Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
•
ติดตาม
18 ก.ค. 2020 เวลา 00:20 • ประวัติศาสตร์
เดินมาถึงตอนที่ 6 แล้ว ในเรื่อง "คัมภีร์ใบลาน สืบสานพระธรรม"
ความเข้มข้นของเนื้อหายิ่งน่าค้นหา และน่าติดตามเช่นเดิม ส่วนว่าข้อมูลอันทรงคุณค่านี้ จะน่าสนใจเพียงใด เรามาติดตามกัน
ตอน "สมุดข่อย ล้ำศาสน์เลิศศิลป์"
บทกลอนพรรณนาถึงความงดงามของสมุดข่อย ที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสรรค์ด้วยความศรัทธาไว้เป็นมรดกของแผ่นดิน ทุกอักขระ เส้นสายและลายสีที่ปรากฏล้วนเปี่ยมไปด้วยความวิจิตรบรรจง ล้ำค่าในงานพระศาสน์และทรงคุณค่าด้วยความงามแห่งศิลป์ที่งดงามชิ้นหนึ่งของโลก เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจในวิจิตรศิลป์ไทยที่มีมาช้านาน
Cr : สมุดข่อย
สมุดข่อยเรียกอีกอย่างว่า สมุดไทย ฉบับเก่าแก่ที่สุดที่ยังปรากฏหลักฐานทางกายภาพ คือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สร้างในปี พ.ศ. 2223 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นสมุดไทยดำ เขียนด้วยหมึกสีเหลืองทำจากหรดาล
ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ เป็นเอกสารที่ล้ำค่าด้านประวัติศาสตร์ เนื้อหาบันทึกเหตุกาณ์ตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) จนถึงเหตุการณ์สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สันนิษฐานกันว่าบรรพชนไทยน่าจะรู้จักการนำเยื่อของต้นข่อยมาทำเป็นกระดาษเพื่อใช้บันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ที่สำคัญมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยาตอนกลาง ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งที่มองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส ที่เข้ามายังราชสำนักกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ในหนังสือราชอาณาจักรสยามตอนหนึ่งว่า
CR: http://1ab.in/GL
“ชาวสยามทำกระดาษจากผ้าฝ้ายเก่า ๆ และยังทำจากเปลือกต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อต้น ข่อย (Ton Coe) อีกด้วย ซึ่งต้องนำมาบดย่อยให้ละเอียด เช่นอย่างย่อยผ้าขี้ริ้ว แต่กระดาษเหล่านี้มีความหนาบางไม่สม่ำเสมอ ทั้งเนื้อกระดาษและความขาวผ่องก็หย่อนกว่าเรา…”
กระดาษสมุดข่อยทำจากเปลือกของต้นข่อยที่นำไปแช่น้ำให้เปื่อย ฉีกเป็นฝอย แล้วนึ่งให้สุก จากนั้นหมักด้วยน้ำปูนขาวจนเปลือกข่อยยุ่ย ทับไล่น้ำจนแห้งสนิทก่อนนำไปทุบให้ละเอียด จึงจะได้เยื่อข่อยที่สามารถนำไปหล่อขึ้นรูปเป็นกระดาษได้ นำไปตากให้แห้ง
CR: TruePlookpanya
ตามด้วยการทาด้วยแป้งเปียกผสมน้ำปูนขาว จะได้กระดาษสีขาวตามธรรมชาติ เรียกว่า ‘สมุดไทยขาว’ หากทาด้วยแป้งเปียกผสมเขม่าไฟหรือถ่านบดละเอียดจะได้กระดาษสีดำ เรียกว่า ‘สมุดไทยดำ’ เมื่อตากแดดจนแห้งสนิทแล้วจะได้กระดาษแผ่นใหญ่ นำกระดาษแต่ละแผ่นมาต่อกันด้วยแป้งเปียกจนเป็นแผ่นยาว พับทบกลับไปกลับมาเป็นเล่มสมุด เวลาเปิดต้องเปิดจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน
CR: TruePlookpanya
แต่เดิมสมุดไทยมีไว้สำหรับบันทึกหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ต่อมาจึงใช้บันทึกข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวิทยาการด้านต่างๆ ซึ่งบรรพบุรุษไทยสร้างสรรค์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
อุปกรณ์ที่ใช้เขียนบันทึกลงสมุดข่อยเป็นวัสดุจากธรรมชาติ ได้แก่ ปากไก่ ขนนก ดินสอและน้ำหมึก สำหรับสมุดไทยขาวจะเขียนด้วยน้ำหมึกสีดำที่ได้จากเขม่าไฟบดผสมกาวยางมะขวิด
ก่อนลงมือเขียนจะต้องขีดเส้นบรรทัดให้เป็นรอยโดยเว้นระยะช่องไฟให้เสมอกันตลอดทั้งเล่ม ส่วนใหญ่มี 3-4 บรรทัดต่อหน้า โดยเขียนอักษรใต้เส้นบรรทัด ไม่ได้เขียนเหนือเส้นบรรทัดอย่างปัจจุบัน
Cr : mps-center.in.th
หากเป็นสมุดไทยดำจะเขียนด้วยหินดินสอหรือน้ำหมึกขาวที่ได้จาก ดินสอพองหรือเปลือกหอยมุกฝนละเอียด นอกจากนี้ยังมีสีแดงจากชาด สีเหลืองจากยางไม้และหราดาล (หินแร่) และสีทองจากทองคำเปลวที่ใช้เขียนได้ทั้งสมุดไทยขาวและสมุดไทยดำ
สมุดไทยดำตำราพิชัยสงคราม ว่าด้วยการออกรบ , CR: วิวัฒน์การอ่านไทย
เนื่องจากสมุดไทยมีรูปลักษณ์ ขนาดกว้างยาว ความหนา และวัสดุที่นำมาเขียนหลากหลาย บางครั้งจึงเรียกสมุดไทยตามประโยชน์ใช้สอย ตัวอย่างการเรียกชื่อเล่มที่เกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาและใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น สมุดพระอภิธรรมบันทึกบทสวดพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ย่อ สำหรับพระภิกษุใช้สวดในงานศพ
สมุดไทยบันทึกพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ Cr : สมุดข่อย
สมุดสวดพระมาลัย บันทึกเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์ “มาลัยสูตร” เป็นพระสูตรนอกพระไตรปิฎก กล่าวถึงพระอรหันต์รูปหนึ่งที่มีฤทธิ์สามารถเดินทางไปนรก สวรรค์ และไปสนทนากับพระศรีอาริย์ได้ ในอดีตบทสวดพระมาลัยจะใช้สวดในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน แต่ต่อมาใช้สวดในงานศพ
สมุดไทยขาว เรื่องพระมาลัย ของวัดปากคลอง จ.เพชรบูรณ์ รูปแบบงานจิตรกรรมและตัวอักษรเป็นสกุลช่างที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยาโดยตรง Cr : สมุดข่อย
สมุดไตรภูมิพระร่วง บันทึกเรื่องราวนรกสวรรค์ ใช้สอนให้คนเข้าใจบาปบุญคุณโทษ หมั่นสร้างความดีและละเว้นจากการทำชั่ว สมุดไทยที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนานี้มักมีภาพจิตรกรรรมประกอบที่งดงาม แสดงถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานและความเคารพในพระรัตนตรัยของผู้สร้างถวาย
สมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวง สมัยธนบุรี กล่าวถึง อริยบุคคล 8 ประเภท Cr : สมุดข่อย
กว่าจะได้สมุดไทยสักเล่ม ต้องอาศัยความตั้งใจในการทำตั้งแต่การตัดเปลือกไม้มาทำกระดาษ การบันทึกเนื้อหาผ่านอักขระทุกตัว จนถึงการตกแต่งด้วยภาพประกอบประณีตศิลป์ไทย ก่อเกิดเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าทั้งทางสรรพศาสตร์ที่บันทึกสืบต่อกันมาหลายยุคสมัย และความงดงามของงานศิลป์ไทยที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แม้วันนี้เส้นอักษรและลวดลายของสีหมึกที่แต่งแต้มอาจจะซีดจางไปบ้างตามกาลเวลา แต่ความภาคภูมิใจในอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทยจะยังคงเด่นชัดไม่เปลี่ยนแปลง
เรียบเรียงจาก บทความ วารสารอยู่ในบุญ เรื่อง
สมุดไทย ใบลาน ... งานศาสน์งามศิลป์ ฉบับมิถุนายน 2557
สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์ ฉบับพฤศจิกายน 2559
อ้างอิง
บุญเตือน ศรีวรพจน์, ประสิทธิ์ แสงทับ. สมุดข่อย. กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2542
กลุ่มอนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน (MPSC)
โครงการพระไตรปิฎกวิชาการ (DTP)
2 บันทึก
46
6
21
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คัมภีร์ใบลาน สืบสานพระธรรม
2
46
6
21
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย