15 ก.ค. 2020 เวลา 14:24 • ประวัติศาสตร์
ซีรีส์ “นักกายวิภาคศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ในตัวคุณ!!!”
EP I: Galenus
“มันช่างง่ายดายนักที่จะโน้มน้าวหมู่ชนผู้เป็นสาวกของโมเสสและพระคริสต์ เมื่อเทียบกับการโน้มน้าวแพทย์และนักปราชญ์ ผู้ซึ่งลุ่มหลงในศาสตร์เฉพาะทาง” – กล่าวโดยเกเลน (จาก Lardner 1838, หน้า 301)
ถ้าให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาถึงข้อความทางด้านบนอันเป็นคำกล่าวของหมอเกเลน พวกท่านคิดว่า “โดยลึกๆแล้ว นิสัยของหมอเกเลนนั้นเป็นอย่างไร?” ค่อยๆคิดนะครับ ถ้ามีคำตอบแล้ว ขอให้ทุกท่านเก็บคำตอบเอาไว้ในใจก่อนนะครับ ถ้าท่านผู้อ่านได้อ่านต่อไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะได้รู้กันเองครับว่า พวกท่านตอบผิดหรือตอบถูกกัน...
ซีรีส์ “นักกายวิภาคศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ในตัวคุณ!!!” EP 1: Galenus
หลอดเลือดดำของเกเลน (Vena magna cerebri หรือ vena magna Galeni) นั้นเป็นหลอดเลือดดำที่มีตอ (trunk) สั้นๆ ซึ่งประกอบไปด้วยทางเดินลำเลียงโลหิตไปยังส่วนปลายของระบบหลอดเลือดดำที่อยู่ในสมองส่วนลึก (deep vein system) บ้างก็เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Galenic venous system” ถ้าหากให้ทำการแปลความแบบคำต่อคำจะแปลออกมาได้ว่า “ระบบหลอดเลือดดำของเกเลน”
ระบบหลอดเลือดดำของเกเลน (Galenic Venous System)
Great cerebral vein of Galen เกิดจากการรวมตัวของ internal cerebral vein จำนวนสองเส้น (หรือที่รู้จักกันในชื่อ Right และ Left vein of Galen) พร้อมกันนั้นยังมีหลอดเลือดที่สำคัญอีกสองเส้นอย่าง basal vein of Rosenthal และ lateral mesencephalic vein มาผนวกเชื่อมรวมเข้าด้วยกัน จนท้ายที่สุดแล้วก็ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น Great cerebral vein of Galen ให้เราได้เชยชมกันนั้นเองครับ
ระบบหลอดเลือดดำของเกเลน (Galenic venous system) - ต้องการให้เห็น “lateral mesencephalic vein”
โอ้ว!!! อย่าเพิ่งตกอกตกใจไปนะครับ สำหรับท่านผู้อ่านที่อาจรู้สึกตกตะลึงงึงงันกับศัพท์แสงที่ฟังดูยากซับซ้อนแถมไม่ค่อยจะคุ้นหูอีก มาถึงก็หลอดเลือดนี้ประกอบด้วยหลอดเลือดโน้น โอ้ยยย!!! ช่างซับซ้อนยิ่งนัก!!! =..= โอเคครับ ถ้าจะมีใครมึนกับสิ่งที่แอดได้สาธยายไปก็ไม่เป็นไรครับ เพราะฉะนั้นเราจะพักเรื่องที่ฟังดูอนาโตมี่ ๆ กันไว้ตรงนี้ก่อน แล้วมุ่งความสนใจไปที่ชื่อของระบบหลอดเลือดดำเพียงอย่างเดียวก่อนนะครับ อย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ขอให้ทุกๆท่านวางเอาไว้ตรงนี้ก่อน
ที่แอดเริ่มเรื่องด้วยระบบหลอดเลือดดำของเกเลน นั้นก็เพราะว่าประเด็นที่แอดจะเล่าในวันนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับแพทย์ท่านหนึ่งที่มีชื่อเดียวกันกับระบบหลอดเลือดดำดังที่กล่าวไปแล้วในเมื่อกี้ ซึ่งชื่อของแพทย์ท่านนั้นก็คือ “เกเลน” นั้นเองครับ ดังนั้น ใน EP. แรกนี้ แอดจะพาท่านผู้อ่านทุกท่านหวนย้อนเวลากลับไปสู่กาลสมัยที่จักรวรรดิโรมันยังคงอยู่ ช่วงเวลาที่เด็กน้อยเกเลนยังคงเยาว์วัยและต้องเรียนรู้เรื่องราวอีกมากมาย เพื่อไม่ให้เป็นการเยิ่นเย้อ ขอเชิญทุกท่านหวนคืนสู่อดีตกันได้เลย!!! เราจะไปตั้งต้นกันที่เมืองที่มีชื่อว่า “เพอร์กามัม (Pergamum)” กันครับ
เพอร์กามัม (Pergamum)
Claudius Clarissimus Galen หรือที่รู้จักกันในนาม “หมอเกเลน” เกิดเมื่อวันที่ ‪22 กันยายน‬ ราว ค.ศ. 130 ที่เมืองเพอร์กามัม (Pergamum) (ปัจจุบันคือเมือง เบอร์การ์มา ในประเทศตุรกี) เป็นบุตรชายของสถาปนิกผู้ทรงภูมิและประสบความสำเร็จสูงอีกทั้งยังเป็นผู้ถือครองที่ดิน บิดาของเขามีนามว่า เอลิอุส นิคอน (Aelius Nicon) นามว่า “เกเลน” นั้นมีที่มาจากรากศัพท์กรีก ซึ่งก็คือคำว่า “Galenos” อันมีความหมายว่า “ใจเย็น” “สงบนิ่ง” แต่ในความเป็นจริงแล้ว เกเลนกลับมีลักษณะนิสัยที่ตรงข้ามกันกับชื่อของเขาโดยสิ้นเชิง
Claudius Clarissimus Galen หรือ “หมอเกเลน”
ครั้นเกเลนมีอายุได้ 14 ปี พ่อของเขาได้ถ่ายทอดความรู้มากมายให้แก่เขาไม่ว่าจะเป็น ความรู้ในด้านวรรณกรรม หลักไวยากรณ์ คณิตศาสตร์ เรขาคณิต รวมไปถึงวิชาปรัชญาพื้นฐาน อีกทั้งยังสอนทักษะที่จำเป็นในการทำเรือกสวนไร่นาขนาดใหญ่ของครอบครัวให้ได้ผลกำไรอยู่เป็นเวลา 3 ปี
จนกระทั่งปี ค.ศ. 145 อัสคลิปิอุส (Asclepius) เทพเจ้าแห่งการเยียวยา ได้มาเข้าฝันและบอกกล่าวกับบิดาของเขาว่า เทพเจ้ามีความประสงค์ให้เกเลนได้เข้าศึกษาศาสตร์ทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้เกเลนจึงถูกส่งไปเข้ารับการศึกษาวิชาทางการแพทย์ที่วิหารอัสคลิปิอุส (temple of Asclepius) อยู่ 4 ปี ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 149-150 หลังจากการเสียชีวิติลงของบิดาผู้เป็นที่รักยิ่งของเกเลน เขาจึงได้ตัดสินใจที่จะร่ำเรียนวิชาการแพทย์ต่ออีก 9 ปี ในเมืองสมีร์นา (ปัจจุบันคือเมืองอิซเมียร์ ในประเทศตุรกี), คอรินธ์, ครีต, ซิลิเซีย, ไซปรัส และ อเล็กซานเดรีย
ในปี ค.ศ. 157 เกเลนได้เดินทางกลับมาสู่เมืองเพอร์กามัมอีกครั้ง ที่ซึ่งคราวนี้เขาจะได้ฝึกทักษะทางการแพทย์ในฐานะศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดรักษาอาการบาดเจ็บของบรรดากลาดิเอตอร์ (Gladiators) แอดขออธิบายเสริมสักนิด กลาดิเอเตอร์คือนักสู้ที่ติดอาวุธซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่สาธารณชนในสมัยโรมัน บรรดาสิ่งที่กลาดิเอเตอร์ต้องเผชิญหน้าในการต่อสู้ในโคลอสเซียมนั้นก็มีตั้งแต่นักสู้ที่ติดอาวุธด้วยกันเองร่ายยาวไปจนถึงบรรดาสัตว์ที่มีคมเขี้ยวนิสัยดุร้ายอย่างเสือหรือสิงโต ลองคิดดูสิครับว่า การต่อสู่ในแต่ละครั้งนั้นจะฝากรอยแผลหรือการบาดเจ็บอันหนักหนาสากรรจ์ไว้เพียงใดกับเหล่านักสู้กลาดิเอเตอร์
การต่อสู้ของเหล่ากลาดิเอตอร์ (Gladiators) ที่โคลอสเซียม (Colosseum)
การให้การรักษาอาการบาดเจ็บทั้งหลายแหล่ของเหล่ากลาดิเอเตอร์ ทำให้ความรู้ของเกเลนเพิ่มพูนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา, บาดแผล ตลอดจนถึงความรู้ทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา มีเรื่องเล่ากล่าวขานที่น่าสนใจอยู่ในทำนองว่า เหล่ากลาดิเอเตอร์ผู้เจนศึกที่ได้รับการรักษาจากหมอเกเลนต่างแสดงความขอบคุณต่อทักษะการแพทย์ของหมอเกเลน จากการที่หมอเกเลนเข้ามารับตำแหน่งศัลยแพทย์ทำให้จำนวนครั้งใหญ่ๆที่ต้องสูญเสียชีวิตกลาดิเอเตอร์ลดจำนวนลงไปมากจนเหลือเพียงแค่ห้าครั้งเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยลงมากแล้ว หากเราได้นำปัจจัยเรื่องความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ยังคงมีน้อยอยู่ในสมัยนั้นมาร่วมพิจารณาด้วย
หมอเกเลนกำลังให้การรักษากับกลาดิเอเตอร์ที่ได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้
แต่เรื่อราวหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อนั้น แอดขอเก็บไว้เล่าใน EP. หน้านะครับ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่หมอเกเลนต้องผจญและฝ่าฟันเพื่อข้ามผ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “ความเก่งกาจที่มิอาจหาใครเทียบ ซึ่งนั้นอาจสร้างปัญหาให้กับตัวเขาประดุจดาบสองคม” “เพราะเหตุใดกันความรู้ของเขาจึงหยั่งรากลึกอยู่ในวงการแพทย์ไปอีกยาวนานนับพันปี” จะด้วยเหตุผลอะไรกันนั้น แอดขอเชิญชวนพวกท่านร่วมค้นหาคำตอบได้ใน ซีรีส์ “นักกายวิภาคศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ในตัวคุณ!!!” ในตอนต่อไปครับ
อ้างอิง:
Mohammadali, M.S.; Tubbs, R.S.; Ghabili, K. et al (2014). The Roman Empire legacy of Galen (129 – 200 AD). Child’s Nervous System, 2014. DOI:10.1007/s00381-014-2467-7
อ้างอิงภาพ:
โฆษณา