Post 33 : ภาษาเยอรมัน ยาก - ง่าย ยังไงนะ
ด้วยวันก่อน ที่แม่ป๋อมโพสต์เรื่องภาษาไทยในโรงเรียนเยอรมันไป และมีเพื่อนท่านหนึ่งถามถึงความยาก ง่าย ของภาษาเยอรมัน หรือคล้ายคลึงกับภาษาไหน ยังไง บางหรือเปล่า
แม่ป๋อมขอติดคำตอบเพื่อนท่านนั้นไว้ เพราะรู้ว่าถ้าเขียนไปตรงนั้น จะกลายเป็นคอมเมนต์ขนาดยาวมาก 😅
และประเด็นที่เพื่อนถาม ตัวแม่ป๋อมก็ถูกถามบ่อยเหมือนกัน ..
แทนที่จะตอบส่วนตัว เลยตั้งมาเป็นโพสต์ใหม่ จะได้เป็นคำตอบให้ใครมีคำถามในใจคำถามเดียวกัน
หรือเผื่อใครที่รู้จักภาษาเยอรมัน ผ่านมาอ่านมุมมองแม่ป๋อมกับภาษานี้ แล้วต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก็จะได้คุยกันที่นี่ ..
เชิญได้เลย และยินดีมาก ๆ นะคะ 😊
ออกตัวแรง ๆ เลยว่าถึงจะอยูเยอรมนีมาได้พักใหญ่แล้ว แต่ภาษาเยอรมันก็ไม่แข็งแรงแต่อย่างใด เหตุผลคือไม่ขยัน และแก่ ..
ถึงใครจะว่าอายุมากขึ้นไม่มีผลถ้าเราต้องการเรียนอะไรใหม่ ๆ ..
แต่ส่วนตัว บอกได้ว่า มีผลมากค่ะ .. แก่แล้ว อารมณ์เรียนไม่มี สมองมึน ใจไม่สู้ 😣
ถึงจะรู้ไม่ลึก แต่ถ้าให้ยกตัวอย่าง มาเล่า มาเทียบให้ฟัง กับภาษาอื่น ๆ ที่แม่ป๋อมพอจะมีความรู้อยู่บ้าง .. แบบนี้ ทำได้อยู่ค่ะ
คิดว่าถ้าเทียบให้ฟังเป็นข้อ ๆ น่าจะทำให้เข้าใจง่ายกว่าเล่าเป็นแผง ๆ ยาว ๆ ..
และทั้งหมดคือมุมมองของแม่ป๋อมคนเดียว ไม่ได้เอาข้อมูลเปรียนเทียบ มาจากงานวิจัยชิ้นไหนแต่อย่างใดนะคะ
ถ้าพร้อมแล้ว ก็เริ่มกันเลย
🇩🇪 พยัญชนะและสระ .. ทุกตัวเหมือนภาษาอังกฤษ
ใช่เลย .. ซึ่งทำให้มีทั้งความง่ายและความงง
ที่ง่ายคือเราไม่ต้องมาเรียนวิธีการเขียนใหม่ ..
ลองนึกว่าตัวเองต้องไปเรียนอักษรจีน ญี่ปุ่น เกาหลี แบบนี้คือต้นทุนเป็นศูนย์จริง ๆ .. ต้องยากกว่าเยอรมัน แน่นอนว่ามั้ยคะ
ถึงจะเขียนเหมือนกันแต่ชื่อและการออกเสียงไม่เหมือนกัน ..
อันนี้แหละค่ะ ตัวงงเลย .. ยิ่งแม่ป๋อมนี่คือก่อนมาเยอรมัน พอจะมีพิ้นฐานภาษาฝรั่งเศสอยู่บ้าง แล้วทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน สามชาติอักษรหน้าตาเหมือนกัน ชื่อคล้ายกัน แต่ไม่เหมือน ..
ยกตัวอย่างเช่น J
อังกฤษคือ เจ , ฝรั่งเศสคือ จี,
ส่วนเยอรมันคือ ยอท (jot) ..
ใครเริ่มเรียนภาษาเยอรมันชั่วโมงแรก ๆ ต้องตั้งสติมาก ๆ แบบแม่ป๋อมกันทุกคน รับรองเลย
🇩🇪 คำนาม.. ภาษาอังกฤษเหมือนภาษาไทยคือ คำนามไม่มีเพศ
โต๊ะคือโต๊ะ เก้าอี้คือเก้าอี้ จาน ชาม ช้อน ส้อม เรียกของสิ่งนั้น ๆ ไปเลย ไม่ต้องมีคำนำหน้านามระบุเพศ ว่าเป็นชายหรือหญิง
ส่วนภาษาเยอรมันเหมือนกับคำในอีกหลายภาษาเช่น ฝรั่งเศส อิตาลี่ สเปน ที่คำนามจะมีเพศ ไม่ชาย ก็หญิงระบุไว้
แต่เยอรมันนอกจาก
ชาย (นำหน้าด้วย der)
หญิง (นำหน้าด้วย die) แล้ว ยังมีกลุ่มที่ 3 คือ
เพศกลาง (นำหน้าด้วย das)
ยกตัวอย่างเช่น
der Löffel - ช้อน,
die Gabel - ส้อม,
das Messer - มีด
ซึ่งคำนำหน้านามเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับว่า คำนามตัวนั้นรับหน้าที่อะไรในประโยค
ยกตัวอย่างเช่น
der (เพศชาย) สามารถเปลี่ยนเป็น den
ถ้าเป็นกรรมตรงในประโยค
หรือเปลี่ยนเป็น dem
ถ้ามีบุพบทบางตัววางอยู่ข้างหน้า
และเปลี่ยนเป็น die ได้ถ้าเป็นพหูพจน์
ส่วน die (เพศหญิง) ถึงจะยุ่งยากน้อยกว่า
แต่ก็สามารถเปลี่ยนจาก die เป็น der ได้
ในหลายกรณีอีกเหมือนกัน
กฏช่วยจำ ว่าคำไหนเพศอะไรมีอยู่บ้าง
ยกตัวอย่างเช่น
วัน เดือน ฤดู เหล่านี้เป็นชาย
หรือคำที่ลงท้ายด้วย –ion, –schaft, –heit/keit, (และอื่น ๆ) เป็นเพศหญิง
แต่ก็มีข้อยกเว้นมากมาย
และคำที่ไม่เข้ากับกฏอะไรเลยแต่ต้องจำอย่างเดียว .. แบบนี้ก็มีเยอะ
และถ้าจะยึดตรรกะ ก็ใช้ไม่ได้ในหลายกรณีอีกเหมือนกัน
เพราะอย่าง Mädchen เด็กผู้หญิง
กลับเป็น Das Mädchen ... เพศกลาง
ไม่ใช่คำนำนามนามเป็น die แสดงว่าเป็นหญิงซะงั้น
แล้วถ้าเราเลือกที่จะไม่จำหรือจำไม่ได้ .. ปัญหาอื่น ๆ จะตามมา..
เพราะคำวิเศษณ์ (Adverb) หรือ
คำคุณสรรพ(Adjective) จะมีส่วนต่อท้าย ที่ผันตามเพศของคำนาม ..
สรุปว่า ถ้าไม่รู้เพศของคำนาม ไวยกรณ์ทั้งประโยคก็จะผิดยกขบวน
🇩🇪 คำกิริยา
และความชวนงงแบบอื่นๆ เอาไว้มาต่อคราวหลังนะคะ เขียนยาวคนอ่านก็เบื่อ คนพิมพ์ก็เริ่มไม่สนุก 😬
ดูคลิปนี้ ที่ปุญเก็บเชอร์รี่และลองออกเสียงคำว่า
เชอร์รี่ กับโบสถ์ ตามปุญดูค่ะ ..
ใครลองแล้วแจ้งผลมาด้วยว่า ยากหรือง่าย..
ส่วนแม่ป๋อม ออกเสียงสองคำนี้ไม่เคยได้ถูกตามความหมายที่ตั้งใจเลยค่ะ
คุยกับเพื่อนแบบมีศัพท์สองคำนี้ทีไร ต้องทำมือประกอบความหมายที่ต้องการทุกที..
ว่าที่ออกเสียงไป ตั้งใจให้หมายถึง เชอร์รี่หรือโบสถ์กันแน่ 😐
โพสต์นี้จบแค่นี้..
🌸ขอบคุณที่ติดตาม
🌸ขอให้มีความสุขกับวันทำงานกลางสัปดาห์ทุกคนค่ะ
.
.
📚 บันทึกอื่น ๆ ที่แม่ป๋อมเขียนถึงปุญ
.
BD แม่ป๋อม: Poon's Diary by แม่ป๋อม
.
🎞️ ยูทูปของเรา กับคลิปปุญเข้าครัวว ทำแยมเชอร์รี่เมื่อหน้าร้อนปีที่แล้ว
YT: Poon Station
.
.
ถ้าสนใจคลิกที่ลิ้งค์เบา ๆ เข้าไปดูได้เลยค่ะ😊