16 ก.ค. 2020 เวลา 05:07 • สุขภาพ
“อาการฉุกเฉินของสุนัข ภาค 2”
6. สุนัขได้รับสารพิษ
“สารพิษ” ที่เป็นพิษกับสุนัขพบได้รอบ ๆ ตัวเรา เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ ยาฆ่าแมลง พิษจากสัตว์ ยารักษาโรคที่เกินขนาดก็กลายเป็นสารพิษได้ หรือแม้กระทั่งอาหารบางชนิดที่เรากิน ก็เป็นอันตรายไม่ต่างจากยาพิษ
อาการของสุนัขหลังได้รับสารพิษมีความแตกต่างกันไปตามสารพิษที่ได้รับ เช่น
- อาเจียน
- ถ่ายเหลว
- ชัก ตัวเกร็ง เดินเซ
- น้ำลายไหล น้ำลายฟูมปาก
คำแนะนำ รีบพาสุนัขส่งโรงพยาบาลสัตว์
“ห้ามทำให้อาเจียน” เพราะสารพิษอาจระคายเคืองหลอดอาหาร หรือสุนัขสำลักได้
สัตว์มีพิษกัด เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง หรือตัวต่อ ก็ถือว่าเป็นอาการฉุกเฉินในสุนัขเช่นกัน สุนัขบางตัวอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตจากพิษที่ได้รับหรือจากอาการแพ้
อาการของสุนัข มีรอยเขี้ยว แดงช้ำและบวมบริเวณที่ถูกสัตว์มีพิษกัด
คำแนะนำกรณีสงสัยว่างูกัด ถ้าหากทราบชนิดของงูที่กัด จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะสัตวแพทย์จะเลือกใช้เซรุ่มที่เหมาะสม การใช้เซรุ่มที่ไม่ตรงชนิดของงูอาจเป็๋นอันตรายมากกว่า
7. กระดูกหักหรือไม่สามารถเดินได้
อุบัติเหตุรถชนหรือตกจากที่สูง อาจทำให้สุนัขเกิดอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรง เช่น กระดูกหัก หรือ บาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง ส่งผลให้สุนัขไม่สามารถเดินได้
อาการที่สามารถสังเกตได้ คือ ขาของสุนัขผิดรูป อาจพบกระดูกที่หักทิ่มทะลุออกมา บวมมากบริเวณที่กระดูกหัก เดินไม่ได้ หรือลากขา
คำแนะนำ ควรรีบพาสุนัขส่งโรงพยาบาล เพราะ กระดูกที่หักจะไม่สามารถหายเองได้ โดยไม่ได้รับการรักษา ส่วนความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งกระดูกที่หักและความเสียหายที่เกิดขึ้น
พยายามอย่าให้กระดูกที่หักขยับเขยื้อนมาก หากพบเลือดไหลให้ใช้ผ้ากดห้ามเลือด และระวังเจ้าของถูกสุนัขกัด เนื่องจากเจ็บบริเวณกระดูกหัก
Tip: ผ้าห่มหนา ๆ ก็สามารถใช้ห่อตัวสุนัขเอาไว้ เพื่อลดการขยับตัวของสุนัขได้
8. ไข้สูง ลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat stroke)
อุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่าปกติมาก ส่งผลต่อการทำงานของร่างกายโดยตรง สุนัขอาจช๊อกจนเสียชีวิตได้หลังจากมีไข้สูงหรือฮีทสโตรก
อุณหภูมิร่างกายปกติของสุนัขคือ 101-102.5 ˚F (38.3 - 39 ˚C)
ไข้สูง vs ฮีทสโตรก ไม่เหมือนกันนะ มาทำความเข้าใจกันค่ะ
“ไข้สูง” เกิดจากร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือการอักเสบอย่างรุนแรง เช่น การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
อุณหภูมิร่างกายสุนัขที่เริ่มมีไข้ต่ำ จะอยู่ที่ประมาณ 103 ˚F (39.5 ˚C) ขึ้นไป
