17 ก.ค. 2020 เวลา 07:24
จริงๆ ผมว่าเรื่องเกี่ยวกับของเขตอำนาจทางการทูตเนี่ย น่าจะมีคนเขียนไปเยอะละ ทั้งตัวทูตเอง หรือบุคคลที่มีความรู้ แต่ผมจะขอนำมาสรุปแบบภาษาชาวบ้านง่าย ๆ ให้เข้าใจก็แล้วกันครับ โดยที่ขอไม่อิงกับเคสใด ๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านะครับ เป็นลักษณะโดยทั่วไป และเป็นหลักตามทฤษฎีที่บัญญัติเอาไว้ ซึ่งเป็นขอบเขตอำนาจที่มี แต่จะใช้หรือไม่ใช้อำนาจนี้ก็ได้
.
ต้องยอมรับว่าสิทธิทางการทูตนั้น มีเยอะมากตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่แค่ทูตประเทศอื่น ๆ ที่ประจำประเทศไทย รวมทั้งทูตในประเทศไทยที่ไปประจำประเทศอื่นก็ได้สิทธิพิเศษนี้เหมือนกัน ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 (1961 Vienna Convention on Diplomatic Relations) ซึ่งทุกประเทศในโลกได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญานี้ และบางภูมิภาค หลักความคุ้มกันทางทูตมีประวัติศาสตร์ย้อนไปยาวนานนับพันปี
ถ้าเราละเมิดอนุสัญญา เช่น ปฏิเสธการเข้าประเทศของนักการทูตและครอบครัว เท่ากับเราละเมิดอนุสัญญากรุงเวียนนา หรือละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังนั้นกฎระเบียบใด ๆ ที่ออกมามันจึงต้องล้อกับกฎหมายระหว่างประเทศ เราจะไม่สามารถออกกฎได้เองไปมากกว่าที่ตกลงกัน ซึ่งมันไม่ได้มีแค่ข้อตกลงทางการทูต มันยังมีอีกหลายเรื่องมาก เพราะกฎหมายระหว่างประเทศให้ความคุ้มครองนักการทูตและครอบครัวต่างจากคนทั่วไป เพื่อความปลอดภัยของพวกเขาในขณะที่ทำงานและพำนักในต่างประเทศ หรือเรียกสั้นๆว่า "เอกสิทธิ์ทางการทูต (Privilege & Immunity)"
เอกสิทธิ์ทางการทูต คือ สิทธิประโยชน์และความคุ้มกันจากการถูกบังคับตามกฎหมายบางประเภทที่รัฐผู้รับให้แก่คณะผู้แทนทางทูตและตัวแทนทูต และเจ้าพนักงานกงสุล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลเหล่านี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เอกสิทธิ์และความคุ้มกันจะเริ่มตั้งแต่บุคคลนั้น ๆ เข้ามาในอาณาเขตของประเทศที่ส่งมาประจำการรับตำแหน่ง และคุ้มครองตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง และเมื่อการหน้าที่ของตัวแทนทางทูตสิ้นสุด หรือหมดวาระลง เอกสิทธิ์และความคุ้มกันจะสิ้นสุดลงเมื่อบุคคลเหล่านี้เดินทางออกไปจากประเทศที่เคยประจำการนั่นเอง
สำหรับตำแหน่งไหนได้รับเอกสิทธิ์นี้มีหลากหลายตำแหน่งตามลำดับชั้นดังนี้
🔸เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม
🔸อัครราชทูต
🔸อุปทูต
🔸อัครราชทูตที่ปรึกษา
🔸ที่ปรึกษา
🔸เลขานุการเอก
🔸เลขานุการโท
🔸เลขานุการตรี
🔸นายเวร
🔸กงสุลใหญ่
🔸กงสุล
🔸รองกงสุล
🔸กงสุลกิตติมศักดิ์
เนื่องจากความคุ้มกันทางทูต Diplomatic immunity เป็นข้อตกลงร่วมนานาชาติเป็นกฎหมายระหว่างประเทศและไม่สามารถที่จะแก้ไขได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงลำพัง จึงเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะแก้ไขเอง
หากนักการทูตทำผิดกฎหมายในประเทศนั้นๆ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในประเทศก็ไม่มีสิทธิจับกุม คุมขังใดๆ ได้ และต้องปฏิบัติต่อตัวแทนทางการทูตด้วยความเคารพตามเหมาะสม แถมยังต้องคุ้มครองป้องกันการประทุษร้ายใด ๆ ต่อตัวบุคคล เสรีภาพ หรือเกียรติของตัวแทนทางการทูต ดังนั้นตัวแทนทางการทูตจะถูกละเมิดมิได้ทั้งทางร่างกาย และเสรีภาพ
นอกจากนี้ตัวแทนทางทูตจะได้รับการคุ้มกันจากอำนาจศาลทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครองของประเทศนั้นๆ ในการถูกดำเนินคดี และการจะดำเนินการใด ๆ จะต้องได้ัรับการยินยอมจากสถานทูตประเทศต้นทาง
การลงโทษที่ร้ายแรงที่สุดที่ประเทศที่นักการทูตนั้น ๆ ประจำอยู่ทำได้เพียงแค่การขับทูตคนนั้นออกนอกประเทศซึ่งหมายถึงต้องตีตรา "Persona Non Grata" ไม่อนุญาตให้บุคคลนั่นกลับเข้ามาในประเทศอีก แต่นั่นถือเป็นเรื่องใหญ่มาก กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างรุนแรง เพราะการขับไล่ทูตออกจากประเทศ เท่ากับว่าเป็นการไล่บุคคลที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลประเทศนั้น แล้วก็ต้องเป็นเหตุผลที่มากเพียงพอที่จะกระทำด้วย
3
หลังจากนั้นก็ต้องไปตามแก้ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกันต่ออีกยก ซึ่งหนักกว่ามากและอาจใช้เวลานานหลายสิบปี
แต่ในความคุ้มครองนั้นมันก็มีข้อย้อนแย้งในตัวเองอยู่เหมือนกัน เพราะก็มีการระบุว่าตัวแทนทางทูตมีหน้าที่เคารพกฎหมายและข้อบังคับของประเทศนั้น และไม่แทรกสอดในกิจการภายใน ซึ่งในที่นี้ก็เพื่อเป็นการเคารพกฎหมายท้องถิ่นตามมารยาทในฐานะผู้พำนัก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อตัวเอง และต่อภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะตัวแทนรัฐบาล
1
นอกจากนี้ตัวแทนทางทูตไม่ต้องจ่ายภาษีทั้งหลายทั้งแหล่ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นหรือประเทศนั้นๆ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่บวกไปในราคาสินค้าและบริการ
แต่ต่อให้กฎหมายจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับมารยาทของตัวทูตด้วยว่า จะทำตามมาตรการของประเทศนั้น ๆ หรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ เพราะเอกสิทธิ์ของทูต และเจ้าหน้าที่สถานทูตนั้นค่อนข้างสูง และเป็นแบบนี้กับทุกประเทศไม่ใช่แค่กับประเทศไทย
ดังนั้นมันเป็นเรื่องของการเจรจาว่าจะทำอย่างไรไม่ให้การเดินทางเข้าออกของเจ้าหน้าที่รัฐจากต่างแดนที่มีเอกสิทธิ์ตรงนี้มากระทบต่อประชาชนในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาลละว่าจะมีน้ำยาเจรจาหรือเปล่า เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือออกระเบียบอะไรที่ขัดกับอนุสัญญาระหว่างประเทศได้
และถ้ามีคนบ้าๆ บอกว่างั้นก็ยกเลิกไปสิสัญญาอะไรเนี่ย เอาคนในประเทศปลอดภัย บอกเลยว่าใช่ อาจจะปลอดภัยแค่ตอนนี้ แต่หลังจากจบโควิดนั่นแหละคือปัญหา เพราะเราจะกลายเป็นประเทศที่ร้อยกว่าชาติบอยคอต ไม่คบค้าสมาคม ไม่ค้าขายด้วย ไม่ลงทุน ไม่มีการเจรจาใดๆ กลายเป็นประเทศโดดเดี่ยวของโลก มินำซ้ำอาจจะโดนกฎหมายระหว่างประเทศเล่นงานว่าเป็นประเทศที่ต้องการเป็นปฏิปักประชาคมต่อโลก นำมาซึ่งการก่อสงคราม การแทรกแซงทางการทหารจากมหาอำนาจ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลหรือเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนถูกปฎิเสธหรือมีมาตรการที่เข้มงวดในการเดินทางไปต่างประเทศ หรืองดออกวีซ่าให้ แบบที่ประเทศแถบเกาหลีเหนือ หรือตะวันออกกลางโดนๆ กันซึ่งมันเป็นไปได้ทั้งหมดนั่นแหละ
ดังนั้นเรื่องนี้รัฐบาลไทยนั่นแหละจะมีความสามารถในการเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อชี้แจงสิ่งที่ประเทศไทยกำลังทำในการควบคุมการแพร่ระบาดได้หรือไม่ท่ามทางกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบนี้ เพื่อให้เขาปฏิบัติตามกฎระเบียบในประเทศให้ได้มากที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วนักการทูตจากประเทศต่าง ๆ ที่ต้องเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละประเทศก็เข้าใจสถานการณ์และพร้อมทำตามอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องแจ้งให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะพวกเขาจะยึดถือตามหนังสือที่กระทรวงการต่างประเทศส่งไปยังสถานทูตต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นหลัก และถ้าแจ้งความประสงของประเทศอย่างชัดเจนว่าเรามีระเบียบแบบนี้ออกมาในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง เชื่อว่าเจ้าหน้าที่หรือนักการทูตเหล่านี้พร้อมเข้าใจโดยมารยาทอยู่แล้ว แต่แค่ต้องทำให้ชัดเจนเท่านั้นเอง
ล่าสุดก็เห็นมีมติว่าให้เจ้าหน้าที่ทูตทุกคนเข้า State Quarantine 14 วัน โดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศและคณะจะประชุมชี้แจงกับเจ้าหน้าที่และเอกอัครราชทูตต่างๆ ให้รับทราบและเห็นถึงแนวทางของประเทศไทยต่อเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องทำหนังสือชี้แจงไปยังสถานทูตต่างๆ ทั่วโลก
ที่สำคัญอีกอย่างคือ เจ้าหน้าที่สถานทูต สถานกงศุล หรือตัวทูตและกงศุลใหญ่เองต่างหากจะมีมารยาททางการทูตมากเพียงพอหรือไม่ เพราะเอาเข้าจริงเราห้ามเขาเข้าประเทศไม่ได้ด้วยประกาศทั้งปวง เพราะหลังจากนี้เท่าที่ฟังแถลงก็จะมีนักการทูตและเจ้าหน้าที่บินเข้ามาอีกเป็นระย ๆ ซึ่งก็น่าจะทราบระเบียบที่มีมติออกมาแล้วว่าจะต้องเข้า ASQ ที่กำหนดเอาไว้
นอกจากนี้มันยังมีกฎหมายอื่น ๆ ประกอบอีกมากมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับนักการทูต และเจ้าหน้าที่กงศุล เช่น อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ.​1963 อนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสหประชาชาติ ค.ศ.​1946 และอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ค.ศ.1947 ซึ่งมีขอบเขตอำนาจที่แตกต่างกันไป แตถ้าเขียนไปทั้งหมดเกรงว่าจะงงกันและเยอะมากเกินความจำเป็น โดยบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญานี้ จะมีสิทธิเหมือนกันก็คือในระหว่างปฎิบัติหน้าที่ ประเทศที่ตัวเองไปประจำการหรือไปประชุม จะถูกกักกันตัว (Detention) ไม่ได้ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ซึ่งหลักกฎหมายนี้เป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (Customary International Law) ที่ถูกนำมาบัญญัติเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร และประเทศไทยก็ให้สัตยาบันไว้ในทั้ง 4 อนุสัญญานี้
พอมันมีกฎหมายพวกนี้ค้ำคออยู่ บุคคลที่มีเอกสิทธิ์เหล่านี้เลยไม่ต้องเข้า ASQ ในลักษณะที่เป็นการ "บังคับ" อาจสุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่าเป็น "การกักกัน" (Detention) ซึ่งเท่ากับละเมิดพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ แม้ว่าจะเป็นมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อการป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงก็ตาม
สุดท้าย สิ่งที่รัฐทำได้คือมองมาที่กฎหมายของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญที่เรามีแล้วดูว่าเราทำอะไรได้บ้าง เพราะตามกฎหมายแล้ว "รัฐต้องดําเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ซึ่งครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรค" ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 55 ทำให้สิ่งที่เป็นมติ ศบค.ที่ออกมาว่า ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ทูต ตัวแทนการทูตและกงศุลเข้า ASQ 14 วัน โดยอาจใช้คำเลี่ยงว่าเป็นการ "ขอความร่วมมือ" ไม่ใช่คำว่า "ต้องทำ" เพราะยังไงก็บังคับเขาไม่ได้ แต่สามารถเจรจาและชี้แจงเพื่อขอได้ ซึ่งถ้าชัดเจนแบบนี้อย่างไรเสียนักการทูตก็เข้าใจ เพราะเอาเข้าจริง ๆ นักการทูตจากประเทศต่าง ๆ อยากกลับเข้าไทยกัน เพราะอยู่เมืองไทยค่อนข้างปลอดภัยนั่นเอง
ดังนั้นสรุปว่า
🔸เจ้าหน้าทูต หรือตัวแทนการทูต มีอภิสิทธิ์เหนือบุคคลทั่วไป ไม่ใช่แค่กับประเทศไทย แต่กับทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งตัวแทนการทูตไทยในต่างประเทศด้วย
🔸ไม่สามารถห้ามทูตเดินทางเข้าประเทศได้ แต่เมื่อมาแล้วก็ปฎิบัติตามระเบียบ
🔸ตัวแทนทางการทูตทำผิดกฎหมายในประเทศนั้นได้ไม่โดนจับกุมดำเนินคดี และไม่ต้องขึ้นศาลใด ๆ ทั้งแพ่งและอาญา แต่สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับมารยาททางการทูตด้วย เพราะการไปอยู่ที่ไหนทำตามกฎของเขาไว้ก็ไม่ได้เสียหาย แถมเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะตัวแทน ว่าให้ความเคารพกฎแห่งสังคมนั้น ๆ
🔸ที่สำคัญไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ขึ้นอยู่กับมารยาทของตัวแทนทูตเองในฐานะที่เป็นคนๆ หนึ่งนั่นแหละ
1
โฆษณา