26 ก.ค. 2020 เวลา 16:04
[ความรู้คอมพิวเตอร์ ตอน: กว่าจะมาเป็น Wi-Fi 6 ระยะทางตลอด 20 กว่าปีกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคต]
Wi-Fi เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเรามานานจนหลอมรวมไปเป็นปัจจัยที่ห้าของเราซะแล้ว ถึงแม้เราจะมีเทคโนยี 4G, 5G อันเร็วแรงไปกับเราได้ทุกที่ ก็ยังมีการจำกัดความเร็วตามแพคเกจที่เราเลือกอยู่ดี เราคงไม่อยากใช้ 4G/5G ดูซีรี่ย์ใน Netflix หรอกจริงไหม? Wi-Fi จึงเป็นทางเลือกที่เราทุกคนต่างรู้กันดี ไม่ว่าจะบ้าน ที่ทำงาน ร้านกาแฟ สนามบิน หรือไปที่ไหน ๆ ก็ยังมีสิ่งนี้ให้อุ่นใจได้เสมอ
Wi-Fi คืออะไร?
Wi-Fi(Wireless Fidelity) หรือ รูปแบบของระบบสื่อสารไร้สายที่ใช้สัญญาณวิทยุในคลื่นความถี่ต่าง ๆ เป็นตัวกลางในการติดต่อกันและกัน ซึ่งเป็นคลื่นสัญญาณที่ไม่ต้องมีการสัมปทานคลื่น(Unlicensed Band) หมายถึงใคร ๆ ก็สามารถใช้งานได้ ทว่าหากจะใช้สัญญาณในคลื่นใด ๆ ได้นั้น ต้องอยู่บนมาตรฐาน IEEE 802.11 ที่ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทั่วโลกจะยึดถือมาตรฐานนี้เป็นสากล ต่อมาในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) มีการจัดตั้งสมาคม Wi-Fi Alliance ขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับรองอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ Wi-Fi เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐาน IEEE 802.11 ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาตรฐานจะมีการระบุข้อความ Wi-Fi Certified ไว้บนผลิตภัณฑ์
Wi-Fi กับการเปลี่ยนชื่อให้จดจำง่ายขึ้น
เวลาได้ล่วงเลยมาหลายปีจนถึงปี ค.ศ. 2020 นี้ เราได้มี Wi-Fi รุ่นต่าง ๆ มากมายเหลือเกินที่ได้ถูกกำหนดออกมาโดยสถาบัน IEEE ไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi 802.11b, 802.11a, 802.11g, 802.11n, 802.11ac หรือ 802.11ax ซึ่งรหัสตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ลงท้ายจะบ่งบอกถึงรุ่นและเทคโนโลยีของ WI-FI นั้น ๆ
เมื่อทางสมาคม Wi-Fi Alliance เห็นว่าทาง IEEE ออกรหัสมาในแต่ละรุ่นที่ก่อให้เกิดความสับสนต่อผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก(ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น55+) ดังนั้นเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ซะเลย เริ่มที่ Wi-Fi 1 หรือ 802.11b, Wi-Fi 2 หรือ 802.11a, Wi-Fi 3 หรือ 802.11g, Wi-Fi 4 หรือ 802.11n, Wi-Fi 5 หรือ 802.11ac, และสุดท้ายล่าสุด Wi-Fi 6 หรือ 802.11ax สามารถดูจากรูปด้านล่างได้เลยครับ
ตารางแสดงการเปลี่ยนแปลงของ Wi-Fi แต่ละรุ่น อ้างอิงจาก www.router-switch.com
รู้หรือไม่ว่า Wi-Fi มี 2 ย่านความถี่ 2.4 Ghz และ 5 Ghz ในปัจุบัน ?
ภาพแสดงระยะสัญญาณทั้งสองคลื่นอางอิงจาก www.hardwarezone.com.sg
คลื่น 2.4 GHz และ 5 GHz บนมาตรฐาน IEEE 802.11 ถูกใช้งานในการรับ – ส่งข้อมูลมานานกว่า 20 ปี ซึ่งเราทุกคนต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่ทั้งสองคลื่นจะมีความแตกต่างกันในสองส่วนหลัก ๆ แบบคร่าวๆ ดังนี้
คลื่น 2.4 GHz มีระยะการส่งสัญญาณได้ไกล มีความสามารถทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางได้ดีกว่า แต่ความกว้างช่องสัญญาณน้อยเลยส่งข้อมูลได้ช้ากว่า
คลื่น 5 GHz มีระยะการส่งสัญญาณได้สั้น มีความสามารถทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางน้อย ความกว้างช่องสัญญาณกว้างกว่ามาก ทำให้สามารถรับ – ส่งข้อมูลได้เร็วกว่า
อย่างไรก็ตามทั้งสองคลื่นต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ผู้ผลิตเราเตอร์รุ่นใหม่ ๆ เลยจับทั้งสองคลื่นความถี่มาใส่รวมกันเพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลาย ทำให้มีสัญญาณครอบคลุม อีกทั้งยังรองรับอุปกรณ์ที่ใช้ Wi-Fi รุ่นเก่า ๆ ได้อีกด้วย เราเรียกเราเตอร์ประเภทนี้ว่า Dual-Band Router ครับ
การมาของ Wi-Fi 6 รุ่นล่าสุดนั้นดีอย่างไร ทำไมหลาย ๆ คนถึงกล่าวถึง?
