17 ก.ค. 2020 เวลา 09:49
โปรดอย่าเรียกแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดว่า “แมนยู”
บายไลน์ : Ploy Honisz
ทีมฟุตบอลหลายทีมล้วนมีชื่อเล่น หรือชื่อย่อ แฟนบอลไทยเรียกลิเวอร์พูลว่าหงส์แดง แต่ที่อังกฤษเรียกว่า เดอะ เรดส์ เรารู้จักเอฟเวอร์ตันในชื่อท็อฟฟี่สีน้ำเงิน แต่ละแวกกูดิสันพาร์คเรียกว่า เดอะ บลูส์ ด้านแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เราเรียกย่อๆ ว่า แมนซิตี้ แต่สื่อแดนผู้ดีเรียกว่า ซิตี้ สำหรับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บ้านเราเรียกจนติดปากว่า “แมนยู” แต่เคยสังเกตไหมว่า นักข่าวที่อังกฤษไม่เคยเรียกทีมปีศาจแดงว่า แมนยู ส่วนใหญ่ถ้าจะเรียกชื่อย่อ ก็จะเป็น แมนยูไนเต็ด หรือยูไนเต็ด ทำไมเป็นจึงอย่างนั้น เรื่องนี้มีที่มาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าจดจำในวงการฟุตบอล
ตามธรรมเนียมเวลาแฟนบอลไปดูเกมในสนาม พวกเขาจะร้องเพลงเชียร์ทั้งเพลงประจำทีม เพลงของนักฟุตบอล หรือเพลงเย้ยหยันฝ่ายตรงข้าม ซึ่งบางครั้งมีเนื้อหาเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะการนำโศกนาฏกรรมของแต่ละสโมสรมาล้อเลียน เช่น ทีมลิเวอร์พูลเมื่อลงสนามแข่งขัน จะตกเป็นเป้าของแฟนทีมคู่แข่งที่ร้องเพลงเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมที่ฮิลล์สโบโรห์ ในเกมเอฟเอคัพ รอบรองชนะเลิศระหว่างหงส์แดงกับน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ เมื่อปี 1989 ซึ่งมีแฟนบอลลิเวอร์พูลเสียชีวิต 96 คน หรือเหตุการณ์ในเกมรอบชิงชนะเลิศยูโรเปี้ยน คัพ ปี 1985 ที่เฮย์เซล ซึ่งแฟนบอลลิเวอร์พูลมีส่วนทำให้แฟนบอลยูเวนตุส 39 คนเสียชีวิต
ส่วนที่มาของคำต้องห้าม “แมนยู” ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 เครื่องบินของสายการบิน British European Airways เที่ยวบินที่ 609 ประสบอุบัติเหตุตกหลังจากความพยายามบินขึ้นครั้งที่ 3 ที่สนามบินมิวนิค เยอรมนีตะวันตกในตอนนั้น ซึ่งผู้โดยสารส่วนหนึ่งเป็นนักฟุตบอลทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดชุดบัสบี้เบบส์ (Busby Babes) พร้อมด้วยแฟนบอลและนักข่าว ผู้โดยสาร 20 คนจากทั้งหมด 44 คนเสียชีวิตทันที และอีก 3 คนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล โดยจำนวนนั้นเป็นผู้เล่นของปีศาจแดง 8 คนและทีมงาน 3 คน เป็นเหตุการณ์น่าเศร้าของวงการฟุตบอล แต่แฟนบอลคู่แข่งกลับนำเรื่องดังกล่าวมาล้อเลียนผ่านบทเพลง
คำว่า “แมนยู” เกิดขึ้นครั้งแรกจากกองเชียร์ของเวสต์บรอมวิช อัลเบียน ร้องเพลงเกี่ยวกับ ดันแคน เอ็ดเวิร์ด หนึ่งในผู้เล่นของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดที่อยู่ในเหตุการณ์เครื่องบินตก แล้วเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 15 วันให้หลัง โดยเนื้อเพลงร้องว่า “Duncan Edwards is manure, rotting in his grave, man you are manure-rotting in your grave” ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาไทยก็ได้ความทำนองว่า ดันแคน เอ็ดเวิร์ด กลายเป็นปุ๋ย เน่าอยู่ในหลุมศพตัวเอง สังเกตว่ามีการเล่นคำ manure ซึ่งถ้าตัด re ออกคือ man u และใช้คำพ้องเสียงในเพลงว่า man you
หลังจากนั้นแฟนลิเวอร์พูลและลีดส์ ยูไนเต็ด ก็นำเหตุการณ์เครื่องบินตกมาล้อต่อ โดยมีเนื้อเพลงว่า “Man U Man U went on a plane Man U Man U never came back again” ที่แปลว่า “แมนยู แมนยูขึ้นเครื่องบิน แมนยู แมนยูไม่เคยได้กลับมา” และจบลงว่า “Man U Never Intended Coming Home” ที่แปลว่า แมนยูไม่เคยตั้งใจกลับบ้าน แต่สิ่งที่ซ่อนลึกอยู่ในประโยคนี้คือ เมื่อนำอักษรตัวแรกของแต่ละคำมาเรียงต่อกันจะได้คำว่า M-U-N-I-C-H หรือมิวนิค สถานที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว
ชื่อ “แมนยู” จึงไม่ได้ย่อมาจากคำว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตามที่เราเข้าใจ ไม่ได้มาจากชื่อที่แฟนปีศาจแดงเรียกทีมตัวเอง และใจความที่ซ่อนอยู่ก็มีความหมายมืดหม่นกว่าที่เรารับรู้มาตลอด เราเชื่อว่าแม้จะยืนอยู่กันคนละฝั่งอัฒจรรย์ในสนามแข่งขัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเอาเรื่องเศร้าของอีกฝ่ายมาล้อเลียน ทุกวันนี้การร้องเพลงเชียร์ที่หยิบเอาชีวิตคนมาเย้ยหยัน มักถูกประนามเสมอๆ บนโลกโซเชียลมีเดีย แต่ก็ยังคงมีให้ได้ยินบ้างประปราย
รู้อย่างนี้แล้ว คุณยังจะเรียกแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดว่า “แมนยู” อีกไหม
#ฟุตบอล #พรีเมียร์ลีก #MUFC #ปีศาจแดง #KhelNowThailand
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร
พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Khel Now Thailand 🇹🇭

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา