Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พุฒิพัทธ์ ศรีบุญเรือง
•
ติดตาม
16 ก.ค. 2020 เวลา 12:59 • ปรัชญา
#กลิ่นศีลหอมทวนลมได้.!!
#หอมถึงเทวโลก_3_แดนโลกธาตุ
“..กลิ่นดอกไม้ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา หรือกลิ่นกระลำพัก ก็ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้ ส่วนกลิ่นสัตบุรุษ ฟุ้งทวนลมไปได้ เพราะสัตบุรุษฟุ้งไปทุกทิศ ฯ”
กลิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นดอกไม้ กลิ่นของหอมหรือกลิ่นอะไรก็ตาม ที่ได้กลิ่นผ่านจมูก จะต้องมาตามลมได้อย่างเดียวเท่านั้น แต่กลิ่นที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า สามารถที่จะทวนลมไปก็ได้ ประกอบด้วย หนึ่ง ความมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หรือพุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นกลิ่นแรก สอง คือ ศีล 5 และสาม คือ “จาคะ” การให้การบริจาค หรือคือ โสตาปัตติยังคะ 4 แล้วรวมจาคะอีกหนึ่งอย่าง เป็นองค์ธรรมแห่งการเป็นอริยบุคคล ดังนั้น กลิ่นที่จะทวนลมไปได้ คือ กลิ่นของอริยบุคคล กลิ่นของสัตบุรุษ กลิ่นความดี..ไม่ว่าจะเป็นพุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็มีกลิ่นศีล เพราะฉะนั้น ศีลมันกระจายไปอยู่ในสิ่งต่างๆ
“ศีล” แปลว่า “ความเป็นปกติ” หรือ “เย็น” คือ ทำจิตใจทำกายให้เย็น มีอานิสงส์คือความไม่ร้อนใจ หรือ “ความเกษม” คือ ความปลอดภัย ที่โล่งโปร่ง ไม่มีภัยอันตรายใดๆ เบาสบายรู้สึกปลอดภัย หรือ “การผูกจิตเอาไว้” ธรรมอันเป็นเครื่องผูกจิตให้ดำรงอยู่ไว้ได้ ไม่ให้ไปในทางต่ำ ไม่ให้ไปในทางอบาย
“ศีล” สำหรับบางคนจะเป็นพื้นฐาน เป็นธรรมชาติ เป็นปกติในความเป็นมนุษย์ที่จะต้องมีศีล เพราะถ้าไม่มีศีลจะต้องมีการเบียดเบียนเป็นวงกว้าง
“ศีล” ถ้าจะแยกออกไปอยู่ในมรรคแปด คือ สัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา และสัมมาอาชีวะ 3 อย่างนี้จะสงเคราะห์รวมลงอยู่ในกองของ “ศีล” ถ้าแยกออกไปก็จะเป็นศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีลเบื้องต้นของพรหมจรรย์ของพระ จุลศลี มัชฌิมศีล ฯลฯ ซึ่งศีลต่างๆ ที่รวมลงในกองของศีล จะมีอานิสงส์คือ ไม่ร้อนใจ เกิดความสบายใจ เป็นพื้นฐาน
“ศีล” พระพุทธเจ้าเปรียบไว้กับสัตว์บกทั้งหลาย จะกิน จะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน จะทำอิริยาบถใดๆ ต้องอยู่บนพื้นดิน
“ศีล” เป็นเหมือนพื้นดิน เหมือนแผ่นดิน ถ้าขุดรากตัวเอง คือ ทำลายที่ยืนของตัวเอง คือ ทำลายศีลแล้ว ถ้าทำลายศีลแล้ว ก็ไม่มีที่ยืน ไม่มีจุดที่เราจะพึ่งได้ คนไม่มีพื้นฐานจะยืนอยู่ได้อย่างไร ไปต่อไม่ได้ จะทำกิจหน้าที่การงานใดๆ ก็ตาม อาชีพทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของศีล ถ้าไม่มีศีลมันพัง!
“ศีล” ต้องรักษาไว้ให้ดี ศีลจะมีอานิสงส์ทำให้ไม่ร้อนใจ พอมีความไม่ร้อนใจ ก็จะมีความสบายใจ ปีติ ปราโมทย์จะเกิดขึ้นได้ พอมีปีติ ปราโมทย์เกิดขึ้น จะทำจิตให้มีกำลัง เป็นกองของจิต เป็นกองของสมาธิ เป็นกองที่สองของการตั้ง “ความเพียร” และกองปัญญาต่อไป ศีลจึงต้องเป็นพื้นฐาน
“ศีล” บางคนทำได้ง่าย บางคนทำได้ยาก แต่ว่ามันมีประโยชน์กับตัวเรา เปรียบเหมือนกับยาขมที่มีประโยชน์กับร่างกาย
“ศีล” มีอานิสงส์ คือ
“สีเลนะ สุคะติง ยันติ” ศีลเป็นไปเพื่อความสุขที่เกิดจากในภายใน เป็นความสุขที่เกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วย
“สีเลนะ โภคะสัมปะทา” ศีลเป็นไปเพื่อโภคทรัพย์ ทั้งที่เป็นอามิสจับต้องได้ และอริยทรัพย์อยู่ในภายในที่ทำให้มีความมั่นคง ร่ำรวยในจิตใจ มีศรัทธา มีศีล มีจาคะ มีปัญญา มีสมาธิ เป็นอริยทรัพย์ เป็นความอิ่ม ความสมบูรณ์ เป็นความดี
“สีเลนะ นิพพุติง ยัน ติ” ศีลเป็นไปเพื่อนิพพาน
เมื่อมี “ศีล” เป็นพื้นฐานแล้วจะทำให้ไม่มีความร้อนใจ พอไม่ร้อนใจแล้วจะมี “ปีติ ปราโมทย์” แล้วก็จะมีผลทำให้เกิดความสงบระงับ คือ “ปัสสัทธิ” แล้วจะมีผลทำให้เกิดความสุขที่เกิดจากในภายใน เป็น “อุเบกขา” เป็นความสุขที่ไม่เกี่ยวเนื่องด้วยอามิส เป็นความสุขที่เกิดจากในภายใน จิตมันระงับลงๆ จิตก็จะเป็นอารมณ์อันเดียว ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้เห็นตามความเป็นจริงได้ เห็นว่ามันเกิดขึ้นได้เพราะเหตุปัจจัยอะไร ดับไปได้ เพราะเหตุปัจจัยนั้นมันหายไป เห็นมันในความเป็นของไม่เที่ยง เห็นด้วยความเป็นของอนัตตา เห็นในความเป็นของที่ไม่ใช่ตัวตน เห็นตามที่เป็นจริงอย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดญาณทัสสนะ รู้เห็นตามเป็นจริงแล้ว ก็จะทำให้เกิดความหน่าย คือ “นิพพิทา” จิตก็จะคลายความกำหนัดแล้ว ก็จะสามารถวางไว้ การวางได้คือความพ้น “วิมุตติ” พอทำได้ถึงจุดนี้ได้บ่อยๆ เรื่อยๆ วิมุตตินั่นจะมี “นิพพาน” เป็นที่แล่นไปสู่ พอมีวิชชา วิมุตติแล้วจะมีนิพพาน คือ ความเย็น ความดับ ความที่ไม่มีเชื้องอกเหลืออยู่ “สีเลนะ นิพพุติง ยัน ติ” ก็จะไล่ไปตามขั้นตอนตามกระบวนการแบบนี้
“ศีล” ที่เราพยายามจะรักษา พยายามจะตั้งสติขึ้น จะมีอานิสงส์ใหญ่ มีผลใหญ่มาก แค่การที่เราพยายามจะรักษาศีล มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวาจา มีสัมมาอาชีวะ สัมมาทิฐิมาก่อนเลย จากความที่คิดว่าจะทำถูกศีล ไม่ทำผิดศีล และการที่พยายามจะตั้งสติไว้กับสิ่งที่มันดี นั่นคือ มีสัมมาสติ พอทำให้ได้มากๆ ขึ้น นั่นคือ การทำความเพียร ทำจริงแน่วแน่จริง พยายามทำความดีความงามให้เกิดขึ้น ทำไปๆ จิตจะรวมเป็นอันเดียว จะทำให้เกิด สัมมาสมาธิให้เกิดขึ้นได้
เริ่มจาก “ศีล” ที่เป็นพื้นฐาน พอเราทำเรื่อง “ศีล” แล้ว กุศลธรรมต่างๆ มันจะรวบรวมเข้ามา ไปทางไหนจะไม่มีความครั่นคร้าม ชื่อเสียงจะขจรขจายไป เหมือนกลิ่นที่ไปได้ทุกทิศทาง ทวนลมก็ได้ ตามลมก็ได้
พระสูตร / เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อ่าน “คันธสูตร” เล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 12 อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
ฟัง “คำพุทธ – ชาลิยสูตร ว่าด้วย ผู้ถึงพร้อม ด้วยศีล”
**********************
#ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม
แสงส่องธรรม "จิต คือพุทธะ
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย