17 ก.ค. 2020 เวลา 02:10 • ปรัชญา
ศีล เพศ สังคม (1)
ประเด็นแห่งศีล
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ศาสนาเปรียบเสมือนเส้นขนานของสังคม เพื่อบรรลุจุดสูงสุดของแห่งศาสนา การสืบพันธุ์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ เป็นภารกิจของสิ่งมีชีวิตเป็นไปตามฤดูกาล แต่มนุษย์ไม่มีฤดูกาลสำหรับการสืบพันธุ์ สิ่งมีชีวิตที่มีการสืบพันธุ์ได้มากครั้งบ่งบอกถึงอำนาจนำในฝูง การมีคู่ครองของมนุษย์เองก็แสดงถึงอำนาจ เครือข่าย สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมหญิงเป็นใหญ่ที่มีหลายผัว หรือสังคมชายเป็นใหญ่ที่มีหลายเมีย
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมณี แปลว่า เจตนางดเว้นการประพฤติผิดในกาม ผิดประเวณีทั้งหลาย แยกเป็น กาเมสุ แปลว่า เสพกาม, มิจฉา แปลว่า ไม่ถูก ไม่ชอบ, จารา แปลว่า จารีตประเพณี รวมความแล้วคือ การละเว้นการเสพกามที่ไม่ถูกต้องตามประเพณี นอกจากนั้น ยังมีความหมายอย่างสังเขปและพิสดารสำหรับฆราวาส และสมณเพศตามลำดับ โดยศีลข้อนี้มี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.ผู้ไม่ควรถึงการเสพกาม 20 จำพวก 2.จิตคิดจะเสพ 3.ความพยายามเสพกาม 4.พอใจ/ยอมให้มีการเสพกาม กรณีองค์ประกอบดังกล่าว ถ้าไม่ครบองค์ประกอบ ถือว่าศีลด่างพร้อยบกพร่องไม่สมบูรณ์ ซึ่งความหมาย องค์ประกอบ สามารถค้นหาได้ทั่วไป ผมขอไม่กล่าวถึง
เมื่อพิจารณาจากผู้ไม่ควรเสพกาม 20 จำพวก จะเหลือเพียง 4 จำพวกเท่านั้นเมื่อเสพกามไม่ขัดศีลข้อนี้ ได้แก่ ผู้ไม่มีคู้ครอง ผู้ไม่อยู่ในปกครอง ผู้ไม่มีจารีตห้าม ผู้ที่เป็นคู่ครองตนอยู่แล้ว ประเด็นที่ผมชวนคิดขบทบทวน คือ 1.มีคู่ครองอยู่แล้วสามารถเสกามกับคนโสดที่เขายินยอม และผู้ปกครองฝ่ายคนโสดยินยอมอนุญาต 2.ผู้ที่มีคู่ครองหลายคนแล้วเสพกามกันในบรรดาคู่ครองหลายนั้น 3.เมื่อไม่มีจารีตห้ามบุพการีเสพกามกับบุตรด้วยความยินยอม พอใจทั้งสองฝ่าย
ประเด็นแรก มีคู่ครองอยู่แล้วสามารถเสพกามกับคนโสดที่เขายินยอม และผู้ปกครองฝ่ายคนโสดยินยอมอนุญาต เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในสังคมโบราณส่วนใหญ่เป็นสังคมผัวเดียวหลายเมียทั้งชนชั้นสูงและชนชั้นล่าง โดยเฉพาะชนชั้นปกครองด้วยกรอบคิดของเลือดขัตติยะบริสุทธิ์บ้าง หรือขุนนางถวายตัวลูกสาวเพื่อความเจริญก้าวหน้าและสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมจะได้ดีขึ้น หรือชนชั้นล่างเองก็เป็นด้วยเหตุผลเพื่อจะได้ช่วยกันทำมาหากิน
ประเด็นที่สืบเนื่องต่อมาคือ การอยู่กินกันก่อนแต่งงาน ถ้านำหลักของศีลมาจับแล้ว ค่อนข้างก้ำกึ่งในแง่ของการผิดศีล ประเด็นผมมั่นใจว่าก็เป็นเพียง “ความจำเป็นที่ศีลต้องด่างพร้อย” เพราะในโลกความจริงการอยู่กินกันก่อนแต่งงานมีตั้งแต่โบราณและมีพลวัฒน์ในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลของการศึกษาเรียนรู้ เตรียมตัวการใช้ชีวิตคู่ ซึ่งในแง่จารีตค่านิยมทางสังคมเลื่อนไหลตลอดเวลา และการอยู่กินก่อนแต่งนี้ยากมากที่หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางเพศ ประเด็นคือคบกันเปิดเผยแบบที่ผู้พิทักษ์รักษาทั้งสองฝ่ายรับรู้หรือลักลอบคบกัน
โฆษณา