ภาพอ้างอิงการพัฒนา Wi-Fi generation ต่าง ๆ จาก intel.com
จากสถิติการใช้งานอินเตอร์เน็ตของคนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน ในเดือนมิถุนายน 2010 ทั่วโลกมีคนใช้อินเทอร์เนตอยู่ที่ 1,966 ล้านคน คิดเป็น 23.7% ของประชากรโลก ทว่าหากเทียบกับปัจจุบันแล้วในเดือนมิถุนายน 2020 ทั่วโลกเรามีคนใช้อินเทอร์เนตอยู่ที่ 4,648 ล้านคน หรือคิดเป็น 59.6% ของประชากรโลกในปัจจุบัน (อ้างอิงข้อมูลจาก www.internetworldstats.com)
อีกทั้งพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตเราเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมากเรามีอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ ที่มีการเชื่อมโยงเข้ากับระบบอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมามากมายภายในบ้าน (ไม่ว่าจะเป็น CCTV, Google Home, Smart Temperature, Smart Cleaning Robot, Smart Light bulb, Smart Plant Sensor) ที่ต้องมีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา
ยุคนี้เป็นยุคแห่ง UGC (User Generated Content) ซึ่งเป็นยุคที่ผู้ใช้งานอย่างเราๆ สามารถผู้สร้างเนื้อหาส่งขึ้นไปยังระบบอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็น ตัวหนังสือ,เสียง,ภาพ,หรือวีดีโอ เผยแพร่ไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Youtube, Tik Tok, Twitch, Facebook, เป็นต้น
อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีเสมือนจริงอย่าง AR/VR ที่มีให้เห็นมากขึ้นทั้งในด้านการเเพทย์ทางไกล หรือวงการเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้กำลังมาตอบโจทย์ความล้ำสมัยที่ค่อย ๆ คืบคลานใกล้เข้ามาในทุกขณะ
เมื่อเกิดความต้องการเชื่อมต่อที่หลากหลายในหลายๆ อุปกรณ์ที่เพิ่มมากขึ้นแน่นอนว่า Wi-Fi 5 หรือ 802.11ac เดิมนั้น ไม่สามารถที่จะรับมือไหวในอนาคตอันใกล้นี้ จึงมีการสร้าง Wi-Fi 6 หรือ 802.11ax ขึ้นมา เพื่อเป็นการปูพรมไปสู่เทคโนโลยีแห่งอนาคต
สำหรับการปรับปรุงคุณสมบัติจาก Wi-Fi 5 เดิม มีดังนี้ครับ
คุณสมบัติของ Wi-Fi 6 อ้างอิงจาก www.dolcera.com
1. ความจุสัญญาณมากขึ้น รองรับการจัดการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลาย ๆ ตัวมากขึ้น ใช้งานในที่แออัดมาก ๆ ได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น หอประชุม, มหาวิทยาลัย, ในเมืองใหญ่, ห้างสรรพสินค้า, โกดังสินค้า เป็นต้น จากเดิมทีพื้นที่เหล่านี้จะไม่สามารถใช้งานได้เมื่อเกิดการแออัด
2. อัตราการส่งข้อมูลที่สูงขึ้น ในความเร็วระดับกิกกะบิตที่มีความเสถียรมากยิ่งขึ้น จึงสามารถรองรับการสตรีมคอนเทนต์ใหญ่ ๆ ได้ดีขึ้น(เราสามารถเห็นตัวเราเตอร์ที่เป็น Wi-Fi 6 ได้แล้ว แต่สำหรับอุปกรณ์ที่รองรับ Wi-Fi 6 ยังมีจำกัดอยู่ ยกตัวอย่างฝั่งสมาร์ทโฟน ยังมีแค่ Iphone 11 series, Iphone SE 2020, Samsung galaxy S10/Note10/Fold series, Huawei P40 Pro, LG V60 ThinQ, Motorola Edge Plus ) เป็นต้นครับ
3. Target wake time (TWT) โดยที่เราเตอร์จะสามารถตั้งเวลาได้ว่าจะให้พักการส่งข้อมูลตอนไหนและมีการส่งสัญญาณปลุกอุปกรณ์หากต้องการให้ส่งข้อมูล เพื่อช่วยให้อุปกรณ์ไม่ต้องส่งสัญญาณตลอดเวลาทำให้มีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ยาวนานขึ้นถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ (IoT)
4. เทคโนโลยีการรับ -ส่งข้อมูลแบบใหม่ ที่เรียกว่า OFDMA (Orthogonal Frequency Division Multiple Access) เพิ่มศักยภาพเครือข่ายโดยอนุญาตให้มีการรวมมัดข้อมูลหลาย ๆ อย่าง ที่แตกต่างกันแล้วส่งไปพร้อม ๆ กันซะเลยโดยไม่ต้องรอคิวช่องสัญญาณว่าง เช่น ส่งแชท, เปิดยูทูป, ส่งภาพ, เป็นต้น อีกทั้งเทคโลโลยี OFDMA จะสามารถแบ่งช่องสัญญาณใหญ่ ๆ ออกเป็นช่องย่อยๆ หลาย ๆ ช่องเพื่อเพิ่มความสามารถในการส่งข้อมูลหากมีการใช้งานในที่แออัด กล่าวคือเป็นการแบ่ง bandwidth ให้ทุกอุปกรณ์สามารถใช้งานได้
5. Wi-Fi 6 8×8 MU-MIMO พัฒนาต่อจาก Wi-Fi 5 เป็นการรับ - ส่งข้อมูลพร้อมกันสูงสุด 8 อุปกรณ์ได้ในเวลาเดียวกันทั้งขาดาวน์โหลด และ อัพโหลด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดข้อจำกัดคอขวดในระบบเครือข่ายไร้สาย
ในอนาคตเราจะก้าวไปอีกขั้นกับ Wi-Fi 6E ในร่าง Wi-Fi 6 เดิมแต่เพิ่มคลื่น 6 GHz เข้ามา!
ภาพอธิบายคุณสมบัตของ Wi-Fi 6E จาก www.wi-fi.org
อีกไม่นานจะมีการเพิ่มคลื่นความถี่ในย่าน 6 GHz สำหรับอนาคตมาใน Wi-Fi 6 บนเทคโนโลยี 802.11ax ตัวเดิม โดยทั้ง 3 ย่านความถี่ อย่าง 2.4 GHz, 5 Ghz และ 6 GHz จะถูกใช้งานใน Wi-Fi 6E ในรูปแบบ Tri-Band ส่งผลให้มีความกว้างช่องสัญญาณให้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม, ครอบคลุมพื้นที่ได้มากและกว้างยิ่งขึ้น, ลดปัญหาคลื่นรบกวนที่เกิดจากการทับซ้อนกันของสัญญาณ แน่นอนว่าการมาของยุค Internet of Things (IoT) หรือ VR/AR ก็จะใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้นครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้นคลื่นความถี่ในย่าน 6 GHz เพิ่งมีการอนุญาตให้ใช้งานเป็นคลื่นสาธารณะ(Unlicensed Band) ดังนั้นเราจึงอาจจะยังไม่เห็นอุปกรณ์ที่รองรับ Wi-Fi 6E เร็ว ๆ นี้แน่ๆ หากตอนนั้นมาถึงเมื่อไหร่จะมาอัพเดตอีกทีครับ
ถึงแม้ Wi-Fi 6 เป็นอะไรที่ใหม่และมีเราเตอร์วางขายมาสักพักช่วงปลายปี 2019 แล้ว แต่อาจจะไม่จำเป็นที่ผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเรา ๆ ที่จะต้องตามสมัยขนาดนั้นครับ แต่ถ้าหากอินเตอร์เน็ตที่ใช้อยู่เร็วเกิน 1 Gbit/s หล่ะก็ ถึงเวลาที่ต้องอัพเกรด Wi-Fi 6 แล้วหล่ะครับ 555+ อย่างไรก็ตามหากไม่จำเป็นไม่ต้องรีบค่อยๆ ศึกษาดีกว่าครับโผมมม
ขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบครับ ข้อมูลที่ผมตั้งใจถ่ายทอดมันอาจจะเข้าใจยากหน่อย ผมทำด้วยความตั้งใจ หากมีข้อมูลบกพร่องอย่างไร สามารถท้วงติงได้ครับ
…..Khon 1995
โฆษณา