรื่อง ตะไคร้ ถูกพูดถึงในวงการสมุนไพรอยู่ตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในปี 2552 กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้ตะไคร้หอมและพืชสมุนไพรอื่นๆ ได้แก่ สะเดา ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก รวม 13 ชนิด ให้เป็น "วัตถุอันตรายชนิดที่ 2"
และล่าสุดเมื่อ 13 ก.ค. 2563 มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ผู้เป็นประธานในการประชุมการกำหนดพืชสมุนไพร 13 ชนิด เป็น "วัตถุอันตรายชนิดที่ 1" ออกมาเปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำข้อมูลเพื่อยกร่างเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อปลดล็อคบัญชีพืชสมุนไพรจากการเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2
หรือพูดง่ายๆ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมจะกำหนดให้พืชสมุนไพร 13 ชนิดข้างต้น เปลี่ยนจาก "วัตถุอันตรายชนิดที่ 2" มาเป็น "วัตถุอันตรายชนิดที่ 1"
จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำให้เกษตรกรบางส่วนพึงพอใจต่อการพิจารณาที่เกิดขึ้น
แต่สำหรับคนทั่วไป อาจยังสงสัยอยู่ว่า "ตะไคร้หอม" และสมุนไพรอื่นๆ อีก 12 ชนิดดังกล่าว ทำไมจึงถือว่าเป็นวัตถุอันตราย?
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนมาเจาะลึกข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายเหล่านี้กัน
ความหมายของ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และ 2 คืออะไร
พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ระบุว่า วัตถุอันตราย มีลักษณะดังต่อไปนี้
วัตถุระเบิดได้ วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์และวัตถุเปอร์ออกไซด์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง และวัตถุอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใด ที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ที่มีการผลิตขึ้นมา หมายความว่า ทำ เพาะ ปรุง ผสม แปรสภาพ ปรุงแต่ง แบ่งบรรจุ หรือ รวมบรรจุ
โดยมีการจำแนกการควบคุมไล่ระดับจากความอันตรายน้อยไปจนถึงอันตรายมาก ดังนี้
วัตถุอันตรายชนิดที่ 1
ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
วัตถุอันตรายชนิดที่ 2
ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดด้วย
วัตถุอันตรายชนิดที่ 3
ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องรับใบอนุญาต
วัตถุอันตรายชนิดที่ 4
ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง
ทั้งนี้พืชสมุนไพร 13 ชนิด คือ สะเดา ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก ถูกประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ในปัจจุบัน และเตรียมจะปลดล็อกไปสู่ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1
เพราะอะไร "ตะไคร้หอม" ถึงจัดเป็น "วัตถุอันตราย" ?
มาถึงคำถามคาใจใครหลายคนที่ว่า ทำไมสมุนไพรที่คนไทยคุ้นเคยดีนั้นจึงถูกจัดเป็นวัตถุอันตราย?
โดยเฉพาะ 13 สมุนไพร ได้แก่ สะเดา ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก
มีคำตอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า พืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด ถูกนิยามไว้ว่าเป็นพืชที่เกษตรกรได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารควบคุมแมลงเพื่อทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
จึงสรุปง่ายๆ ได้ว่าพืชทั้ง 13 ชนิดนั้นถูกใช้ประโยชน์ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช และสารสกัดธรรมชาติจากพืชเหล่านั้นมีความเสี่ยงต่อความเป็นพิษ จึงต้องถูกควบคุมตามกฎหมาย โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ครอบครองที่จะมีไว้ใช้ จะต้องทำการขึ้นทะเบียน และแจ้งการดำเนินงานกับกรมวิชาการเกษตร
..การขึ้นทะเบียนพืช 13 ชนิดเป็น "วัตถุอันตราย" ส่งผลอย่างไร
ติดตามก้าวต่อไปนับจากนี้ ของสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดต่อได้ที่
โฆษณา