16 ก.ค. 2020 เวลา 01:30 • อสังหาริมทรัพย์
อุทาหรณ์ เบี้ยว 'ค่าผ่อนมือถือ' อาจไม่ต่างกับค้าง "ค่าส่วนกลาง" ถูกยึดที่ดิน-ห้องชุดได้
อุทาหรณ์กรณีเบี้ยวค่าผ่อนมือถือ มูลค่ารวม 3 หมื่นกว่าบาท ถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาลจนถูกยึดที่ดินขายทอดตลาด เรื่องเล็กๆ ที่กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต อาจจะคล้ายกับกรณีค่าส่วนกลางต่างๆ ของคอนโดมิเนียม หากไม่ชำระอาจถูกนิติฯฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งได้
โดย พิสิฐ ชูประสิทธิ์ | คอลัมน์ บทความพิเศษ | กรุงเทพธุรกิจ
หลายท่านอาจได้ทราบข่าว หญิงสาวพรมพิราม จ.พิษณุโลก เบี้ยวค่าผ่อนมือถือ มูลค่ารวม 3 หมื่นกว่าบาท เหลือค่างวดอีกหมื่นเศษๆ แล้วไม่ผ่อนต่อ ถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาล บังคับชำระหนี้ค่าโทรศัพท์ ยึดที่ดิน ขายทอดตลาด ทำให้เดือดร้อน
แม้ลูกหนี้รายนี้อ้างบิดาที่ได้รับหมายศาลอ่านหนังสือไม่ออก จึงไม่ทราบการบังคับคดี ในขณะที่ที่ผ่านมา ตนและสามีตกงาน ขาดรายได้ ไม่มีเงินรองรับค่าผ่อนโทรศัพท์มือถือที่ค้างชำระ ซึ่งมาทราบภายหลังว่า เจ้าหนี้ โจทก์ตามคำพิพากษาได้ขอคำบังคับขายที่ดินต่อศาล เพื่อนำเงินที่ได้ ชำระค่าผ่อนโทรศัพท์ส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามกระบวนการทางกฎหมาย
สุดท้าย กรมบังคับคดี พิษณุโลก เข้ามาเจรจาหาทางออกให้แก่ลูกหนี้กับเจ้าของที่ดินที่ประมูลซื้อทรัพย์ที่ดิน ขายทอดตลาดรายใหม่จะสามารถช่วยเหลือได้มากน้อยอย่างไร?
สัจธรรม “อุทาหรณ์” ข้อหนึ่ง ได้แก่ เมื่อลูกหนี้เป็นหนี้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญา ลูกหนี้มีหน้าที่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ เจ้าหนี้ย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาล บังคับลูกหนี้ ชำระหนี้ตามสัญญาที่ทำไว้ได้ทุกเมื่อ
1
อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้ชำระหนี้แล้ว แต่ไม่ชำระตามคำพิพากษา ย่อมสามารถขอคำบังคับคดีต่อศาล เพื่อยึด อายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ จำเลย ขายทอดตลาด เพื่อนำเงินที่ได้มาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ โจทก์ตามคำพิพากษา ส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด หากมีส่วนเกิน จากหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมดอกเบี้ย ลูกหนี้ จำเลยจะได้รับเงินส่วนเกินจากการขายทอดตลาดดังกล่าว
1
“ข้ออ้าง” ของลูกหนี้ จำเลย อาทิ ไม่ได้รับคำฟ้อง รวมทั้งหมายบังคับคดีจากศาล หรือมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาล มีจำนวนน้อยกว่าทรัพย์ ที่ดิน ขายทอดตลาด มีจำนวนน้อยกว่าเงินที่ขายทอดตลาด หรือได้รับความเดือดร้อยจากการขายทรัพย์สิน ที่ดิน ทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัย ที่ทำกินของตน ครอบครัวและญาติ หรือขาดรายได้ ระหว่างการผ่อนค่าโทรศัพท์มือถือ หรือตกงาน สามีไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ เป็นต้น
2
.. “ล้วนอ้างไม่ได้ และฟังไม่ขึ้นทั้งสิ้น”
ประเด็นข้างต้น อาจไม่แตกต่างจากระบบอาคารชุด “คอนโดมิเนียม” ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาคารชุด เมื่อผู้ซื้อห้องชุด และผู้ขายห้องชุดในอาคารชุด เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุด ทุกคน และทุกราย มีหน้าที่ชำระค่าส่วนกลาง ค่ากองทุน ค่าบริการสาธารณูปโภค หรือค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นๆ ตลอดจนค่าเงินเพิ่ม ค่าปรับชำระล่าช้า ตามข้อบังคับ หรือตามมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม ตามที่นิติบุคคลอาคาร (นิติฯ) ชุดเรียกเก็บ ซึ่งสอดคล้องมาตรา 18 และ 40 ของ พ.ร.บ.อาคารชุด นิติฯมีหน้าที่นำไปเป็นค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการบริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลางและการให้บริการแก่เจ้าของร่วม
เจ้าของร่วมไม่สามารถยกข้ออ้าง ไม่จ่ายค่าส่วนกลางได้ เพราะการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามที่นิติฯเรียกเก็บกับเจ้าของร่วมนั้น ถือเป็น “หน้าที่” ที่เจ้าของร่วม “ทุกราย” ต้องจ่าย หรือชำระให้แก่นิติฯ
อย่างไรก็ตาม เจ้าของร่วมสามารถใช้สิทธิตามข้อบังคับ ดำเนินการต่อนิติฯ หรือการใช้สิทธิทางศาล ดำเนินคดีแก่นิติฯ ตามความประสงค์ และความเสียหายของตนได้
1
ดังนั้น เมื่อนิติฯ ส่งใบแจ้งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดทราบแล้ว เจ้าของร่วมมีหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้แก่นิติฯ ตามเวลาที่กำหนดในใบแจ้งค่าใช้จ่าย หากพ้นหรือล่วงเลยกำหนดชำระ
..เจ้าของร่วมอาจถูกเรียกเก็บเงินเพิ่ม หรืออาจถูกนิติฯฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งได้
หากเจ้าของห้องชุด เจ้าของร่วม รายซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้ชำระค่าใช้จ่ายตามคำฟ้องแล้ว แล้วไม่ชำระ เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุด นิติฯ ในฐานะโจทก์ สามารถขอให้ศาลออกคำบังคับ เพื่อยึดอายัดทรัพย์ส่วนบุคคล ห้องชุด ขายทอดตลาดดังกล่าว ชำระหนี้ให้แก่นิติฯ เงินที่เหลือจากการขายทอดตลาด ก็ให้คืนแก่เจ้าของร่วม จำเลย หรือผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ส่วนบุคคลรายใหม่ต่อไป
โฆษณา