16 ก.ค. 2020 เวลา 14:15 • ศิลปะ & ออกแบบ
การใช้ Reference ในงานสร้างสรรค์ เขียนยังไงให้คนอ่านไม่หงุดหงิด
“แค่เรื่องแต่งจะไปจริงจังอะไรมากมาย”
หลายคนอาจเคยได้ยินคำกล่าวนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางคนอาจไม่ให้ความสำคัญกับการหาข้อมูลอ้างอิงการสร้างสรรค์สื่อบันเทิงหรือวรรณกรรม โดยที่มองว่าเป็นแค่สิ่งให้ความบันเทิง ไม่จำเป็นต้องจริงจัง แต่ในขณะเดียวกัน การไม่มีข้อมูลอ้างอิงก็ทำให้เกิดความหงุดหงิดในหมู่ผู้รับสื่อเมื่อพบว่าทุกอย่างผิดเพี้ยนไปหมด โดยเพราะเมื่อข้อมูลนั้นหาได้ง่ายดายแต่ผู้เขียนกลับเลือกที่จะมโนทุกอย่างขึ้นมา หรือแย่กว่านั้นคือสร้างความเข้าใจผิด ๆ กับผู้อ่านที่ไม่ได้รู้เรื่องนั้นอยู่ก่อนแล้ว
แน่นอนว่านักสร้างสรรค์ทุกคนไม่สามารถทำให้ผู้อ่านพอใจไปทุกเรื่องได้ และไม่อาจทำให้สมจริงไปทุกระเบียดนิ้ว แต่หากต้องการความสมจริงในระดับที่อยู่ในสามัญสำนึกทั่ว ๆ ไป พื้นฐานการหาข้อมูลอ้างอิงจึงเป็นสิ่งจำเป็น
reference หรือ ข้อมูลอ้างอิง ซึ่งต่อไปในบทความนี้จะเรียกสั้น ๆ ว่า ‘เรฟ’ เป็นองค์ประกอบใด ๆ ก็ตามในงานสร้างสรรค์ที่อาศัยข้อเท็จจริงเป็นพื้นฐาน แม้จะถูกต่อเติมภายหลังในเนื้อเรื่องแต่ก็ยังยึดข้อมูลจริงเป็นหลัก เป็นสิ่งจำเป็นกับงานเขียนทุกแนวไม่ว่าจะเป็น แฟนตาซี ไซไฟ เรียลไลฟ์ ตลก ฯลฯ รวมถึงภาพวาดหรือการออกแบบตัวละครด้วย หากสังเกตดี ๆ แล้วก็สอดแทรกอยู่แทบจะทุกที่
:: อะไรบ้างที่ควรใช้ reference /สามารถใช้ reference เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือได้ ? ::
จะสร้างตัวละครสักตัวหนึ่ง หรือเนื้อเรื่องสักเรื่องมีองค์ประกอบมากมาย ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าทุกอย่างต้องมีอ้างอิงเป๊ะ ๆ แต่หากต้องการเพิ่มคุณภาพของงานและลดความหงุดหงิดของผู้รับสื่อ ก็สามารถค้นหาเรฟมาใช้ได้ โดยค้นหาได้ไม่ยาก
1. ดีไซน์ รูปลักษณ์ภายนอก
- การออกแบบเสื้อผ้า คำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งาน สำหรับการแต่งกายสามารถค้นเพิ่มได้ว่าคนที่อาศัยอยู่ในภูมิอากาศแบบเดียวกับที่ตัวละครอยู่นั้นเขาแต่งกายยังไง อาจมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น วัฒนธรรม แฟชั่น ความเชื่อ ความสะดวกในการเคลื่อนไหว
- พร็อบ อาวุธ อุปกรณ์ ควรศึกษาเรื่องหลักการออกแบบที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หากอุปกรณ์มีต้นแบบมาจากสิ่งของที่มีอยู่จริงก็ควรศึกษาของที่มีอยู่จริงเพื่อนำไปปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานในเรื่อง
- เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมของคนเชื้อชาตินั้น ๆ อย่าใช้ stereotype เป็นภาพจำมากเกินไปโดยไม่หาข้อมูลเพิ่มเติมอื่นประกอบ สำหรับเผ่าพันธุ์ ถ้าเป็นเผ่าที่คิดขึ้นมาเองแต่อ้างอิงจากสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่จริง ลองหาข้อมูลสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ เอาไว้อาจจะได้ลูกเล่นอะไรที่น่าสนใจเพิ่มมาในงานดีไซน์ของเราก็ได้
2. สภาพแวดล้อม
- สถานที่ เมือง ประเทศ หากดำเนินเรื่องอยู่ในสถานที่ที่มีอยู่จริง ควรอย่างมากที่จะศึกษาว่าสถานที่นั้นตั้งอยู่ที่ไหน มีสิ่งแวดล้อมอย่างไร ภูมิประเทศ ภูมิอากาศอย่างไร คงจะดูตลกถ้ามีคนต่างชาติเขียนเซ็ตติ้งประเทศไทยว่ามีหิมะตก หรือมีทะเลอยู่ที่เชียงใหม่ ในมุมกลับกัน การที่เราจะเขียนถึงประเทศอื่นก็ควรหาข้อมูลเช่นกัน
- ยิ่งเป็นสถานที่ที่เจาะจงยิ่งต้องรู้ละเอียด ถ้ารู้แผนผังภายในได้ก็จะดีมาก หากในเรื่องต้องเขียนถึงห้องต่าง ๆ หรือให้ตัวละครพักอยู่ในนั้น
- ฤดูกาล คล้ายกับข้อบนแต่เป็นจุดที่นักเขียนบางคนพลาดแบบไม่รู้ตัว เช่น ซากุระไม่ได้บานช่วงคริสต์มาส
- วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่นมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ควรหาข้อมูลมากกว่าที่จะใช้ภาพจำหรือคิดเอาเอง
3. ภูมิหลัง การใช้ชีวิต
- ชื่อตัวละคร ควรหาข้อมูลชื่อในภาษานั้น ๆ บางประเทศมีหลักการตั้งชื่อที่เฉพาะเจาะจง
- การศึกษา ระบบการศึกษา /การจัดระดับชั้น ในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน หรือแม้แต่โรงเรียนกับมหาวิทยาลัยก็มีระบบภายในที่แตกต่างกัน หากไม่ได้มีประสบการณ์ผ่านมาโดยตรงควรหาข้อมูลเอาไว้
- อาชีพของตัวละคร ศึกษาว่าอาชีพนั้น ๆ มีลักษณะการทำงานอย่างไร ต้องเจออะไรบ้าง โดยเฉพาะถ้าต้องมีฉากดำเนินเรื่องเกี่ยวกับอาชีพนั้นโดยตรงต้องมีข้อมูลที่ละเอียดขึ้น
4. พฤติกรรม / การตอบสนองของตัวละคร
- ส่วนนี้ไม่ตายตัวเสมอไป แต่หากในเรื่องที่เขียนตัวละครต้องประสบเหตุการณ์บางอย่าง แล้วคิดไม่ออกว่าควรจะให้ตัวละครตอบสนองอย่างไร สามารถหาอ้างอิงจากข้อมูล ข่าว สารคดี คำบอกเล่า ของผู้ที่ได้พบเหตุการณ์นั้น ๆ ได้ เช่น การประสบอุบัติเหตุ อพยพจากภัยพิบัติ การติดในพื้นที่ปิดเป็นเวลานาน ฯลฯ
- อาการทางจิตของตัวละคร /อาการป่วย เป็นประเด็นที่อ่อนไหวและควรมาก ๆ ที่จะมีการอ้างอิงถ้าต้องเขียนถึง
5. แรงบันดาลใจ
บางครั้งตัวละครของเราก็สร้างโดยได้แรงบันดาลใจมาจากบางอย่าง เช่น ภาพยนตร์ สิ่งของรอบตัว ข่าว ตำนานเรื่องเล่า หรือแม้กระทั่งวรรณกรรมเรื่องอื่น
- หากสร้างจากที่รอบตัว เช่น สิ่งของ สัตว์ แนว personification ต่าง ๆ ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นต้นแบบนั้นมาด้วย จะช่วยได้ทั้งในด้านของบุคลิกและดีไซน์ภายนอก
- ข่าวสาร ภาพยนตร์ สื่ออื่น อาจทำให้เราเกิดไอเดียหรือได้คีย์เวิร์ดบางอย่างมา อย่าลืมนำหัวข้อ /คีย์เวิร์ดไปหาข้อมูลต่อแล้วจึงค่อยมาสร้างผลงาน การใช้แค่ภาพจำผิวเผินอย่างเดียวอาจทำให้ผลออกมาผิดเพี้ยนหรือหลุดไปไกล
- หากตัวละครของเรามีต้นแบบจากตำนาน เรื่องเล่า วรรณกรรมเก่า public domain ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวละครดั้งเดิมที่นำมาเป็นต้นแบบนั้นด้วย ไม่จำเป็นต้องไปไล่อ่านวรรณกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ แต่อย่างน้อยที่สุดควรเข้าใจคาร์แรคเตอร์ของตัวละครนั้นก่อน แล้วจะนำมาดัดแปลงอย่างไรค่อยเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ แต่ต้องเผื่อใจไว้ว่าผู้อ่านที่รู้จักตัวละครดั้งเดิมมาก่อนอาจไม่ได้ถูกใจงานของเราไปทุกคน หากเราหาข้อมูลมาอย่างดีที่สุดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเสียใจ เป็นเรื่องปกติที่จะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ
:: ระดับของการหา reference ::
การหาเรฟมีหลายระดับ ตั้งแต่ข้อมูลผิวเผินไปจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญ ขึ้นอยู่กับว่าระดับไหนที่สะดวกและไม่เกินความสามารถมากเกินไป ส่วนใหญ่แนะนำระดับ 2 เป็นระดับที่ทุกคนทำได้และได้รับข้อมูลเพียงพอประมาณหนึ่ง
ระดับ 1 คีย์เวิร์ด/จากความคุ้นเคย
ศัพท์บางคำที่เคยได้ยิน หรือฉากที่เห็นจากในสื่อบันเทิง เป็นระดับที่ไม่แนะนำเพราะมีข้อมูลเบาบางเกินไป อาจทำให้เกิดการนำมาใช้ด้วยความเข้าใจผิดได้
ระดับ 2 ลงไปศึกษาจากคีย์เวิร์ดอีกที
การนำคีย์เวิร์ดไปค้นคว้าหาความหมายที่แท้จริงทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งนั้นมากขึ้น และอาจได้คีย์เวิร์ดเพิ่มมาอีกให้ไปค้นต่อ ขอยกตัวอย่างประสบการณ์ของผู้เขียน ครั้งหนึ่งเคยเขียนนิยายเกี่ยวกับโรคระบาด จึงต้องไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับระบาดวิทยา ในระหว่างที่ค้นก็ได้คีย์เวิร์ดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก เช่น R nought, IHR, EIS ฯลฯ เป็นจุดเริ่มต้นของการไปค้นต่อว่ามันคืออะไร นอกจากได้ความรู้ใหม่ก็ได้แรงบันดาลใจเพิ่มในการเขียนต่อด้วย
ขั้นนี้เป็นขั้นที่ถือว่าใช้ได้สำหรับงานเขียนทั่วไป
ระดับ 3 ลงไปพูดคุย
การได้พบคุยสอบถามจากคนที่ทำงานหรือเกี่ยวข้องกับสายงานนั้นถ้ามีคนรู้จักที่ยินดีจะแบ่งปันข้อมูล อาจจะได้มุกที่เกี่ยวกับอาชีพนั้นมาด้วย เหมาะสำหรับงานเขียนที่ลงลึกรายละเอียดกับการทำงานสายหนึ่งมาก ๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเพื่อนทำงานทุกสายที่ยินดีให้ถาม ดังนั้นหากไม่สามารถมาถึงขั้นนี้ ข้อมูลในระดับที่ 2 ก็เพียงพอแล้ว จะหาสารคดีหรือบทสัมภาษณ์อาชีพนั้น ๆ มาประกอบก็ได้