“ลมแดดหรือฮีทสโตรก” เกิดจากสุนัขอยู่ในบริเวณที่อากาศร้อนอบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเท เป็นเวลานาน เช่น ถูกขังอยู่ในรถที่ตากแดด หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่าปกติ จนส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
ทั้งสองกรณี อุณหภูมิร่างกายอาจสูงถึง 106 ˚F (41 ˚C) ซึ่งความร้อนของร่างกายในระดับนี้ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ ถือเป็นอาการฉุกเฉินในสุนัขและมีโอกาสเสียชีวิตได้
อาการของสุนัขที่มีอุณหภูมิร่างกายสูง มักมีอาการหอบ น้ำลายไหล ลิ้นแดง และตัวร้อน
คำแนะนำ: นำสุนัขออกจากบริเวณที่อากาศร้อน เช็ดตัวสุนัขด้วยผ้าชุบน้ำอุณหภูมิปกติ เน้นบริเวณอุ้งเท้า ใบหู ใต้ท้อง รีบพาสุนัขส่งโรงพยาบาลสัตว์ และไม่ควรเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นจัด เพราะอุณหภูมิร่างกายจะลดลงเร็วจนเกินไป
9. อาเจียนหรือท้องเสียอย่างรุนแรง
อาการอาเจียนหรือท้องเสีย แบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ
1. สาเหตุที่เกิดจากทางเดินอาหารโดยตรง เช่น ติดเชื้อในทางเดินอาหาร การแพ้อาหาร กินสารพิษ เป็นต้น
2. สาเหตุที่เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ไตวาย ตับอ่อนอักเสบ ตับอักเสบ เป็นต้น
“ลูกสุนัขที่มีอาการอาเจียนและถ่ายเหลวอย่างรุนแรง อาการจะแย่ลงภายในเวลา 12 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษา และอาจเสียชีวิตได้จากร่างกายที่ขาดน้ำและน้ำตาลในเลือดต่ำ”
อาการ: สุนัขอาเจียนหรือสุนัขถ่ายเหลวอย่างต่อเนื่อง สุนัขอาเจียนทุกครั้งที่กินอาหารหรือน้ำ สุนัขซึม ไม่มีแรง
คำแนะนำ: กรณีอาเจียนหลายครั้ง ไม่ควรป้อนน้ำหรืออาหาร เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้สุนัขอาเจียนมากขึ้น ควรรีบพาสุนัขส่งโรงพยาบาลสัตว์
ดังนั้น หากพบว่าสุนัขอาเจียนหรือท้องเสียปริมาณมาก อย่านิ่งนอนใจ เพราะสุนัขมีโอกาสเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกสุนัข
10. เป็นลมหมดสติ (Syncope) vs ชัก (Seizure)
อาการเป็นลมหมดสติและอาการชัก บางครั้งดูคล้ายกันมาก จนแยกแทบไม่ออก
เหตุการณ์มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสังเกตแทบไม่ทัน ว่าสุนัขเป็นอะไรกันแน่
ความแตกต่างระหว่างอาการชักและเป็นลมหมดสติ
สาเหตุของอาการชัก มีมากมายหลากหลาย เช่น ไข้สูง ติดเชื้อที่สมองหรือมีการอักเสบของสมอง ความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย เช่น สุนัขไตวาย ตับอักเสบ หรือไม่สามารถหาสาเหตุของอาการชักได้ เรียกว่า โรคลมชัก (Epilepsy)
สาเหตุของเป็นลมหมดสติ มักเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจรั่วในสุนัขแก่ เป็นต้น
Note: หัวใจมีหน้าที่ในการปั๊มเลือดไปเลี้ยงทุกอวัยวะในร่างกาย ถ้าหากการปั๊มเลือดมีปัญหา เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เกิดเหตุการณ์ “สุนัขเป็นลมหมดสติขึ้น”
Tip: การถ่ายคลิปวิดีโอไว้ ช่วยให้สัตวแพทย์สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำมากขึ้น
อ่านบทความฉบับเต็ม ที่นี่
โฆษณา