ระดับ 4 ลงไปทำงานนั้นเอง
ปกติไม่มีใครไปถึงระดับนี้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่สามารถลองทำเองได้ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ อาจจะได้ประสบการณ์มาเล่าในมุมมองของตัวละครให้สมจริงยิ่งขึ้น เช่น ถ้าตัวละครชอบดูดาว/ดาราศาสตร์ อาจจะหาความรู้เรื่องการดูดาว ลองใช้อุปกรณ์ ลองออกไปดูดาวกลางแจ้ง
หรือถ้าหากเรียน/ทำงานเกี่ยวกับสาขานั้นอยู่แล้ว การลองประยุกต์ใช้ความรู้กับงานเขียน จะทำให้การเรียน/การทำงานเป็นเรื่องสนุกมากขึ้น ช่วยเพิ่มความกระตือรือร้นได้
:: คำถามที่พบบ่อย ::
Q : ต้องมีเรฟแน่นขนาดไหน ถ้าเขียนเกี่ยวกับยานอวกาศต้องรู้ขนาดสร้างยานได้จริงไหม? มันเป็นจินตนาการไม่ใช่เหรอ?
A : ไม่ต้องมีข้อมูลแน่นถึงขนาดสร้างสิ่งของนั้น ๆ ขึ้นมาได้จริง แต่อย่างน้อยให้อ้างอิงความเป็นจริงได้ในจุดที่ผู้เขียนต้องการสื่อว่ากำลังใช้หลักความจริงเล่าในส่วนนั้นอยู่ เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับเอเลี่ยนที่ไล่ล่าคนในสถานีอวกาศ ส่วนของตัวเอเลี่ยนอาจไม่จำเป็นต้องลงลึกรายละเอียดระดับพันธุกรรม แต่ส่วนของการใช้ชีวิตของนักบินอวกาศในสถานี ฯ และภาวะไร้น้ำหนักบนสถานีฯ ควรไปค้นหาข้อมูลประกอบมากกว่าจินตนาการขึ้นมาเอง
หรือเขียนเรื่องเวทมนตร์ในยุคกลาง ส่วนพลังเวทย์เป็นจินตนาการก็จริง แต่รูปแบบสังคม การแต่งกาย ความเป็นอยู่ในยุคกลางควรหาเรฟอ้างอิง
สิ่งที่ควรมีการหาข้อมูลอ้างอิงไม่ได้มีแค่ส่วนที่เป็นข้อมูลหลักในเรื่อง เช่น เขียนแนวไซไฟก็ไม่ได้มีแค่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เขียนแนวการเมืองก็ไม่ใช่มีแค่อ้างอิงเรื่องการเมือง แต่เกี่ยวกับบรรยากาศโดยรวมด้วย เช่น อาชีพตัวละคร อุปกรณ์ที่ใช้ สถานที่ หรือแม้แต่อาหารประจำถิ่น หากเราต้องการเพิ่มรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปด้วย ฯลฯ ดังที่ได้กล่าวไปในหัวข้อแรก
Q : ต้องทำยังไงถึงจะรู้คีย์เวิร์ดสำหรับค้นหาเรฟ ว่าจะเริ่มหาจากตรงไหน?
A : การหาความรู้รอบตัวอย่างสม่ำเสมอช่วยได้ เมื่อเราได้เห็นหลายอย่างผ่านตาจะสามารถดึงเอาความคุ้นเคยเหล่านั้นมาตั้งต้นได้ว่าควรเริ่มหาข้อมูลจากไหน แล้วค่อยเจาะลึกลงไป หรือถ้าไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นเลย จะลองพิมพ์ค้นหาด้วยคำถามตรง ๆ ว่าสิ่งนี้คืออะไรก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เมื่อได้คีย์เวิร์ดแล้วจึงค่อยลงไปในระดับที่ละเอียดขึ้น
เรียบเรียง : Mayko
ภาพประกอบ : Mayko
#STORY
โฆษณา